ตลาดข้าวของอิสราเอล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 31, 2013 14:40 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อิสราเอลเป็นประเทศที่นิยมการบริโภคข้าว ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิ ข้าวบาสมาติ ข้าวเมล็ดยาว ข้าวเมล็ดกลม อิสราเอลไม่มีการปลูกข้าวในประเทศ จึงต้องนำเข้าข้าวทั้งหมด ข้าวจะเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันสูงและคนอิสราเอลจะบริโภคแต่ข้าวคุณภาพดีเป็นส่วนใหญ่

การบริโภคข้าวของประเทศอิสราเอล จะเป็นคนอิสราเอลและคนเอเชียจะบริโภคข้าวหอมมะลิคนอาหรับจะบริโภคข้าวบาสมาติและข้าวเมล็ดยาว คนอิสราเอลจะรู้จักข้าวไทยในนาม "Jasmin rice" มากกว่า "ข้าวหอมมะลิไทย"

1. การนำเข้าข้าว

อิสราเอลมีการนำเข้าข้าวเฉลี่ยปีละ 103,000 ตัน โดยเป็นการนำเข้าข้าวขาว 100% และข้าวหอมมะลิ ประมาณ 95-98 ของมูลค่าและปริมาณ ส่วนข้าวชนิดอื่นมีการนำเข้าโดยเล็กน้อย

ในการนำเข้าข้าวขาว 100% และข้าวหอมมะลินั้น อิสราเอลมีการนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 1 มาโดยตลอด ในปี 2012 มีมูลค่าการนำเข้าจากไทย 43.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2011 ร้อยละ 3.7 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 46.1 และมีปริมาณการนำเข้า 61,746 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2011 ร้อยละ 34.1 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 49.1

อันดับ 2 เป็นการนำเข้าข้าวจากออสเตรเลีย มีมูลค่า 25.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 6.4 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 26.7 และมีปริมาณการนำเข้า 31,776 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.2 โดยมีสัดส่วน ร้อยละ 25.2

อันดับ 3 เป็นการนำเข้าจากอินเดีย ซึ่งเป็นการนำเข้าข้าวบาสมาติ เป็นส่วนใหญ่ มีมูลค่าการนำเข้า 10.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 37.7 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 11.6 และปริมาณนำเข้า 11.0 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 94.3 จากที่เคยนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 4-5 ตัน เนื่องจากในปีที่ผ่านมา อินเดียได้ลดราคาข้าวบาสมาติลง ทำให้ผู้นำเข้าไปเพิ่มการนำเข้าข้าวบาสมาติแทน

2. การส่งออก

การส่งออกข้าวของอิสราเอล จะมีเพียงเล็กน้อย เนื่องจากไม่ได้มีการผลิตในประเทศ จะเป็นการ re-export ออกไป

3. กฎระเบียบในการนำเข้า

3.1. ภาษีการนำเข้าข้าวได้รับการยกเว้น ภาษีศุลกากร และภาษีซื้อ (Purchase tax)

3.2. กฎระเบียบด้านสุขอนามัย ผู้นำเข้าต้องไปขอเป็นผู้อนุญาตนำเข้าจากกระทรวงสาธารณสุข และต้องนำตัวอย่างพร้อมผลการตรวจตามมาตรฐานจากผู้ส่งออกไปให้กระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลตรวจก่อนนำเข้าในครั้งแรกก่อน และกระทรวงสาธารณสุขจะมีการตรวจสินค้าทุกครั้งในการนำเข้า

3.3. ฉลาก ต้องติดฉลากเป็นภาษาฮิบรู ต้องมีรายละเอียดสินค้า ประเทศที่ผลิต วันที่ผลิต ที่อยู่ของผู้ผลิตและผู้นำเข้า

3.4. เครื่องหมายโคเชอร์ ตามศาสนาจูได โดยส่วนใหญ่ผู้นำเข้าข้าวไทยจะขอใบรับรองเครื่องหมายโคเชอร์ เนื่องจากจะขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตได้ เพราะคนยิวจะบริโภคข้าวด้วย

4. ช่องทางการตลาด

การนำเข้าข้าวของอิสราเอลนั้น ประมาณร้อยละ 95 เป็นการนำเข้าโดยผู้นำเข้าโดยตรง และอีกร้อยละ 5 เป็นการนำเข้าผ่านตัวแทน ในการนำเข้ามีการนำเข้ามาเป็น Bulk และมาแบ่งบรรจุถุงละ 1 กิโลกรัม จำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ต สำหรับการนำเข้าข้าวที่มีเครื่องหมายรับรอง "Thai Hom Mali Rice" มีทั้งการนำเข้าถุงละ 1 กิโลกรัม และ 5 กิโลกรัม แต่ส่วนใหญ่จะเป็น 5 กิโลกรัมมากกว่า และบางส่วนจะเป็นถุงละ 25 กิโลกรัม

ด้านการจำหน่ายในประเทศ ร้อยละ 70 จะจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตเชน (chain) ทั่วไป รวมทั้งร้านขายของเอเชีย อีกร้อยละ 30 จะส่งภัตตาคารและโรงแรม

5. ราคาจำหน่าย

ราคาข้าวจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต ถุงละ 5 กิโลกรัม มีเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย มีราคา 30-40 เชคเกล(ประมาณ 246 - 328 บาท) ข้าวที่ไม่มีตรารับรอง มีราคาประมาณ 25-30 เชคเกล (ประมาณ 205 - 246 บาท)

ราคาข้าวจำหน่ายถุงละ 1 กิโลกรัม มีเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย ราคากิโลกรัม 11.2 เชคเกล (ประมาณ 92 บาท) ข้าวที่ไม่มีตรารับรองข้าวหอมมะลิไทย มีราคาประมาณ 8 -10 เชคเกล (ประมาณ 64 - 82 บาท)

โดยสรุป ข้าวหอมมะลิไทยยังเป็นที่นิยมในตลาด ซึ่งคนอิสราเอลนิยมบริโภคข้าวมีคุณภาพดี ผู้ส่งออกต้องพยายามรักษาคุณภาพข้าวไทยให้ได้ตามมาตรฐาน โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิไทย เพื่อไม่ให้สูญเสียตลาดไป

สคร ณ กรุงเทลอาวีฟ

กรกฎาคม 2556


แท็ก อิสราเอล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ