รายงานสถานการณ์ส่งออกสินค้าไทยไปอิตาลี ประจำเดือนสิงหาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 25, 2009 15:59 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สถานการณ์ส่งออก

ในช่วง 8 เดือนแรก(ม.ค. — ส.ค.)ของปี 2552 ไทยส่งออกสินค้ามายังอิตาลีทั้งสิ้นมูลค่า 827.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า 1,421.8 ล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็นร้อยละ — 41.81 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรกได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ 102.2 ล้านเหรียญสหรัฐ(-21.70%) ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง 67.6 ล้านเหรียญสหรัฐ( -12.47%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 63.1 ล้านเหรียญสหรัฐ(-62.29%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 37.1 ล้านเหรียญสหรัฐ(-18.85%) และผลิตภัณฑ์ยาง 33.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (-22.22%)

2. สาเหตุที่การส่งออกลดลง

เหตุผลการส่งออกอิตาลีในช่วง 8 เดือนแรก(ม.ค.-ส.ค.) ของปี 2552 ลดลงถึงร้อยละ —41.81 เนื่องจาก

2.1. สินค้าส่งออกไทยที่มีการส่งออก ลดลงค่อนข้างมาก เช่น เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (-62.29%) ยางพารา (-72.50%) เหล็กและเหล็กกล้า (-69.30%) เม็ดพลาสติก (-62.71%) เคมีภัณฑ์ (-58.49%) รถยนต์และส่วนประกอบ (-53.71%) เป็นสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมของอิตาลีที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจค่อนข้างมาก

2.2. ช่วง ก.ค. — ส.ค. จะเป็นช่วงหยุดพักร้อน ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่หยุดทำการ และเริ่มเปิดดำเนินการอีกครั้งในเดือนกันยายน ผู้ประกอบการอิตาลีจะหยุดการสั่งซื้อสินค้าและรอดูสถานการณ์ในช่วง ก.ย. — ต.ค. ก่อนที่จะมีการสั่งซื้อสินค้ารอบใหม่

ทั้งนี้ สามารถวิเคราะห์สาเหตุการนำเข้าที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญแยกรายสินค้าได้ดังนี้

2.2.1 เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ

การส่งออกในช่วง 8 เดือนแรก(ม.ค.-ส.ค.)ของปี 2552 มีมูลค่า 63.1 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงจากช่วงเดียวกับของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า 167.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ -62.29 เนื่องจาก

(1) ความต้องการในประเทศลดลงเนื่องจากผู้บริโภคจะนิยมซื้อสินค้าในช่วง มิ.ย. — ก.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่มีอากาศร้อนมาก ๆ ประกอบกับในช่วงภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ผู้บริโภคอิตาลีจะชะลอการซื้อสินค้าที่คงทนและจะตัดสินใจซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพก่อน นอกจากนี้ยังเป็นสินค้าที่รัฐบาลอิตาลีไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ เช่น เดียวกับสินค้ารถยนต์

(2) ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านของอิตาลี(Italian Association Home and Professional Appliances Manufacturers) คาดว่าผลจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งมีผลกระทบต่อกลุ่มเป็นอย่างมากจะทำให้การผลิตในช่วงปี 2552 และ 2553 ลดลงถึงร้อยละ 40 เนื่องจากผู้ประกอบการไม่มีเงินทุนเพียงพอในการคิดค้นและผลิตสินค้าด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ

(3) ไทยครองตลาดเป็นอันดับที่ 2 รองจากจีน ตามด้วยเกาหลีใต้และมาเลเซีย ทั้งนี้ประเด็นที่ผู้ส่งออกไทยต้องคำนึงถึง ได้แก่ ราคาที่แข่งขันได้ ในขณะที่สินค้าต้องมีคุณภาพดี การผลิตสินค้าที่เน้นเรื่องการลดมลภาวะและการประหยัดพลังงาน เป็นต้น

2.2.2 รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ

การส่งออกมาอิตาลีในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค. —ส.ค.) ของปี 2552 มีมูลค่า 31.5 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า 68.0 ล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็นร้อยละ -53.71 เหตุผลเนื่องจาก

(1) เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจมากที่สุด และแม้ว่ารัฐบาลอิตาลีจะได้มีมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อช่วยกระตุ้นให้แก่ผู้ซื้อรถใหม่ แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมถึงรถยนต์ที่ใช้สำหรับการพาณิชย์หรือรถขนาดใหญ่ ซึ่งในช่วง 8 เดือนแรกของปี 52มียอดจำหน่ายลดลงถึง -30%

(2) อย่างไรก็ดี ตลาดรถยนต์ในอิตาลีเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยในช่วงเดือน 8 เดือนแรกของปี 52 มียอดคำสั่งซื้อรถใหม่ถึง 1.47 ล้านคัน เพิ่มขึ้น +5 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคม 2552 เอง มียอดคำสั่งซื้อถึง 90,000 คัน และคาดว่าในปี 2552 จะมียอดจำหน่ายรถใหม่รวมทั้งสิ้น 2.03 ล้านคัน

(3) ไทยครองตลาดเป็นอันดับที่ 23 (สัดส่วนตลาด 4%) โดยมีประเทศคู่แข่งสำคัญ ได้แก่ จีน (33%) อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ (25%) และไต้หวัน (12.2%) นอกจากนี้ อินเดีย และจีน เป็นประเทศที่อิตาลีนำเข้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการทำข้อตกลงร่วมทุนกับบริษัทเฟียต นั่นเอง ทั้งนี้ รถยนต์ที่มีโอกาสในตลาดอิตาลีต้องเป็นรถที่ใช้เครื่องยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน เป็นต้น

2.2.3 เม็ดพลาสติก /เคมีภัณฑ์

เม็ดพลาสติก การส่งออกในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ของปี 52 มีมูลค่า 13.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า 35.2 ล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็นร้อยละ -62.71 เคมีภัณฑ์ การส่งออกในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ของปี 52 มีมูลค่า 32.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า 77.9 ล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็นร้อยละ -58.49 โดยมีเหตุผลดังนี้

(1) เป็นสินค้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจค่อนข้างมาก เช่น อุตสาหกรรมการก่อสร้าง อุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมสิ่งทอ ทำให้ความต้องการในตลาดอิตาลีและต่างประเทศลดลง อย่างไรก็ดีสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจค่อนข้างมาก โดยลดลงถึงร้อยละ -19 ในขณะที่เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในภาคการเกษตรได้รับผลกระทบไม่มากนัก คือ ลดลง -0.7% และผู้บริโภคสุดท้ายลดลง -2.5%

(2) ผู้นำเข้าเปลี่ยนจากการนำเข้าแบบต่อเนื่องเป็นการนำเข้าแบบครั้งคราวตามที่ได้รับคำสั่งซื้อหรือชะลอการสั่งซื้อไว้จนกว่าราคาจะลดลงในระดับที่พอใจ เพื่อลดต้นทุนการสต๊อกสินค้าและหันไปนำเข้าจากกลุ่มสหภาพยุโรปด้วยกันแทน เนื่องจากสะดวกและต้นทุนการขนส่งที่ถูกกว่า

(3) ไทยครองตลาดเป็นอันดับที่ 27 โดยมีประเทศคู่แข่งได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนนีเซียและไต้หวัน

2.2.4 ยางพารา

การส่งออกในช่วง 8 เดือนแรก(ม.ค. —ส.ค.) ของปี 52 มีมูลค่า 28.4 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออก 103.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ -72.50 เหตุผลเนื่องจาก

(1) เป็นสินค้าวัตถุดิบของกลุ่มอุตสาหกรรมของอิตาลีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจอย่างมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ เครื่องจักรกลและกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งตลาดยังคงทรงตัว ยกเว้นอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เพิ่งเริ่มมีการฟื้นตัว อันเนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

(2) ผู้นำเข้าชะลอการนำเข้าลงเพื่อขายสินค้าในสต๊อกออกไปก่อน ประกอบกับเดือนสิงหาคมเป็นช่วงหยุดพักร้อนของผู้ประกอบการอิตาลี และจะเปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน เป็นต้นไป

(3) กลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่องของอิตาลีที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ (30%) ท่อยางและเทปยางเพื่อการหีบห่อ (25%) เครื่องจักรที่มียางเป็นส่วนประกอบ (10%) อุตสาหกรรมผลิตยางปูพื้น (10%) อุตสาหกรรมรองเท้า (10%)

2.2.5 เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

การส่งออกในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ของปี 52 มีมูลค่า 20.2 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า 65.9 ล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็นร้อยละ -69.30 เหตุผลเนื่องจาก

(1) เป็นสินค้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจมากเช่นกัน คือ รถยนต์ (ใช้เหล็ก 20%) เครื่องจักรกล (ใช้เหล็ก 20%) และการก่อสร้าง (ใช้เหล็ก40%) ทั้งนี้ กลุ่ม อุตสาหกรรมเหล็กของอิตาลีคาดว่าในปี 52 การผลิตจะลดลงถึงร้อยละ — 40 และมูลค่าการค้าจะลดลงร้อยละ — 20

(2) ผู้นำเข้าชะลอการนำเข้า และพยายามระบายสินค้าในสต๊อกก่อนนอกจากนี้ยังคงรอผลจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลตามโครงการ In House Plan ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรวงเงิน 350 ล้านยูโรเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้ซื้อบ้านหลังใหม่ประมาณ 100,000 ราย ให้แก่ครอบครัวที่ มีรายได้น้อย คู่แต่งงานใหม่ คนชรา และนักเรียนนักศึกษาที่แยกอยู่ต่างหากจากครอบครัว เป็นต้น

(3) ไทยครองตลาดเป็นอันดับที่ 42 โดยมีประเทศคู่แข่งสำคัญได้แก่ จีน (4.86%) เกาหลีใต้ (2.92%) อินเดีย(2.63%) ไต้หวัน ( 1.15%) และญี่ปุ่น (0.27%)

3. ข้อคิดเห็น

3.1 คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของอิตาลีในช่วงตั้งแต่ก.ย. 52 เป็นต้นไปจะเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของรัฐบาล โดยเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2552 รัฐบาลอิตาลีได้ผ่านแผนงบประมาณ 2 ปี (2010 — 2011) จำนวน 3,000 ล้านยูโร ซึ่งในจำนวนนี้เกือบ 700 ล้านยูโร เป็นงบสำหรับกิจกรรมตามสัญญาภาครัฐ การขยายเวลาการงดเก็บภาษีในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านจนถึงปี 2012 และการสนับสนุนเงินเลี้ยงชีพ (Pension) เป็นต้น

3.2 TSTAT ได้รายงานว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมอิตาลีในเดือนกรกฎาคม 2552 ได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 เป็นต้นมา คำสั่งซื้อในเดือน ก.ค. 52 เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และรายได้เพิ่มขึ้น 0.7% ทั้งนี้ตั้งแต่ กรกฎาคม 2551 เป็นต้นมา คำสั่งซื้อได้ลดลงถึง 23.2% และรายได้ลดลง 21.7%

3.3 สินค้าที่คาดว่ายังคงมีศักยภาพได้แก่ จิวเวลรี่ อาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นต้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ