สภาล่างสหรัฐฯผ่านร่างปฏิรูปกฎหมายความปลอดภัยของอาหาร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 21, 2009 13:32 —กรมส่งเสริมการส่งออก

วันที่ 30 กรกฏาคม 2552 คณะกรรมาธิการพลังงานและการพาณิชย์ (Committee on Energy and Commerce) สภาล่างของสหรัฐฯได้ออกเสียงลงมติผ่านร่างปฏิรูปกฎหมายความปลอดภัยของอาหาร หรือ Food Safety Enhancement Act of 2009 และส่งเข้าสภาสูงเพื่อพิจารณาเนื้อหาโดยสรุปในร่างกฎหมายความปลอดภัยของอาหารคือ

ข้อบังคับเรื่องความปลอดภัยของอาหาร

1. สร้างระบบการจดทะเบียนโรงงานที่มีข้อมูลทันสมัย โดยบังคับให้โรงงานผลิตสินค้าอาหารในสหรัฐฯและที่อยู่นอกประเทศสหรัฐฯที่ส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ ทำการจดทะเบียนโรงงานกับหน่วยงาน FDA ทุกๆ ปี

2. หาแหล่งเงินมาสนับสนุนการดำเนินงานของ FDA โดยบังคับให้โรงงานผลิตที่จดทะเบียนกับ FDA

(ก) จ่ายชำระค่าจดทะเบียนปีละ $1,000 เหรียญฯ

(ข) จ่ายค่าตรวจสินค้าอีกครั้ง(re-inspection) และค่าเรียกเก็บสินค้า (food recalls)

(ค) อนุญาตให้ FDA เรียกเก็บเงินจากผู้ส่งออกสหรัฐฯที่ขอประกาศนียบัตรส่งออกสินค้าอาหาร

3. ป้องกันปัญหาเรื่องความปลอดภัยของสินค้าอาหารก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้น โดยบังคับให้โรงงานผลิตทั้งในสหรัฐฯและโรงงานในต่างประเทศที่ส่งสินค้าเข้าไปยังสหรัฐฯจัดทำแผนความปลอดภัยที่มีการระบุและการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับอาหาร โดย FDA มีอำนาจที่จะระบุข้อบังคับสำหรับแผนความปลอดภัยของอาหารในระดับต่ำสุดและมีอำนาจที่จะทำการตรวจสอบแผนความปลอดภัยดังกล่าว

4. บังคับให้มีแผนความปลอดภัยสำหรับผลิตภัณฑ์เกษตรสด โดย FDA จะออกกฎระเบียบที่จะเป็นหลักประกันการผลิตและการเก็บเกี่ยวผักและผลไม้ที่ปลอดภัย

5. เพิ่มการตรวจสอบโรงงานผลิตสินค้าอาหาร กำหนดความถี่ระดับต่ำสุดของการตรวจสอบโรงงานผลิตดังนี้ (ก) โรงงานที่มีความเสี่ยงสูงสุดจะถูกตรวจสอบอย่างน้อยทุกๆ 6 — 18 เดือน (ข) โรงงานที่มีความเสี่ยงต่ำจะถูกตรวจสอบอย่างน้อยทุกๆ 18 เดือน — 3 ปี และ(ค) โกดังเก็บสินค้าอาหารจะถูกตรวจสอบอย่างน้อยทุก ๆ สามหรือสี่ปี ห้ามการกระทำใดๆที่จะเป็นการปฏิเสธ ขัดขวาง หรือทำให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างล้าช้า

6. เพิ่มความสามารถในการติดตามแหล่งที่มาของอาหาร ขยายความสามารถของ FDA ในการติดตามหาแหล่งที่มาของอาหารที่มีการปนเปื้อนในกรณีที่มีเกิดการระบาดของความเจ็บป่วยที่มีสาเหตุมาจากอาหาร โดยจะออกกฎระเบียบบังคับให้โรงงานผลิต ผู้ขนส่ง และผู้เก็บรักษาอาหารทำการเก็บประวัติของผู้กระจายสินค้า อาหารก่อนหน้าที่จะมาถึงตนไว้อย่างละเอียดที่สามารถจะทำให้สืบสาวแหล่งที่มาของอาหารได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันกฎหมายอนุญาตให้โรงงานเก็บบันทึกในรูปแบบใดๆก็ ได้(กระดาษหรืออิเลคโทรนิกส์)ทำให้เป็นการยากในการสืบสาวแหล่งที่มาของอาหาร

7. เพิ่มความปลอดภัยของสินค้าอาหารนำเข้า โดยการเพิ่มการป้องกันให้มากขึ้น FDA สามารถที่จะบังคับให้รัฐบาลประเทศแหล่งกำเนิดสินค้าหรือบุคคลที่สามที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ออกประกาศนียบัตรรับรองว่าอาหารนั้นๆเป็นไปตามข้อบังคับทั้งหมดที่เป็นเรื่องความปลอดภัยของสินค้าอาหารของสหรัฐฯ

8. ขยายความสามารถในการทดสอบสินค้าในห้องทดลอง (laboratory testing) FDA จะต้องจัดทำโปรแกรมที่จะรับรองห้องทดลองและผลการทดลองจากห้องทดลองดังกล่าว และส่งผลการทดลองให้แก่ FDA

9. จัดหาเครื่องมือที่จะทำให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเข้มแข็งและที่สามารถยืดหยุ่นได้ ร่างกฎหมายฉบับนี้จะเพิ่มอำนาจใหม่ให้แก่ FDA ในการ บังคับเรียกเก็บสินค้าที่เกิดการปนเปื้อนออกจากตลาด เพิ่มบทลงโทษทางอาญาและทางเพ่ง รวมถึงมีอำนาจที่จะบีบบังคับโรงงานอาหารที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับเรื่องความปลอดภัย

10. สร้างขบวนการนำเข้าที่รวดเร็วสำหรับอาหารที่มีการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย ร่างกฎหมายฉบับนี้ยอมให้ FDA พัฒนาแนวทางด้านความปลอดภัยที่เป็นแบบสมัครใจสำหรับสินค้าอาหารนำเข้า ผู้นำเข้าที่มีการปฎิบัติตามแนวทางนี้จะได้รับการอำนวยความสะดวกในเรื่องการนำเข้า

11. ขยายความปลอดภัยของนมสำหรับเด็กอ่อน ขยายความสามารถของ FDA ในการที่จะประกันความปลอดภัยของสินค้านมสำหรับเด็กอ่อนที่เป็นสินค้าใหม่ก่อนวางตลาด

12. ทำเรื่องความปลอดภัยของอาหารให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น รวมอาหารเข้าไว้ในระบบการสอดส่องติดตามความเคลื่อนไหวเพื่อให้สามารถเข้าถึงความถี่และแหล่งกำเนิดของโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างถูกต้อง และให้มีการระบุอุตสาหกรรมและกฎระเบียบต่างๆที่จะช่วยลดอันตรายในแหล่งที่มาของอาหาร

13. ขยายความสามารถของ FDA ในการป้องกันอาหารที่ไม่ปลอดภัยไม่ให้เข้าสู่ระบบอุปทานอาหารของสหรัฐฯ เพิ่มอำนาจของ FDA ในการกักเก็บผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ปลอดภัย ให้อำนาจ FDA ในการ “กักกัน-quarantine” โดยให้สามารถที่จะจำกัดหรือห้ามการเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ปลอดภัยออกจากพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง

14. สั่งให้ FDA ทำการประเมินการใช้คาร์บอนมอนน๊อกไซด์ในอาหารบางประเภทกำหนดให้ FDA ทำการทบทวนความปลอดภัยของการใช้คาร์บอนมอนน๊อกไซด์ในเนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์ปีก และผลิตภัณฑ์อาหารทะเล

15. ขยายความโปร่งใสของโปรแกรม GRAS — generally recognized as safe กำหนดให้มีการเผยแพร่ในเว็ปไซด์ของ FDA เอกสารต่างๆที่มีการยื่นต่อ FDA ที่เป็นการสนับสนุนการแจ้ง GRAS

16. ข้อบังคับเรื่องการปิดฉลากและการเปิดเผยแหล่งกำเนิดสินค้า บังคับให้สินค้าอาหารทุกชนิดที่ผ่านขบวนการผลิตปิดฉลากระบุประเทศที่เป็นแหล่งสุดท้ายของขบวนการผลิต บังคับให้โรงงานผลิตสินค้าอาหารระบุแหล่งกำเนิดของเครื่องปรุงอาหารทุกรายการลงบนเว็บไซด์ของตน บังคับให้อาหารสดทุกชนิดปิดฉลากระบุ แหล่งกำเนิดสินค้า

ข้อบังคับทั่วไป

1. จัดทำการจดทะเบียนผู้นำเข้าที่เป็นปัจจุบัน บังคับให้ผู้นำเข้า ทุกรายที่นำเข้ายาเครื่องมือ และอาหาร ทำการจดทะเบียนกับ FDA ไว้ทุกๆปีและจ่ายค่าธรรมเนียมจดทะเบียนด้วย

2. บังคับให้มีหมายเลขประจำตัวโรงงานผลิตและผู้นำเข้าที่เป็นหมายเลขเฉพาะตน สำหรับผู้นำเข้าและโรงงานผลิตยา เครื่องมือ และอาหาร

3. สร้างระบบการตรวจโรงงานในต่างประเทศ บังคับให้ FDA จัดตั้งกลุ่มผู้ตรวจสอบ (inspector) ขึ้นมาไว้เป็นการถาวร เพื่อไว้สอดส่องดูแลโรงงานผลิตในต่างประเทศที่ผลิตอาหาร ยา เครื่องมือและเครื่องสำอางค์สำหรับผู้บริโภคสหรัฐฯ

4. มอบอำนาจใหม่ๆให้แก่ FDA ในการยื่นหมายศาลขอบันทึกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนที่เชื่อว่าได้เกิดขึ้น

5. จัดหาการป้องกันผู้แจ้งการฝ่าฝืนที่ให้ข้อมูลสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย

ปัจจุบันยังคงเหลือร่างกฎหมายเรื่องความปลอดภัยของอาหารอีก 2 ฉบับที่ถูกร่างขึ้นภายใต้หลักการและเนื้อหาที่คล้ายคลึงกันกับร่างกฎหมาย Food Safety Enhancement Act of 2009 ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างรอการพิจารณาของสภาล่างของสหรัฐฯคือ

(1) Safe Food Enforcement, Assessment, Standards, and Targeting Act of 2009 (SAFE FEAST Act) ถูกนำเสนอเข้าสภาในวันที่ 5 มีนาคม 2009 ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการตรวจทานสอบสวน แก้ไขโดยคณะกรรมการก่อนนำเข้าไปพิจารณาออกเสียงในสภา

(2) Food Safety Modernization Act of 2009 ถูกนำเสนอเข้าสภาในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2009 ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการตรวจทาน สอบสวน แก้ไขโดยคณะกรรมการก่อนนำเข้าไปพิจารณาออกเสียงในสภา

จากการที่มีการนำเสนอร่างกฎหมายความปลอดภัยของสินค้าอาหารเข้าสู่การพิจารณาออกเป็นกฎหมายพร้อมๆกันจำนวนถึงสามฉบับด้วยกันและเป็นร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาไปในแนวทางเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงเจตจำนงค์อย่างแน่วแน่ของสหรัฐฯในการจัดทำระบบการป้องกันความปลอดภัยของอาหารขึ้นมาใหม่ให้จงได้ FDA ได้เสนอของบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2010 จำนวน 3.2 พันล้านเหรียญฯและเพิ่มขึ้นจากงบประมาณปัจจุบันร้อยละ 19 เพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพของประชาชน ส่วนใหญ่ของงบประมาณจำนวนนี้จะถูกนำไปใช้ในเรื่องของความปลอดภัยของอาหาร ส่วนที่เหลือจะถูกนำไปใช้ในเรื่องความปลอดภัยของยาและเครื่องมือเครื่องใช้

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นครลอสแอนเจลิส

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก Commerce   สหรัฐ   AFET  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ