ตลาดผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุขในสเปน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 18, 2009 14:14 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ข้อมูลพื้นฐานทั่วไป

องค์กรด้านการปกครองและบริหารของแต่ละแคว้นอิสระจำนวน 17 แคว้นของสเปนเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเรื่องสาธารณสุขในท้องถิ่นของตน ขณะนี้กระทรวงสาธารสุขมีหน้าที่เป็นเพียงตัวกลางประสานงานระหว่างแคว้นต่างๆและเป็นผู้ร่างกฎหมายพื้นฐานด้านสาธารณสุข ในขณะที่ความต้องการของแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกันและมีการกระจายอำนาจการบริหารออกไปแล้วนั้น รัฐบาลกลางเหลือบทบาทเพียงกำหนดข้อกฎหมายใหญ่เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการเชื่อมโยงประสานงานและคุณภาพด้านสาธารณสุขในภาพรวมสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประชากรของสเปนจำนวน 45.3 ล้านคนกำลังเคลื่อนไปสู่สังคมสูงอายุ ร้อยละ 16.6 ของประชากรมีอายุเกินกว่า 65 ปี และร้อยละ 4.6 มีอายุเกินกว่า 80 ปี สำนักงานสถิติ Eurostat พยากรณ์ว่าร้อยละ 24.8 (หรือประมาณ 1 ใน 4) ของประชากรชาวสเปนทั้งสิ้นจะมีอายุเกินกว่า 65 ปี ในปี พ.ศ. 2578 ทั้งนี้ ชาวสเปนถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีอายุยืนเฉลี่ยสูงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

จากสาเหตุที่ประชากรกำลังก้าวไปสู่สังคมสูงอายุ กอปรกับการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของคนต่างชาติจำนวนมาก ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขปรับตัวสูงขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.4 ของ GDP ในปี 2549 และในปี 2550 คิดเป็นมูลค่า 52.7 พันล้านยูโร โดยในปี 2551 มูลค่าจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 1

ในแง่ของการบริโภคอุปกรณ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ต่างๆสูงที่สุด สเปนจัดอยู่ในลำดับที่ 9 ของโลก โดยนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 38

ในสเปน มีจำนวนโรงพยาบาลทั้งสิ้น 711 แห่ง หรือคิดเป็น 157,080 เตียง แบ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชน 372 แห่ง และโรงพยาบาลของรัฐ 339 แห่ง ประมาณร้อยละ 16 ของประชากรใช้บริการจากภาคเอกชน

ในอุตสาหกรรมด้านเภสัชกรรม สเปนมีร้านขายยาทั้งสิ้น 20,713 แห่ง โดยเฉลี่ยประมาณ 1 แห่งต่อประชากร 2,182 คน จัดอยู่ในลำดับที่ 3 ของยุโรปที่มีจำนวนร้านขายยามากที่สุด ตามหลังจากกรีซและเบลเยี่ยม แต่ถ้าหากวัดจากยอดจำหน่ายผ่านร้านค้ายาแบบขายปลีกแล้ว ในเดือนพฤษภาคมปี 2551 สเปนอยู่ในลำดับที่ 5 คิดเป็นมูลค่า 14.8 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากปีที่ผ่านมา อนึ่ง สัดส่วนร้อยละ 96.2 ของมูลค่าดังกล่าวมาจากการซื้อยาตามใบสั่งแพทย์

ผลของการเจริญเติบโตของระบบสาธารณสุขทำให้ค่าใช้จ่ายในการซื้อยาตามใบสั่งแพทย์เพิ่มขึ้นไปด้วยร้อยละ 12 ในช่วงระหว่างปี 2548-2551 โดยมีมูลค่า 11.25 พันล้านยูโร ณ เดือนมกราคม 2551 แคว้น Andaluc?a, Catalu?a, Comunidad Valenciana และ Madrid เป็นภูมิภาคที่มีค่าใช้จ่ายซื้อยาตามใบสั่งแพทย์สูงที่สุด อัตราเฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อใบสั่งแพทย์ประมาณ 13.27 ยูโร

ในระบบการค้าระหว่างประเทศ สเปนนำเข้าผลิตภัณฑ์เภสัชเป็นมูลค่า 8.278 พันล้านยูโร ในปี 2550 และส่งออก 6.201 พันล้านยูโร โดยมีประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าสำคัญ ครอบครองสัดส่วนนำเข้าถึงร้อยละ 75 ขณะที่ส่งออกไปยังตลาดนี้ร้อยละ 61 อย่างไรก็ตาม สเปนได้เพิ่มปริมาณการค้ากับสหรัฐอเมริกาในอัตราที่สูงมาก ในปี 2550 สเปนนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 และส่งออกไปสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 35

ประเทศที่นำเข้าผลิตภัณฑ์เภสัชจากสเปนที่สำคัญ ได้แก่ เยอรมนี (16.2%) ฝรั่งเศส (14%) สหราชอาณาจักร(12.2%) สวิตเซอร์แลนด์(9.4%) สหรัฐฯ(10.4%) และ อิตาลี (7%)

การแข่งขัน

เนื่องจากความสะดวกและความได้เปรียบด้านที่ตั้งตามภูมิศาสตร์และการใช้กฎระเบียบข้อบังคับอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้ผู้ประกอบการในยุโรปเป็นผู้ครอบครองตลาดของสเปนทั้งด้านการส่งออกและการให้บริการ

ในอุตสาหกรรมเภสัชของสเปนตั้งแต่ดั้งเดิมจะกระจุกตัวอยู่ในแคว้น Catalonia เป็นส่วนมาก โดยมีห้องปฏิบัติการวิจัยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของทั้งประเทศ หรือ ร้อยละ 60 ในแง่ของการผลิต และ ครองสัดส่วนร้อยละ 66 ของจำนวนบริษัทด้านเคมีที่ดีที่สุด ทั้งนี้ บริษัทยาที่ใหญ่ที่สุดของสเปน 4 อันดับแรก ประกอบด้วย 1) Almirall Prodesfarma 2) Esteve 3) Ferrer Grupo และ 4) Uriach นอกจากนี้ ยังมีบริษัทยาระดับนานาชาติที่เข้ามามีบทบาทสำคัญด้วย ได้แก่ Pfizer, Bristol-Myers Squibb, Merck, Sanofi Aventis, Novartis, GlzxoSmithKline และ Roche Group จึงพอแสดงให้เห็นได้ว่ามีการแข่งขันสูงเพียงใดในตลาดนี้ แต่ขณะเดียวกัน ก็ถือได้ว่ามีโอกาสเพิ่มขึ้นด้วยที่ธุรกิจจะจับมือร่วมกันทำวิจัย ทำการค้า พัฒนาผลิตภัณฑ์ และ/หรือ ร่วมเป็นคู่ค้าทางกลยุทธ์

ในภาคส่วนของสินค้าอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ อุตสาหกรรมการผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าขนาดใหญ่จะอยู่ในแคว้น Madrid และ Catalonia ซึ่งสเปน นอกจากจะผลิตสินค้าได้เองแล้วยังคงมีความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์ในส่วนนี้ร้อยละ 38 โดยเฉพาะจากสหราชอาณาจักร และเยอรมนี

หากจัดอันดับประเทศที่มีราคายาถูกที่สุดในสหภาพยุโรปแล้ว สเปนถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 18 แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้นำเอาระบบ Reference Price System (Sistema de Precios de Referencia-SPR) มาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ซึ่งช่วยปรับระดับราคายาลงมาได้ร้อยละ 4.2 ในปีแรก และลดลงได้อีกร้อยละ 2 ในปีถัดมา และในปี 2550 ได้นำระบบ SPR ที่ปรับปรุงใหม่มาปรับใช้เพิ่มเติม ด้วยมุ่งหวังจะช่วยลดราคายาลงไปได้อีกมาก

เมื่อไม่นานนี้ ได้มีการปรับปรุงขั้นตอนในการขอจดทะเบียนผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเพื่อให้มีความกลมกลืนและสอดคล้องกัน ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมบางตัวของสเปนจะได้สิทธิ์เสมือนว่าได้รับการจดทะเบียนแล้วโดยอัตโนมัติภายใต้กฎเกณฑ์ข้อบังคับเกี่ยวกับ The European Medicines Agency — EMEA

การเจาะตลาด

ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปกรณ์การแพทย์/เวชภัณฑ์ หรือ เภสัชกรรม ถือว่าบริษัทหุ้นส่วนหรือผู้ร่วมลงทุนในท้องถิ่น อาทิ ผู้จัดจำหน่าย ผู้นำเข้า หรือ ห้องทดลองปฏิบัติการ เป็นต้น เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดต่อความสำเร็จ เนื่องจากพวกเขาเหล่านั้น มีเครือข่ายในการจัดจำหน่ายที่เป็นปัจจัยสำคัญในตลาดสเปน หรืออาจรวมไปถึงตลาดโปรตุเกสด้วย

ในหมวดสินค้าอุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์ที่จะจำหน่ายได้ ต้องได้รับเครื่องหมายรับรอง CE ตามข้อบังคับ Medical Devices Classification Directive 93/42/CEE รวมทั้ง ข้อบังคับอื่นๆที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น การติดฉลาก การตรวจสอบทางคลินิก การจัดทำเอกสารด้านเทคนิคอย่างสมบูรณ์ เป็นต้น

สำหรับหมวดสินค้าผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม จากการปรับปรุงขั้นตอนการขอจดทะเบียนผลิตภัณฑ์สำหรับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปให้สอดคล้องกันนั้น จะเกี่ยวข้องกับกฎหมายของสเปนฉบับ Ley 29/2006 และมีแนวโน้มว่าบริษัทเภสัชกรรมของสเปนจะมีการร่วมมือกับบริษัทเภสัชกรรมของต่างชาติเพิ่มขึ้นในการจะขอใบอนุญาตให้ผลิตภัณฑ์นั้นๆเข้ามาจำหน่ายในตลาดสเปนได้ เนื่องจากบริษัทต่างชาติหวังจะอาศัยความเชี่ยวชาญชำนาญด้านขั้นตอนและกฎระเบียบของผู้ร่วมธุรกิจในท้องถิ่น

การวิจัยและการพัฒนา (Research and Development — R&D)

ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น มีสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนาถึงร้อยละ 3 ของ GDP แต่ประเทศสเปนมีอัตราส่วนเพียงร้อยละ 1.2 ถือว่าต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของงประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (ร้อยละ 1.84) แต่ทั้งนี้ จากข้อตกลงร่วมกันในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป มีเป้าหมายที่จะขยับเพิ่มการลงทุนด้าน R&D ให้ถึงระดับร้อยละ 3 ของ GDP ของยุโรป

อย่างไรก็ตาม เพื่อปรับตัวเร่งก้าวไปให้ถึงเป้าหมายของสหภาพยุโรป รัฐบาลสเปนได้บัญญัติยุทธศาสตร์ Ingenio 2010 เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2548 ไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

1) เพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน R&D ของภาครัฐและเอกชนให้ถึงร้อยละ 2 ของ GDP ภายในปี พ.ศ. 2553

2) เพิ่มสัดส่วนการลงทุน R&D ของภาคเอกชนให้ถึงระดับอัตราร้อยละ 55 ภายในปี พ.ศ. 2553

ปัจจุบันนี้ สเปนมีสัดส่วนการลงทุนด้าน R&D แบ่งเป็นจากภาคเอกชนร้อยละ 46 จากภาครัฐร้อยละ 43 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10.7 มาจากต่างประเทศ ภาคอุตสาหกรรมย่อยที่มีสัดส่วนการลงทุนสูงที่สุดในสเปนคือ ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม โดยคิดเป็นร้อยละ 20 ของอุตสาหกรรมโดยรวมทั้งหมด มีมูลค่า 844 ล้านยูโร (ปี พ.ศ. 2549) ทั้งนี้ บริษัทเภสัชกรรมของสเปนหลายแห่งใช้บริการการทดสอบเชิงคลินิก (Clinical Trials) ในต่างประเทศ

R&D ของอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ มีการจ้างแรงงานที่เป็นนักวิจัยอาชีพ 4,616 คน (ข้อมูลปี พ.ศ. 2550) คิดเป็นร้อยละ 11 ของการจ้างแรงงานที่สูงที่สุดในสาขา R&D ทั้งหมด และจากบริษัทเภสัชกรรมทั้งสิ้น ร้อยละ 33 ที่ลงทุนด้าน R&D มีการดำเนินการจดทะเบียนสิทธิบัตร ในปี พ.ศ. 2550 มีบริษัทเภสัชกรรม 283 รายเกิดใหม่และสามารถสร้างยอดจำหน่ายเป็นมูลค่า 135.4 ล้านยูโร

ยาสามัญ (Generics)

ยอดจำหน่ายยาสามัญได้เพิ่มขึ้นสูงมากในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยรัฐบาลสเปนสนใจที่จะส่งเสริมการใช้ยาประเภทนี้ให้มากขึ้น ในปี พ.ศ. 2549 ยอดจำหน่ายยาสามัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 เป็นมูลค่า 545 ล้านยูโร โดยได้เน้นไปที่ยารักษาโรค 4 กลุ่มดังนี้

  • โรคทางเดินอาหาร
  • โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด
  • โรคระบบประสาทส่วนกลาง
  • โรคเกี่ยวกับการหายใจ (ประมาณ 2 ใน 3 ของยอดจำหน่ายรวม)

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆเป็นการพัฒนาเพื่อใช้รักษาโรคที่มีปัญหากับระบบประสาทส่วนกลางเพิ่มมากขึ้น และเป็นที่คาดหวังได้ว่าสเปนจะลงทุนด้าน R&D เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะปรับลดต้นทุนทั่วไปของยาลงอีก และกำหนดราคาโดยใช้ระบบ Price Reference System

อุปกรณ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ (Medical Devices - MD)

ผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์ (MD) จะพยายามพัฒนาและเพิ่มความหลากหลายของสินค้าอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ได้รับการอ้างอิงถึงสมาคมผู้ผลิตสินค้าสุขภาพพแห่งชาติสเปน พบว่าขณะนี้ ตลาดยังคงมีความต้องการสูงในผลิตภัณฑ์ดังต่อไปนี้

  • ของใช้แล้วทิ้ง ได้แก่ เข็มฉีดยา (Syringes) หลอดของเหลว (Catheters) และท่อต่างๆ (Tubes) เป็นต้น
  • เชิงกรานและเข่าเทียม (Hip & knee prostheses)
  • อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ เกี่ยวกับ การประมวลผลและบริหารจัดการการวิเคราะห์โรค
  • ระบบรูปภาพดิจิตอล

ผู้จัดจำหน่ายและผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ส่วนมากจะกระจุกตัวอยู่ในแคว้น Catalonia (42%) Madrid (30%) Valencia (11%) Basque Country (6%)

ผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ที่สุดและมีเครือข่ายกระจายสินค้ามากที่สุดของสเปน 2 ราย ได้แก่ Palex Medical และ Izasa

พันธุศาสตร์ (Genetics)

รัฐบาลสเปน ได้สนับสนุนการวางรากฐานโครงการ Genoma Espana ผ่านกระทรวงสาธารณสุขและการบริโภค ร่วมกับกระทรวงนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการวิจัยด้านพันธุศาสตร์และโปรตีน ซึ่งในปัจจุบันนี้ ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการวิจัยโรคที่หายากทางพันธุศาสตร์ของมะเขือเทศและมะกอก โดยมีการวิจัยที่ดำเนินการสำเร็จไปแล้ว ได้แก่ งานวิจัยเกี่ยวกับพันธุศาสตร์ของปลา Flatfish และ องุ่น

สถาบันทางการศึกษาของสเปนที่ทำการวิจัยด้านพันธุศาสตร์ระหว่างปี พ.ศ. 2535-2551 ได้แก่

  • Institut Municipal d’Investigacio Medica (Barcelona): 37%
  • Centre de Regulacio Genomica (Barcelona): 29%
  • Universitat Pompeu Fabra (Barcelona): 10%
  • Institut de Recerca Oncologica (l’Hospitalet de Llobregat-Barcelona): 10%
  • Universidad de Oviedo: 7%
  • Universitat de Barcelona: 5%
  • Centro Nacional de Investigaciones Oncologicas (Madrid): 2%

ในเดือนพฤศจิกายน 2551 สเปนได้ประกาศการเข้าร่วมโครงการวิจัยของ International Cancer Genome Consortium ในการถอดรหัสพันธุกรรมโรคลูคีเมีย ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการวิจัย 8 โครงการเกี่ยวกับโรคมะเร็ง โดยกระทรวงนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์จะเป็นผู้มอบแนวทางของโครงการในปี พ.ศ. 2552 สำหรับห้องทดลองปฏิบัติการสำหรับถอดรหัสพันธุกรรมของโครงการจะมีศูนย์กลางอยู่ที่นครบาร์เซโลนา

การส่งออกของไทย

ประเทศไทยยังไม่มีเทคโนโลยีและศักยภาพเพียงพอในการส่งออกผลิตภัณฑ์หรือให้บริการทางเภสัชกรรมในตลาดของประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะยารักษาโรคแผนปัจจุบันที่จำเป็นต้องใช้นวัตกรรมและเงินทุนในการวิจัยและพัฒนาสูงมาก รวมทั้งมีขั้นตอนและกฎระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวดระดับสูงสุดและหลากหลาย แต่มีความเป็นไปได้ที่ไทยจะสามารถส่งออกวัตถุดิบสมุนไพร ส่วนผสม อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์วัสดุทางการแพทย์หรือเวชภัณฑ์ที่มีลักษณะใช้แล้วทิ้งได้ ซึ่งตลาดโลกยังมีความต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ ในปัจจุบันสินค้าในหมวดดังกล่าวที่ไทยส่งออกมายังสเปนมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์ยาง ได้แก่ ถุงยางอนามัย และถุงมือยาง

การจะเจาะตลาดสเปน ต้องศึกษากฎระเบียบนำเข้า เรียนรู้วัฒนธรรมของท้องถิ่นที่แตกต่างจากที่อื่นๆ มีความอดทน และในเบื้องต้นมีความจำเป็นต้องอาศัยผู้นำเข้า ผู้แทนจำหน่าย หรือผู้กระจายสินค้าของท้องถิ่นในการทำตลาดนำสินค้าไปสู่ลูกค้า เนื่องจากเป็นผู้ที่รู้ช่องทางและมีความสัมพันธ์กับเครือข่ายกระจายสินค้าทั่วทั้งประเทศ อันถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของความสำเร็จ เช่นเดียวกับ สินค้าอื่นๆส่วนมากของไทยในตลาดนี้ นอกจากนั้น ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญประการหนึ่งคือ ภาษาที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร เพราะคนสเปนส่วนมากไม่ใช้ภาษาอังกฤษ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ