แนวโน้มธุรกิจ Digital Entertainment จากมุมมองของฮอลลีวูด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 3, 2009 14:12 —กรมส่งเสริมการส่งออก

Outlooks of Global Digital Entertainment Trends from Hollywood’s Perspective

Mr. Chris Lee, Executive Producer of Valkyrie

September 1, 2009

Taipei Int’l Convention Center

ธุรกิจภาพยนตร์ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่นำเงินตราต่างประเทศให้สหรัฐฯ เป็นอย่างมาก จากการคาดการณ์ในขั้นต้นคาดว่าในปี 2009 จะมีมูลค่าตลาดรวมสูงถึง 7,135 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยภาพยนต์ที่ทำรายได้สูงสุดของตลอดกาลคือ Titanic ซึ่งออกฉายในปี 1997 ทำรายได้จากการออกฉายทั่วโลกประมาณ 1,842.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาได้แก่ Lord of the Ring III : The Return of the King ซึ่งออกฉายในปี 2003 และทำรายได้รวม 1,119.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในบรรดาภาพยนตร์ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลนี้ มีภาพยนตร์อะนิเมชั่นรวมอยู่ด้วยหลายเรื่อง เช่น Shrek 2 ซึ่งเป็นตอนต่อของตัวประหลาดจากค่าย Dreamworks ถือเป็นภาพยนตร์อะนิเมชั่นที่ทำรายได้สูงสุดตลอด ติดอยู่ในอันดับ 10 ของอันดับหนังทำเงินทั้งหมด ด้วยรายได้รวม 919.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภาพยนตร์ที่ทำรายได้รวมสูงเป็นอันดับ 2 ในส่วนของ Animation Film คือ Finding Nemo ปลาการ์ตูนตัวน้อยจากค่าย Pixar ที่ทำรายได้รวม 864.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดอยู่ในอันดับที่ 17 ของอันดับหนังทำเงินตลอดกาล หรืออย่าง Ice Age 3 ซึ่งเพิ่งออกฉายหมาดๆ เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาก็ติดอันดับหนังทำเงินตลอดกาลในอันดับที่ 22 ด้วยรายได้รวม 806.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จุดหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์อะนิเมชั่นประสบความสำเร็จ เป็นเพราะเนื้อหาของภาพยนตร์ที่จะเน้นความอบอุ่นในครอบครัว เป็นภาพยนตร์ที่เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี เราจึงเห็นภาพพ่อแม่ลูกจูงมือกันเข้าโรงภาพยนตร์เพื่อชมภาพยนตร์อะนิเมชั่นหลายต่อหลายเรื่อง และจุดเด่นประการหนึ่งของภาพยนตร์อะนิเมชั่นในการทำตลาดต่างประเทศก็คือ ในแต่ละประเทศที่ออกฉาย จะมีการจัดหาดารา/นักร้อง/บุคคลที่มีชื่อเสียง ของประเทศนั้นๆ มาทำการพากย์เสียง ที่ถือเป็นการเพิ่มความใกล้ชิดต่อผู้ชมและสามารถสื่อความหมายของบทออกมาได้อย่างชัดแจ้งที่สุด นอกจากนี้แล้วรายได้ของผู้สร้างภาพยนตร์อะนิเมชั่นยังไม่หยุดเพียงแค่รายได้จากการออกฉาย แต่ในส่วนของสินค้า/ผลิตภัณฑ์จากตัวการ์ตูนเหล่านี้ ก็ยังมีมูลค่าทางการตลาดสูงมากด้วย และรายได้หลักอีกทางหนึ่งก็คือการออก DVD ที่ผู้คนนิยมซื้อ/เช่ามาดูกันเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นภาพยนตร์ในระดับครอบครัวที่สมาชิกในบ้านสามารถนั่งดูไปด้วยกันได้ทุกคน

สำหรับผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการทำภาพยนตร์อะนิเมชั่นเห็นจะได้แก่ Pixar ที่เป็นบริษัทในเครือ Disney ซึ่งผลงานที่ออกมาทุกเรื่องประสบความเร็จในส่วนของรายได้จากการออกฉายทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น Toy Story, a Bug’s Life, Monster Inc., Finding Nemo, The Incredibles, Cars, Ratatouille, Wall.E หรือภาพยนตร์อะนิเมชั่นที่มาแรงในปีนี้อย่าง UP ต่างก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากทุกเรื่อง สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการที่ Disney มีประสบการณ์ในการทำหนังแบบครอบครัวเป็นอย่างมากจนสามารถเข้าใจความต้องการของผู้ชมได้เป็นอย่างดีว่า ผู้ชมต้องการชมอะไร รองลงมาได้แก่ Dreamsworks ซึ่งก็มีผลงานดังๆ มากมายเช่นเดียวกัน เช่น Shrek, Madacasgar, Kungfu Panda, BEE Movie, Antz, Shark Tale เป็นต้น ซึ่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการภาพยนตร์อะนิเมชั่นที่ประสบความสำเร็จมากเช่นเดียวกัน

โดยในส่วนของการแบ่ง Segmentation ของตลาดผู้ชมภาพยนตร์นั้น ผู้สร้างในฮอลลีวูดส่วนใหญ่มักจะแบ่งออกง่ายๆ เป็น 4 ส่วน คือ กลุ่มชายอายุสูงกว่า 25 ปี กลุ่มชายอายุต่ำกว่า 25 ปี กลุ่มหญิงอายุสูงกว่า 25 ปี และกลุ่มหญิงอายุต่ำกว่า 25 ปี โดยภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงๆ ส่วนใหญ่จะเป็นภาพยนตร์ที่มีกลุ่มผู้ชมร่วมระหว่างหลายกลุ่ม และภาพยนตร์อะนิเมชั่นส่วนใหญ่ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จคือ “บท” จึงทำให้เกิดเป็นแนวโน้มหนึ่งของการสร้างภาพยนตร์ของฮอลลีวูดก็คือการนำเอาเรื่องราวจากนิยายชื่อดัง หรือวีดีโอเกมส์ ที่ได้รับความนิยมมาจัดสร้าง เช่น Tomb Raider, Mortal Combat และภาพยนตร์เรื่อง Warcraft ที่ดัดแปลงจากวีดีโอเกมส์ชื่อดังที่มีชื่อเดียวกัน ก็กำลังจะออกฉายในเร็วๆ นี้ เพราะเนื้อหาที่คุ้นเคยจะมีส่วนช่วยดึงดูดผู้ชมจำนวนไม่น้อย อีก Trend หนึ่งของธุรกิจภาพยนตร์คือผู้ประกอบการของฮอลลีวูดมีการหาพันธมิตรจากต่างประเทศมาร่วมงานมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นภาพยนตร์เรื่อง Superman Returns ซึ่งลงทุนด้าน Animation ด้วยสัดส่วนร้อยละ 40 ของทุนสร้างทั้งหมด และได้แบ่งงานในส่วนนี้โดยใช้ความร่วมมือจากผู้ประกอบการจาก 4 พื้นที่คือ ฮอลลีวูด ฮาวาย อังกฤษ และออสเตรเลีย

นอกจากนี้ อีกปัจจัยสำคัญของธุรกิจภาพยนตร์คือบุคลากร ซึ่งในส่วนนี้เราจะเห็นได้ชัดจากการที่รัฐบาลของนิวซีแลนด์ได้ให้การสนับสนุนผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังของฮอลลีวูดคือ Peter Jackson อย่างเต็มที่ในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Lord of the Ring ทั้ง 3 ภาค โดยขอให้ Peter Jackson ใช้สถานที่ในนิวซีแลนด์ในการถ่ายทำและใช้บริษัทของนิวซีแลนด์ในการทำงานด้านอะนิเมชั่นรวมไปจนถึงPost Production หรือแม้แต่สิงคโปร์ก็พยายามจะยกระดับอุตสาหกรรมอะนิเมชั่นโดยเชิญผู้สร้าง/ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังจากฮอลลีวูดอย่าง Gorge Lucas มาสร้างภาพยนตร์อะนิเมชั่นโดยให้ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการสิงคโปร์ อีกทั้งรัฐบาลสิงคโปร์ก็เร่งสร้างบุคลากรที่เกี่ยวของกับธุรกิจอะนิเมชั่นในอีกหลายทาง ทั้งการเปิดโรงเรียน เพื่อสร้างบุคลากรในประเทศและดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับให้สิงคโปร์เป็น Hub ของธุรกิจอะนิเมชั่นในเอเชีย

สำหรับในส่วนของภาพยนตร์ไต้หวัน ก็มีบุคลากรที่มีความสามารถมากมายเช่น อังลี ผู้กำกับชื่อดังของฮอลลีวูดก็เป็นชาวไต้หวัน หรือผู้กำกับรุ่นใหม่อย่าง เว่ยเต๋อเซิ่ง ซึ่งเป็นผู้กำกับไต้หวันที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในปีที่แล้วกับภาพยนตร์เรื่อง Cape No.7 ซึ่งทำรายได้สูงถึง 500 ล้านเหรียญไต้หวันจากการออกฉายในไต้หวันก็ถือว่ามีศักยภาพไม่น้อย รวมไปจนถึงผลงานของผู้กำกับรุ่นใหม่จากภาพยนตร์เรื่อง Shuffle ที่สามารถคว้ารางวัลจากการเข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์ที่ฟูซานในปีนี้ ก็แสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านบุคลากรที่มีอยู่ไม่น้อยทีเดียว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงในส่วนผู้ประกอบการด้านอะนิเมชั่นที่ไต้หวันมีชื่อเสียงในระดับแนวหน้าอยู่แล้ว และประการสำคัญที่ทำให้ธุรกิจภาพยนตร์ของไต้หวันจะประสบความสำเร็จในการตามรอยฮอลลีวูดได้คือการที่มีตลาดผู้ชมที่พูดภาษาจีนมากถึงพันกว่าล้านคนทั่วโลก จึงทำให้ไต้หวันก็มีศักยภาพพอเพียงที่จะเป็น Hub ของธุรกิจภาพยนตร์สำหรับตลาดภาษาจีนได้เช่นเดียวกัน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ