สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา แนวโน้ม และเป้าหมายการส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 26, 2013 14:58 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. การนำเข้าของสหรัฐฯ (มกราคม-พฤษภาคม 2556)

สหรัฐฯนำเข้าจากทั่วโลกมูลค่า 923,906.08 ล้านเหรียญฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ร้อยละ 1.76 และนำเข้าจากไทยมูลค่า 10,518.42 ล้านเหรียญฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ร้อยละ 0.29

สหรัฐฯนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 19 ของการนำเข้า โดยคิดเป็นสัดส่วนการนำเข้า 1.14% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้า 1.12%

2. การส่งออกของสหรัฐฯ (มกราคม-พฤษภาคม 2556)

สหรัฐฯส่งออกไปทั่วโลกมูลค่า 646,019.35 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ร้อยละ 0.87 และส่งออกไปไทยมูลค่า 5,069.13 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ร้อยละ 19.19

สหรัฐฯส่งออกไปไทยเป็นอันดับที่ 27 ของการส่งออก โดยคิดเป็นสัดส่วนการส่งออก 0.78% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออก 0.66%

3. ดุลการค้าของสหรัฐฯ (มกราคม-พฤษภาคม 2556)

สหรัฐฯขาดดุลการค้ารวมมูลค่า 277,886.74 ล้านเหรียญฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ร้อยละ 7.39 และขาดดุลการค้ากับไทยมูลค่า 5,449.29 ล้านเหรียญฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ร้อยละ 13.44

สถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐอเมริกา

1. Real GDP

จากการวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุด (เดือนกรกฏาคม) ของ the Bureau of Economic Analysis ได้มีการปรับแก้ข้อมูล Real GDP เป็นครั้งที่ 3 จากเดิมที่เคยได้มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ในครั้งแรก คือ ร้อยละ 2.5 ต่อมามีการได้มีการปรับแก้ในครั้งที่ 2 โดยอ้างอิงจากข้อมูลการใช้จ่ายของปี 2555 คือ ร้อยละ 2.4 และล่าสุดเป็นการปรับแก้ครั้งที่ 3 มูลค่า GDP ของปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.8

2. อัตราเงินเฟ้อ

The Bureau of Labor Statistics (BLS) ได้รายงานเมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม 2556 ว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกานั้นอยู่ที่ร้อยละ 1.8

ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) ในเดือนมิถุนายน 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์และดีกว่าเดือนที่ผ่านมาถึงร้อยละ 0.1 ปัจจัยที่ช่วยเพิ่มอัตราเงินเฟ้อนั้นส่วนใหญ่มาจากเบนซิน โดยในเดือนมิถุนายนราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.3 นอกจากนี้แล้วการปรับตัวในสินค้าอาหาร ที่พัก เสื้อผ้าและรถยนต์รุ่นใหม่ต่างก็มีส่วนทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น

3. อัตราการว่างงาน

ในเดือนมิถุนายน 2556 อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) อยู่ที่ระดับร้อยละ 7.6 โดยอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานเป็นจำนวนมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมท่องเที่ยงและโรงแรม อุตสาหกรรมธุรกิจบริการ อุตสาหกรรมค้าปลีก อุตสาหกรรมสุขภาพและบริการและอุตสากรรมที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางการเงิน

ข้อสังเกตุ: จำนวนแรงงาน Part-time ในเดือนมิถุนายนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 8.2 ล้านคน ในขณะที่เดือนมีนาคมอยู่ที่ 7.6 ล้านคน ซึ่งเป็นผลพวงจากกฎหมายประกันสุขภาพที่จะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า จึงส่งผลให้เกิดแรงงาน Part-time เป็นจำนวนมากอย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงแล้วพนักงงานเหล่านั้นยังคงต้องการทำงานแบบเต็มเวลา (Full-time) มากกว่าแต่นายจ้างก็ไม่สามารถให้งานแบบเต็มเวลาได้ (Full-time) กฎหมาย Affordable Care Act เป็นสิ่งล่อใจให้นายจ้างว่าจ้างแรงงานแบบ Part-Time แทนที่จะต้องจ้างแรงงานแบบ Full-time เพื่อที่นายจ้างจะได้ไม่ต้องถูกบังคับให้เสนอประกันสุขภาพให้กับแรงงานแบบ Full-time จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมนายจ้างถึงได้เปิดตำแหน่งชั่วคราวหรือตำแหน่ง Part-time กันมากขึ้น

4. ปัญหาและอุปสรรคทางเศรษฐกิจ

4.1. เพดานหนี้ (Debt Ceiling)

การเจรจาข้อตกลงประนีประนอมงบประมาณการคลังครั้งใหม่กำลังจะมีขึ้นในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ แต่ทว่าฝ่ายรีพับลิกันก็ยังคงเป็นปฏิปักษ์อยู่จึงทำให้การขอปรับเพดานหนี้เป็นไปโดยลำบาก นอกจากนี้แล้ว นายจอห์น โบห์เนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกัน ก็ได้ออกมาแถลงข่าวในวันที่ 23 กรกฏาคม 2556 ว่าจะไม่มีการปรับเพิ่มเพดานหนี้ โดยที่ไม่มีการตัดลดงบประมาณรายจ่ายอย่างแท้จริง เพื่อเตรียมการรับมือกับเรื่องดังกล่าวประธานาธิบดีโอบามาจึงได้เริ่มออกเดินสายขอเสียงสนับสนุนจากประชาชนเกี่ยวกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของตน ซึ่งการเดินทางจะเริ่มต้นในสัปดาห์นี้ ปัจจุบันสหรัฐอเมริกากู้ยืมเงินจนถึงเพดานหนี้แล้ว คือ 16.394 พันพันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่สามารถเพิ่มเพดานหนี้ดังกล่าวได้แล้ว สุดท้ายกระทรวงการคลังจะไม่มีเงินมาชำระหนี้และต้องเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งหมายถึงหายนะแท้จริงที่จะเกิดกับตลาดการเงินอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ในอดีตที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้านจะใช้เรื่องการปรับเพดานหนี้เป็นเครื่องมือต่อรองในการให้ฝ่ายรัฐบาลประนีประนอมในกฏหมายฉบับอื่นตามความต้องการ แต่เมื่อถึงใกล้กำหนด deadline ทุกครั้ง ทั้งสองฝ่ายก็จะหาทางออกได้ในที่สุด

4.2. การตัดลดงบประมาณ (Spending Cut)

ตั้งแต่ที่การตัดลดงบประมาณในทุกภาคส่วนแบบอัตโนมัติได้เริ่มขึ้นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ว่าการฟื้นฟูก็ยังคงดำเนินต่อไปไม่ได้หยุดชะงักทันทีตามที่หลายฝ่ายกังวล แต่ถึงกระนั้นการตัดลดงบประมาณในทุกภาคส่วนนั้นได้เริ่มส่งผลกระทบกับบางอุตสาหกรรมแล้ว

หน่วยงานหลายๆ แห่งได้มีการตัดลดวันทำงานพนักงานแทนการปลดออก ในเดือนที่ผ่านมาตัวเลขพนักงาน Part-time ที่ทำงานให้กับรัฐบาลมีจำนวนมากขึ้น ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบจำนวนพนักงานแบบ Parttime ของเดือนมิถุนายน 2012 และ 2011 พบว่ามีจำนวนพนักงานแบบ Part-time มีจำนวน 58,000 รายและ 55,000 ราย ตามลำดับ ซึ่งตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นกับพนักงานของรัฐบาลกลางเท่านั้น แต่ว่ายังมีแรงงานจำนวนมากในภาคเอกชนที่ยังต้องพึ่งพิงการจ้างงานและค่าจ้างจากรัฐบาลอีกเป็นจำนวนมากเช่นกัน อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานกลาโหม เช่น โรงงานผลิตเครื่องบินและอะไหล่ อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ ได้มีการปลดพนักงานออกเช่นกัน

4.3. นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ (Stimulus Program)

ในสัปดาห์ที่ผ่านมานายเบน เบอร์นาเก้ ประธานเฟด ได้ออกมาแถลงการณ์เกี่ยวกับแผนการปรับลดเงินอัดฉัดเข้าสู่ตลาดเงิน ซึ่งคาดว่าอาจจะเริ่มลดอัตราความเร็วของการซื้อหลักทรัพย์และพันธบัตรในปีนี้ หรืออาจจะไม่ ซึ่งยังไม่ได้มีการเปิดเผยแน่ชัดเกี่ยวกับการตัดสินใจนัก ทำให้นักลงทุนยังชะลอท่าทีในการลงทุน ส่งผลให้ดัชนีหลักทรัพย์เกิดการชะลอตัว

เดิมทีธนาคารกลางซื้อหลักทรัพย์จำนอง (mortgage backed securities) และพันธบัตร (Treasury Securities) จำนวน 85 พันล้านเหรียญสหรัฐ/เดือน และมีการตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นให้ใกล้เคียงกับศูนย์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน

นับตั้งแต่การซื้อพันธบัตรครั้งล่าสุดของ Fed อัตราการว่างงานได้ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยอัตราการว่างงานในเดือนมิถุนายน อยู่ที่ร้อยละ 7.6 ลดลงจากเดือนกันยายน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.8 อันที่จริงแล้วสาเหตุของการลดลงของอัตราว่างงานนั้นมาจากการที่แรงงานเลิกที่จะมองหางานทำ จึงทำให้สัดส่วนของชาวอเมริกันที่มีงานทำไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยในรอบสามปี นอกจากนี้แล้ว การใช้นโยบายการเงินแบบเหยี่ยว (hawkish monetary policy) หรือการดูดเงินออกจากระบบในช่วงเวลาที่การเจริญเติบโตยังไม่ดีมากนัก อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงและทำให้ตลาดมีความเสี่ยงมากขึ้น

แนวโน้ม

1. การตัดลดงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐ แม้ยังไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรมากในช่วงนี้ แต่ในอนาคตอีก 8-12 เดือน อาจจะเริ่มปรากฏผลเสียขึ้น แรงงานภาครัฐและแรงงานที่พึ่งพิงการจ้างงานในโครงการของรัฐจะขาดรายได้ ทำให้ต้องเริ่มลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง

2. เมื่อผู้บริโภคชาวสหรัฐถูกกดดันทั้งในเรื่องการจ้างงาน ค่าแรงที่ไม่เพิ่มขึ้นและภาษีเงินเดือนที่สูงขึ้น อาจส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกังวลที่จะใช้จ่าย และอาจจะส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าในภาพรวมต่อไป

เป้าหมายการส่งออก

สหรัฐอเมริกา ตั้งเป้าปี 2556 ไว้ร้อยละ 5 ตามที่ประชุมหัวหน้าสคร. เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในขณะนี้เห็นควรยืนยันเป้าเดิมคือ ร้อยละ 5 เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ พยายามทุกวิถีทางที่จะแก้ปัญหาการว่างงานและกระตุ้นการบริโภคของประชาชน ซึ่งจะทำให้การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศกลับมาอยู่ในแดนบวกอีก และอีก 6 เดือนที่เหลือสำนักงานส่งเสริมการค้าในสหรัฐอเมริกาจะเร่งทำการบุกตลาดในเชิงรุก โดยอาศัยกลยุทธ์ตลาดเล็กในตลาดใหญ่ (Regional Market) และตลาดใหม่ในตลาดเก่า (Niche Market) เพื่อส่งเสริมยอดการนำเข้าสินค้าสำคัญโดยเฉพาะสินค้าอาหาร อัญมณีและเครื่องประดับ ตลอดจนแฟชั่น ซึ่งเป็นสินค้าที่ตลาดให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก

25 กรกฎาคม 2556


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ