สหรัฐอเมริกาเรียกเก็บ ( Recall) มูลี่ และม่านบังแสง (Blinds, Shades)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 22, 2009 12:28 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 สำนักงานคณะกรรมาธิการความปลอดภัยของสินค้าบริโภคในสหรัฐฯ (U.S. Consumer Product Safety Commission : CPSC) ได้ประกาศเรียกเก็บ (Recall) สินค้ามูลี่และม่านบังแสง (Blinds, Shades) แบบ Roman Shades และแบบ Roll-Up Blindsจำนวนมากกว่า 50 ล้านชิ้น ซึ่งวางจำหน่ายทั่วประเทศสหรัฐฯ การเรียกเก็บในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นการเรียกเก็บสินค้าจำนวนมากเป็นประวัติศาสตร์ในรอบ 35 ปี ของสำนักงาน CPSC

สินค้าที่เรียกเก็บ

1. สินค้าที่เรียกเก็บมี 2 แบบ คือ

1.1 Roman Shades คือ ม่านบังแสง ที่ทำด้วยวัสดุผ้า (Fabric) เมื่อใช้เชือกดึงขึ้น จะซ้อนกันเป็นจีบ (Pleat) สินค้าถูกเรียกเก็บจำนวน 25 ล้านชิ้น ซึ่งปัจจุบัน มีสินค้าวางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ ประมาณ 5 ล้านชิ้น

1.2 Roll-Up Blinds เป็นมู่ลี่ที่ใช้เชือกดึงขึ้น-ลง ปรับระดับแสดงได้ สินค้าถูกเรียกเก็บประมาณ 27 ล้านชิ้น และมีวางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ ปีละประมาณ 3 ล้านชิ้น

2. การเรียกเก็บมีผลต่อสินค้ามู่ลี่และม่านบังตาที่ผลิตและนำเข้าจาก จีน ไต้หวัน ฮ่องกง เม็กซิโก และ ประเทศไทย

3. สินค้าที่เรียกเก็บมีจำหน่ายตามห้างร้านและเวฟไซต์ของห้างร้านค้าปลีกในสหรัฐฯ ได้แก่ Wal-Mart, J.C. Penney, Pottery Barn, Pottery Barn Kids, The Land of Nod, Ross, All Strong Industry, West Elm, Big Lots, Ace Hardware

4. สินค้ามีราคาจำหน่ายปลีกประมาณตั้งแต่ 6 — 500 เหรียญสหรัฐฯ

5. สหรัฐฯ นำเข้ามู่ลี่และม่านบังตาในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 เป็นมูลค่า 116 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงไปร้อยละ 23.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 แหล่งนำเข้าสินค้าที่สำคัญ คือ จีน (ร้อยละ 67) เม็กซิโก (ร้อยละ 30) ไต้หวันร้อยละ 0.61 จากไทยร้อยละ 0.02

สาเหตุที่ CPSC สั่งเรียกเก็บ

สำนักงาน CPSC และสภาความปลอดภัยของสินค้าวัสดุคลุมหน้าต่างในสหรัฐฯ (Window Covering Safety Council: WCSC) ให้เหตุผลในการเรียกเก็บสรุปได้ ดังนี้

1. นับตั้งแต่ปี 2533 มีเด็กทารก และเด็กเล็ก มากกว่า 200 ราย ที่เสียชีวิตจากเชือกผ้าม่าน (Window Cord) รัดพันคอ (Strangulation)

2. มู่ลี่แบบม้วนขึ้นลง (Roll-Up Blinds) ทำให้เด็กเสียชีวิตจำนวน 3 รายนับตั้งแต่ปี 2544

3. ผ้าม่านบังแสง แบบ Roman Shades ทำให้เด็กเสียชีวิตจำนวน 5 รายและอีก 16 รายเกือบโดนเชือกผ้าม่านพันรัดคอ (ตัวแลขตั้งปี 2549)

4. ตลอดระยะเวลาสำนักงานงาน CPSC และหน่วยงาน WCSC ได้ทำการตรวจสอบความเสี่ยง และอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากเชือกผ้าม่าน ซึ่งในปี 2537 และ 2543 หน่วยงานทั้งสองเคยได้เรียกเก็บสินค้า หลังจากนั้นผู้ผลิตได้มีการปรับปรุงสินค้าและสำนักงาน CPSC ได้เคยประกาศเตือนให้ผู้ปกครองระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ก็ยังมีเหตุการณ์เกิดขึ้น

5. จากการศึกษาวิจัยเป็นระยะเวลา 15 ปี ของบริษัท Inez Tenenbaum เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์วัสดุคลุมหน้าต่าง จึงทำให้สำนักงาน CPSC ตัดสินใจเรียกเก็บผ้าม่านทั้งแบบ Roman Shades และมู่ลี่ แบบ Roll-Up Blinds เพราะมีความเสี่ยงที่เชือกผ้าม่านจะรัดพันคอเด็ก

ข้อคิดเห็น

ความปลอดภัยของสินค้าต่อผู้ใช้เป็นเรื่องที่สหรัฐฯให้ความสำคัญเป็นอันมาก สินค้าที่สหรัฐฯนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมากมีปัญหาในเรื่องอันตรายต่อผู้บริโภค สินค้าที่ล่อแหลมต่อการใช้ เช่น มีความคม เป็นชิ้นขนาดเล็ก มีเชือกประกอบ ซึ่งจะส่งผลอันตราย บาดเจ็บ และ เสียชีวิตของผู้บริโภคได้

ผู้ผลิต/ส่งออกไทยที่ต้องการส่งสินค้าของใช้ต่างๆ ในบ้านไปจำหน่ายในสหรัฐฯ จะต้องให้ความสำคัญและตระหนักถึงด้านความปลอดภัยของสินค้า โดยมีการทดสอบ หรือผ่านการรับรอง และมีคำเตือนและคำแนะนำในการใช้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ