การค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น และการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับไทย 8 เดือนแรก(มกราคม-สิงหาคม) ของปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 30, 2009 16:31 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น

การค้าของญี่ปุ่นเดือนสิงหาคม 2552 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากช่วงไตรมาส 2 โดยเฉพาะการส่งออกที่อัตราการลดต่อปีชลอลง โดยการส่งออกในเดือนนี้มีมูลค่า47,529.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากเดือนสิงหาคม2551 ร้อยละ 26.3 ส่วนการนำข้ามีมูลค่า 45,598.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 32.5

การค้าของญี่ปุ่นในช่วง 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม)ของปี 2552 นี้ ได้ดุลการค้า 5,282.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่งออกมูลค่า 349,782.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้ามูลค่า 344,500.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าส่งออก และนำเข้าลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 34.7 และ 32.4 ตามลำดับ

การส่งออก : ญี่ปุ่นพึ่งพาตลาดเอเชียมากขึ้น

การส่งออกเดือนสิงหาคม 2552 ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีนี้ การส่งออกเดือนนี้เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2551 ลดลงร้อยละ 26.3 ขณะที่มูลค่าส่งออกเดือนมกราคม-สิงหาคม 2552 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 34.8

สินค้าส่งออกสำคัญของญี่ปุ่นที่มีอัตราการลดชลอลงได้แก่ อุปกรณ์และชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์พลาสติก สำหรับสินค้าที่มูลค่าส่งออกขยายตัวจากปี 2551 คือ เรือและยานน้ำ และผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม

การส่งออกของญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในจีน โดยตลาดเอเชียตะวันออก และอาเซียน คือ จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามรวมทั้งออสเตรเลีย มีมูลค่าส่งออกฟื้นตัวขึ้นจากที่ต่ำสุดในช่วงเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ 2552 จนอยู่ในระดับใกล้เคียงกับมูลค่าส่งออกช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ขณะที่ตลาดสหรัฐฯ เริ่มกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย แต่การส่งออกไปตลาดยุโรป และละตินอเมริกา ยังไม่ฟื้นตัวดี ยกเว้นปานามาที่ญี่ปุ่นส่งออกเรือเพิ่มขึ้น และสวิตเซอร์แลนด์ที่สินค้า re-export จากญี่ปุ่นขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก

การนำเข้า : สินค้าเชื้อเพลิงและวัตถุดิบฟื้นตัว

ในช่วงมกราคม-สิงหาคม 2552 มูลค่านำเข้าของญี่ปุ่นลดลงจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 32.4 สินค้านำเข้าสำคัญลดลงเกือบทุกประเภท ยกเว้น ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3 เสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลาและสัตว์น้ำอื่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 ยาสูบและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 เป็นต้น

สินค้านำเข้าสำคัญที่แม้มีมูลค่านำเข้าหดตัวจากปี 2551 แต่ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่กลางปีจนถึงเดือนสิงหาคม 2552 ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบ สินแร่ ยานยนต์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น

จีนยังคงเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น สัดส่วนร้อยละ 22.18 ของมูลค่านำเข้ารวม มูลค่านำเข้าจากประเทศจีนลดลงจากช่วง 8 เดือนแรกของปีที่แล้วร้อยละ 17.4 ลดน้อยกว่าแหล่งนำเข้าสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในแถบตะวันออกกลางที่มูลค่านำเข้าลดลงถึงร้อยละ 40-60 สำหรับ การนำเข้าจากอาเซียน10 ประเทศ และสหรัฐฯ มีสัดส่วนร้อยละ 14.29 และ 10.97 ซึ่งระยะ 8 เดือนแรกของปีนี้มูลค่านำเข้าลดลงจากระยะเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 30.8 และ 28.0 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ไทยเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 11 ของญี่ปุ่น สัดส่วนร้อยละ 2.89 ของมูลค่านำเข้ารวมของญี่ปุ่น สมาชิกอาเซียนอื่นที่เป็นแหล่งนำเข้าสำคัญของญี่ปุ่นและมีมูลค่ามากกว่าไทย คือ อินโดนีเซียมีสัดส่วน 4.01 และ มาเลเซียมีสัดส่วน 3.06 ซึ่งสินค้าสำคัญ คือ เชื้อเพลิง ซึ่งมีมูลค่าเกือบครึ่งของการนำเข้าจากประเทศทั้งสอง

การค้าระหว่างญี่ปุ่นกับไทย

การค้าระหว่างญี่ปุ่นกับไทยช่วงเดือน มกราคม-สิงหาคม 2552 ญี่ปุ่นได้ดุลการค้าไทย 2,560.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 57.2 มูลค่าส่งออกจากญี่ปุ่นมาไทย ลดลงถึงร้อยละ 36.2 ขณะที่การนำเข้าจากไทยลดลงร้อยละ 27.0

การนำเข้าจากไทย : สินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการขยายตัว

ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้มูลค่า 9,945.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 27.0

สินค้านำเข้าจากไทยที่สำคัญ เป็นสินค้ากึ่งสำเร็จรูป และวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตในญี่ปุ่น รวมทั้งน้ำมันสำเร็จรูปส่วนใหญ่มีมูลค่าลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมาก อย่างไรก็ตาม มีสินค้าอุปโภค บริโภคบางรายการมูลค่าขยายตัวขึ้นจากปี 2551 เช่น

  • เสื้อผ้าสำเร็จรูป มูลค่านำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 มูลค่านำเข้ารวมของ ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ญี่ปุ่นนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปคุณภาพปานกลางราคาไม่แพงจากประเทศในเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะจากเวียดนามนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 21 .1 ขณะที่ลดการนำเข้าเสื้อผ้าหรู เช่น จากอิตาลีลงร้อยละ 23.0
  • เครื่องสำอางและน้ำหอม มูลค่านำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27.3 แม้การนำเข้ารวมลดลงร้อยละ 3.8
  • ผลิตภัณฑ์อาหารจากไทยหลายประภทขยายตัวขึ้นต่อเนื่องจากปี 2551 เช่น เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง(21.7%) อาหารทะเลแปรรูป (21.7%) อาหารสัตว์(4.7 %) กุ้งปูสดแช่เย็น/แช่แข็ง (25.9%) ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส (27.7%) สินค้าเหล่านี้จากไทยมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าอัตราการเพิ่มของมูลค่าที่ญี่ปุ่นนำเข้ารวมจากทุกแหล่งในแต่ละรายการ

อย่างไรก็ตาม สินค้าอาหารของไทยบางรายการมีมูลค่าลดลงจากช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 หลังจากที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากในปีที่แล้ว ได้แก่ น้ำตาล เนื้อปลาสดแช่เย็น/แช่แข็ง ปลาหมึกสดแช่เย็น/แช่แข็ง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารกึ่งสำเร็จรูปอื่นๆ เป็นต้น

สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิต เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ แม้มีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับ 8 เดือนแรกของปี 2551 แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น เช่น แผงวงจรไฟฟ้าไดโอททรานซิสเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องส่งสำหรับวิทยุโทรทัศน์ ส่วนประกอบยานยนต์ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

การส่งออกมาไทย : สินค้ากึ่งสำเร็จรูปบางชนิดเริ่มฟื้นตัว

สินค้าที่ญี่ปุ่นส่งออกมาไทยช่วง มกราคม-สิงหาคม 2552 มีมูลค่า 19,597.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 36.2 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้ากึ่งสำเร็จรูป และสินค้าทุน มีมูลค่าลดลงจากปี 2551 เกือบทุกชนิด อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม 2552 มูลค่าสินค้าหลายรายการกระเตื้องขึ้น เช่น แผงวงจรไฟฟ้า ส่วนประกอบเครื่องรับ-ส่งโทรทัศน์และวิทยุ ไดโอททรานซิสเตอร์และอุปกรณ์ อุปกรณ์สำหรับต่อภายในวงจรไฟฟ้า เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ และส่วนประกอบ เป็นต้น

ภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น : ประสบปัญหาเงินฝืด

เศรษฐกิจของญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้น ตามสถานการณ์การส่งออกที่ฟื้นตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 และภาวะการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นมีอัคราเพิ่มต่อเดือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม2552 แต่ Demand ในประเทศยังอ่อนตัว ทั้งการลงทุนของบริษัทเอกชน และการใช้จ่ายบุคคล เนื่องจากสถานการณ์การจ้างงานยังไม่ดี อัตราการว่างงานที่สูงสุดแป็นประวัติการ ร้อยละ 5.7 ในเดือนกรกฎาคม และร้อยละ 5.4 ในเดือนสิงหาคมนี้ รวมทั้งค่าจ้างที่ลดลง ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ผู้ประกอบการต้องใช้กลยุทธ์ลดราคาสินค้า เพื่อจูงใจลูกค้า และส่งผลสืบเนื่องในวงกว้างที่ก่อให้เกิดภาวะเงินฝืด โดยดัชนีราคาผู้บริโภคที่ไม่รวมสินค้าอาหารสด หรือ core CPI ของญี่ปุ่น ลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552

ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น คาดการณ์ว่า core CPI ของญี่ปุ่นปีงบประมาณ 2552 (เมษายน 2552-มีนาคม 2553) ลดลงร้อยละ 1.3 และปีงบประมาณ 2553 จะลดลงร้อยละ 1.0 และเป็นที่คาดกันว่าญี่ปุ่นอาจประสบภาวะเงินฝืดต่อเนื่องไปถึงปี 2554

จากภาวะที่การส่งออกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ตลาดภายในประเทศที่ต้องแข่งขันกันจำหน่ายสินค้าราคาถูกแต่คุณภาพดี ทำให้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นพยายาม ปรับตัว ลดต้นทุน เช่น ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกนำสินค้าที่เป็น private brand วางจำหน่ายในราคาต่ำกว่า national brand ผู้ผลิต/จำหน่ายสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า รองเท้าและสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ลงทุน/ว่างจ้างผู้ผลิตในประเทศค่าจ้างแรงงานต่ำในเอเชีย เช่น จีน เวียดนาม พม่ากัมพูชา และบังคลาเทศ เป็นต้น โดยแนะนำให้มีการปรับปรุงการผลิตรวมทั้งควบคุมคุณภาพ นอกจากนี้ผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตสินค้าบางประเภทจากญี่ปุ่นไป ประเทศจีน และเอเชียอื่น รวมทั้งไทย เพื่อลดต้นทุน และปรับโรงงานในญี่ปุ่นไปผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น รวมทั้งเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัท เป็นต้น

เห็นได้ว่าญี่ปุ่นเพิ่มความสำคัญกับประเทศเอเชีย กล่าวคือ การพึ่งพาตลาดเอเชียขยายตัวขึ้น โดยการส่งออกไปประเทศเอเชียตะวันออก และอาเซียน ฟื้นตัวเร็วกว่าตลาดอื่น รวมทั้งเพิ่มการลงทุนในเอเชีย ทั้งนี้การลงทุนของญี่ปุ่นในเอเชีย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 มีมูลค่ารวม 14.4 ล้านล้านเยน (ประมาณ 160,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 80 จาก 10 ปีที่ก่อน ขณะที่การลงทุนของญี่ปุ่นในสหรัฐฯ อเมริกา แม้มีมูลค่าสูงกว่าเอเชีย กล่าวคือ 20.5 ล้านล้านเยน แต่ขยายตัวจาก 10 ปีในอัตราต่ำกว่าคือร้อยละ 60 ในส่วนของภาครัฐนั้น รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรค Democratic Party of Japan ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อ วันที่ 26 ตุลาคมนี้ว่า รัฐบาลจะส่งเสริมแนวคิดการจัดตั้ง East Asia Community เพื่อความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของภูมิภาคในด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการค้า

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ