ขยายตลาดสินค้าอาหารไทยใน Hypermarket เยอรมัน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 19, 2009 16:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ห้าง Real (Real SB-Warehaus GmbH) เป็น Hypermarket ค้าปลีกที่มีสาขาในเยอรมนีประมาณ 340 สาขา กระจายอยู่ทั่วประเทศ และยังมีสาขาในต่างประเทศมากกว่า 80 สาขา ได้แก่ โปแลนด์ รัสเซีย โรมาเนีย และตุรกี สินค้าที่จำหน่ายภายในห้างฯ จะมีตั้งแต่อาหาร ของใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้า ของเล่นเด็ก อุปกรณ์กีฬาและการพักผ่อน เสื้อผ้า และเครื่องหนัง โดยมีรายการสินค้าที่จำหน่ายมากกว่า 80,000 รายการ และมียอดขายในปี 2550 ประมาณ 11 พันล้านยูโร ซึ่งในแต่ละวันจะมีลูกค้ามาเลือกซื้อสินค้าในห้าง Real ในเยอรมนีประมาณ 1 ล้านคน และมากกว่า 500,000 คน จะมาที่ห้างฯ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ทั้งนี้ แต่ละสาขาจะมีพื้นที่จำหน่ายสินค้าประมาณ 6,000-8,000 ตร.ม. ซึ่งสะดวกและรวดเร็วสำหรับลูกค้าในการเดินเลือกซื้อสินค้าทุกประเภทที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน

ตั้งแต่ปี 2552 ห้าง Real ได้ทะยอยปรับปรุงแผนกสินค้าอาหารในแต่ละสาขาให้มีแผนกสินค้าอาหารนานาชาติ (International Spezialit?ten) แยกออกมาให้เห็นเด่นชัด เป็นสินค้าของแต่ละประเทศ เช่น ไทย ญี่ปุ่น อินเดีย อิตาลี และฝรั่งเศส ฯลฯ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 10 สาขา และมีแผนที่จะดำเนินการให้ครบทุกสาขา จึงเป็นโอกาสอันดีที่สินค้าไทยจะได้มีช่องทางการจำหน่ายในตลาดเยอรมนีได้เพิ่มขึ้น เพราะหากมีสินค้าอาหารไทยวางจำหน่ายในห้าง Real 340 สาขา ก็จะช่วยให้สินค้าไทยกระจายไปตามเมืองต่างๆ ในเยอรมนีได้กว้างขวางขึ้น นับเป็นการเจาะและขยายฐานตลาดผู้บริโภคเยอรมนีให้รู้จักและยอมรับสินค้าไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาสินค้าอาหารไทยที่จำหน่ายในห้างฯ ยังมีน้อยมากและเป็นแบรนด์ของต่างชาติ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน ได้เล็งเห็นโอกาสและความสำคัญของการขยายตลาดสินค้าอาหารไทยผ่านทางตลาด Mainstream จึงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าอาหารไทยร่วมกับผู้นำเข้า และห้าง Real Hypermarket ที่มีแผนกสินค้าอาหารนานาชาติ (International Spezialitaten) จำนวน 7 สาขาในเมืองต่างๆ ของเยอรมัน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2552

รูปแบบการจัดกิจกรรม
  • ห้างฯ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับสคต.เบอร์ลินฯ ใน 7 สาขาดังกล่าว สาขาละประมาณ 2 สัปดาห์ และสคต. เบอร์ลิน ได้จัดกิจกรรมพิเศษในช่วงเวลาดังกล่าว สาขาละ 2-3 วัน ได้แก่ ห้าง Real สาขา Toenisvorst (28-30 พค.52) , Essen (31 กค.-1 สค.52), Ratingen-Breitscheid (14-15 สค.52), Moenchengladbach (28-29 สค.52),Leverkusen (4-5 กย.52), Karlsruhe (11-12 กย.52) และ Dortmund-Aplerbeck (25-26 กย.52)
  • กิจกรรมพิเศษที่สคต. เบอร์ลิน จัดขึ้นในช่วงส่งเสริมการขายของห้างฯ ได้แก่ การสาธิตการปรุงอาหารไทยเมนูง่ายๆ ที่ช่วยส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าอาหารของไทย เช่น แกงเขียวหวาน ผัดไทยกุ้งสด และต้มยำกุ้ง เพื่อให้ผู้บริโภคทดลองชิมพร้อมทั้งแจกแผ่นพับสูตรการปรุงอาหารไทยเมนูต่างๆ ที่แสดงคุณประโยชน์ทางโภชนาการของอาหารไทย ข้อมูลผลไม้ไทย พร้อมวิธีรับประทาน และรายชื่อร้านอาหารไทยในเยอรมนี ที่ได้รับเครื่องหมาย Thai Select
  • การประชาสัมพันธ์ ห้าง Real สาขาที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าอาหารไทย จะจัดพิมพ์แผ่นพับโฆษณาสินค้าอาหารไทย และแจกไปพร้อมกับแผ่นพับโฆษณาสินค้าประจำสัปดาห์ของห้างฯ ที่จัดส่งไปยังกลุ่มลูกค้าของห้างฯ ทุกสัปดาห์ล่วงหน้า รวมทั้งวางแจกที่แผนกอาหาร ซึ่งในแผ่นพับโฆษณาดังกล่าวจะมีทั้งรายการสินค้าไทยราคาพิเศษ กำหนดวันจัดสาธิตปรุงอาหารไทย.และสูตรอาหารไทย ซึ่งทำให้ลูกค้าทราบล่วงหน้าและให้ความสนใจมาเยี่ยมชมกิจกรรมพิเศษในห้างฯ พร้อมเลือกซื้อสินค้าไทยในระหว่างงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในบางสาขา ได้มีการเชิญสื่อมวลชนมาทำข่าวการจัดกิจกรรมด้วย
ผลการจัดกิจกรรม
  • ห้าง Real ได้สั่งซื้อสินค้าอาหารไทยมาจำหน่ายภายในห้างฯ โดยนำเข้าผ่านบริษัท Kreyenhof & Kluge GmbH ได้แก่สินค้าอาหารไทยภายใต้แบรนด์ไทย อาทิ “Exotic” ซึ่งมีทั้งอาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป ซอสปรุงรส เครื่องแกงและกะทิ ฯลฯ , ข้าวสารตรา “Thai Royal Palace” บะหมี่สำเร็จรูปตรา “Bamee” ของบริษัท Thai President Food และถั่วอบกรอบตรา “Khao Shong” เป็นต้น และบางสาขามีการสั่งสินค้าผักสดและผลไม้ไทยมาจำหน่ายด้วย การจัดกิจกรรมร่วมกับกรมฯ ในครั้งนี้ ช่วยส่งเสริมสินค้าที่เป็นแบรนด์ของไทยได้วางจำหน่ายในห้าง Real เป็นครั้งแรก ซึ่งที่ผ่านมาจะมีสินค้าไทยภายใต้แบรนด์ของต่างชาติที่ผลิตสินค้าเอเซียหลากหลายชนิดและมาจากแหล่งผลิตในประเทศต่างๆ เช่น Bamboo Garden และ Limbai ซึ่งสำนักงานฯ และผู้นำเข้าสินค้าไทย บริษัท Kreyenhof & Kluge ได้พยายามผลักดันให้สินค้าที่เป็นแบรนด์ของไทยวางจำหน่ายในชั้นสินค้าในห้างที่เป็นส่วนของประเทศไทยมากขึ้น
  • ความสนใจและรสนิยมของผู้บริโภคที่มาชมงาน จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่เข้าร่วมชมกิจกรรม พบว่าผู้บริโภคชาวเยอรมันชื่นชอบอาหารไทย โดยผู้ทดลองชิมอาหารที่นำมาสาธิตกว่าร้อยละ 80 ชื่นชอบในรสชาติ และได้รับทราบถึงคุณค่าของอาหารไทยที่มีต่อสุขภาพจากผู้สาธิต ลูกค้าส่วนใหญ่จะขอรับแผ่นพับสูตรการปรุงอาหารไทยที่สำนักงานฯ จัดพิมพ์เป็นภาษาเยอรมัน พร้อมสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นส่วนประกอบ/วัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหาร และมีการซื้อเครื่องปรุงและวัตถุดิบเหล่านั้นกลับไปปรุงเองที่บ้าน ส่วนบางรายที่ไม่สะดวกในการปรุงอาหารเอง ก็จะสอบถามสินค้าที่เป็นอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานได้เลยหรือรายชื่อร้านอาหารไทย ซึ่งสำนักงานฯ จะมีทำเนียบรายชื่อร้านอาหารไทยที่ได้รับเครื่องหมาย Thai Select ที่สำนักงานฯ จัดพิมพ์เป็นภาษาเยอรมันแจกให้แก่ผู้สนใจ
แนวโน้มการรักษาและขยายตลาดอาหารไทยในอนาคต

เนื่องจากผู้บริโภคชาวเยอรมันให้ความใส่ใจในเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น เป็น Healthy Lifestyle ดังนั้น สินค้าประเภท Healthy food และ Functional food จึงเป็นแนวโน้มของตลาด แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นสินค้าที่มีรสชาติดีด้วย ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับอาหารไทยและใช้เป็นจุดขายของสินค้าอาหารไทยได้ การขยายตลาดสินค้าอาหารไทยในเยอรมนีจึงมีโอกาสสูงแต่การบริโภคอาหารไทย ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร อาจเนื่องมาจากผู้บริโภคไม่เคยรับทราบถึงวิธีการประกอบอาหารไทย และการใช้วัตถุดิบ หรือเครื่องปรุงรสประเภทต่างๆ ตลอดจนคุณค่าของอาหารไทยที่ประกอบด้วยสมุนไพร

ความเห็นเพิ่มเติมของสำนักงานฯ
  • กิจกรรมตามโครงการนี้ สามารถช่วยประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคในตลาดเยอรมัน รู้จักอาหารไทยประเภทต่างๆ ได้เป็นอย่างดีและแพร่หลายยิ่งขึ้น โดยสังเกตจากการให้ความสนใจ ซักถามถึงวิธีการปรุง วัตถุดิบไทยที่ใช้ และประโยชน์ที่ได้รับจากการบริโภคพืชผักสมุนไพรต่างๆของไทย เป็นต้น ซึ่งหลังจากผู้บริโภคได้ทดลองชิมอาหารแล้ว ส่วนใหญ่สนใจซื้อสินค้าที่ใช้ในการสาธิต จึงนับเป็นกิจกรรมสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคและยอดขายให้เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี และควรจัดอย่างต่อเนื่องโดยจัดในสาขาอื่นๆ เพิ่มขึ้น
  • การที่ห้าง Real มีแผนที่จะขยายแผนกอาหารนานาชาติไปทุกสาขา โดยห้างมีนโยบายจำหน่ายสินค้าที่เป็นอาหารของชนชาตินั้นจริงๆ (Authentic Food) จึงนับเป็นโอกาสดีของสินค้าอาหารไทยที่จะได้วางจำหน่ายในห้างไฮเปอร์มาร์เก็ตระดับกลางของเยอรมัน ซึ่งมีสาขาในเยอรมนีกว่า 300 สาขา และเป็นการสะดวกสำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าของต่างประเทศได้โดยง่าย ในปีหน้าห้างฯ จึงยังมีแผนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าอาหารไทยร่วมกับผู้นำเข้าและสำนักงานฯ ในสาขาของห้างฯ ที่มีการปรับแผนกอาหารนานาชาติเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าอาหารจากไทยเพิ่มขึ้นแต่ทั้งนี้การแข่งขันกับสินค้าเอเซียจากประเทศอื่นก็จะสูงขึ้นด้วย เช่น อินเดีย และจีน ฉะนั้น ผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งรัดพัฒนาทั้งตัวสินค้าและบรรจุภัณฑ์ โดยเน้นสินค้าที่เป็นแนวโน้มของตลาด อาทิ Convenience Food , Healthy food, Functional food และ Organic food เป็นต้น และควรเน้นให้ผู้บริโภคเห็นว่าเป็นสินค้าที่ผลิตจากธรรมชาติ ไม่ใส่สารเคมีปรุงแต่งหรือสารเจือปนอื่น
  • เนื่องจากในปัจจุบัน ผู้นำเข้าสินค้าอาหารเอเซีย ต่างสร้างตราสินค้าอาหารเอเซียของตนเอง เพื่อให้รูปลักษณ์และรสชาติของสินค้าเหมาะสมที่จะวางจำหน่ายในร้าน/ห้างค้าปลีกของเยอรมัน โดยผู้ผลิตไทยทำหน้าที่รับจ้างผลิตสินค้าให้ผู้นำเข้าเท่านั้น ซึ่งหากผู้นำเข้ามีแหล่งผลิตอื่นที่ถูกกว่าก็สามารถย้ายไปซื้อจากประเทศอื่นได้เพราะที่ผ่านมาผู้นำเข้ามีปัญหาในการทำตลาดให้สินค้าที่ไม่ใช่แบรนด์ของตนเอง ผู้ส่งออกไทยจึงควรให้ความสำคัญในเรื่องนี้ก่อนที่จะสูญเสียตลาดไป โดยการพัฒนาสินค้าและสร้างแบรนด์ใหม่ร่วมกันกับผู้นำเข้าเยอรมัน เพื่อขยายตลาด mainstreams

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ