ตลาดการบริโภคปลาหมักดอง/ปลาร้า (Pickled /Preserved Fish) ในสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 25, 2009 14:23 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การบริโภค

ปัจจุบัน ตลาดปลาประเภท Preserved Fish ในสหรัฐฯ มีมูลค่าประมาณ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง ปลาซาร์ดีน/แมคเคอร์เรลกระป๋อง ปลาแซลมอนกระป๋อง แต่ไม่มีการรวบรวมสถิติตัวเลขการค้าปลาหมักดอง/ปลาร้า เนื่องจากมูลค่าตลาดน้อยมาก

ปลาหมักดอง/ปลาร้า (Pickled/Preserved Fish) เป็นส่วนประกอบอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติอาหารที่มีประวัติยาวนานของชนหลายชาติ อาทิ สแกนดิเนเวีย ญี่ปุ่น อิตาลี่ เขมร ลาว เวียดนามและ ไทย รวมทั้งสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การบริโภคปลาหมักดองในสหรัฐฯ ยังจำกัดอยู่ในผู้บริโภคกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Group) เป็นส่วนใหญ่ ไม่แพร่หลายไปสู่กลุ่มผู้บริโภคหลักของประเทศ

สินค้ามีรูปแบบและชื่อเรียกสินค้าจะแตกต่างกันไปตามกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ญี่ปุ่นเรียกว่า “Shime Saba” อิตาลี่เรียกว่า “Anchovy” เวียดนามใช้ชื่อเรียกว่า “Mud Fish” ฟิลิปปินส์ ใช้ชื่อเรียกว่า “Bagoong” คนมาเลเซียใช้เรียกชื่อว่า “Pekasam” คนเขมร เรียกกันว่า “ประฮ๊อก” คนลาวเรียกว่า “ปลาแดก” คนมอญเรียกว่า"ทะแม่ง" คนพม่าเรียกว่า “งาปิ” และคนไทยเรียกว่า “ปลาร้า”

สินค้าปลาหมักดอง

ปลาหมักดอง/ปลาร้า (Pickled Preserved Fish) เป็นการนำปลาตามธรรมชาติ ของแต่ท้องถิ่นในแต่ละประเทศ มาทำการหมักดองในระยะเวลานาน ซึ่งจะมีกรรมวิธีในการหมักดองที่แตกต่างกันไป แต่มักจะใช้ส่วนผสม คือ น้ำส้มสายชู เกลือ หรือ รำข้าว เป็นต้น

ปัจจุบัน เทคโนโลยีและเครื่องมือเครื่องจักรทันสมัยได้เข้ามามีบทบาทการพัฒนารูปแบบการผลิตปลาหมักดองให้มีคุณภาพ ถูกสุขลักษณะ ผ่านการฆ่าเชื้อ ( pasteurize) เพื่อรักษาคุณภาพ รสชาติ และ มีความปลอดภัย

นอกจากการบรรจุขวดแก้ว หรือ กระป๋อง น้ำแร่ น้ำเกลือ และ น้ำมันแล้ว สินค้าได้รับการพัฒนาไปเป็นแบบผง (Powder) ซึ่งง่ายต่อการบริโภคและเก็บรักษา หรือ การบรรจุในภาชนะแบบสูญญากาศ เป็นต้น

ราคาจำหน่ายปลาหมักดอง/ปลาร้าไทยในสหรัฐฯ

          1. ปลาร้าไทย 16 oz.             2.99 เหรียญสหรัฐ
          2. ปลาร้าไทย 24 oz.             4.75 เหรียญสหรัฐฯ

3. Salted Anchovy 2.8 oz. 7.50 เหรียญสหรัฐฯ

4. Pickled Herring 8 oz. 3.29 เหรียญสหรัฐฯ

5. Prahok Pickle Fish 16 oz. 3.50 เหรียญสหรัฐฯ

การบริโภคปลาร้าไทยในสหรัฐฯ

นอกจากคนไทยบริโภคปลาร้าแล้ว ผู้บริโภคปลาร้าไทยที่สำคัญ คือ กลุ่มผู้อพยพชาวอินโดจีน ได้แก่ ชาวลาว ชาวเขมร และ ชาวเวียดนาม ที่กระจัดกระจายทั่วประเทศสหรัฐฯ มลรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นพื้นที่ผู้บริโภคอินโดจีนอาศัยมากที่สุด มลรัฐเท็กซัสมากเป็นอันดับที่สอง ผู้บริโภคกลุ่มนี้ ยังคงรักษาวัฒนธรรมความเป็นอยู่และการบริโภคแบบดั้งเดิม จึงมีการบริโภคปลาร้าของไทยกันเป็นจำนวนมาก

จำนวนผู้บริโภคอินโดจีนบริโภคปลาร้าในสหรัฐฯ*

          กลุ่มเชื้อชาติ            จำนวนประชากร        มลรัฐที่ประชาการอาศัยจำนวนมาก
          1. ชาวลาว**           209,627 คน         California, Texas, Minnesota
          2. ชาว Hmong (แม้ว)    188,600 คน         California, Minnesota, Wisconsin
          3. ชาวเขมร            206,052 คน         California, Massachusetts, New York
          4. ชาวเวียดนาม          1.2 ล้านคน         California, Texas, Washington D.C.
  • สถิติการ US Bureau of Census 2005

** สหรัฐฯ เก็บข้อมูลผู้อพยพจากประเทศลาวเป็น 2 กลุ่ม คือ ชาวลาว และ ชาวเขาเผ่าแม้ว (Hmong)

การนำเข้าปลาหมักดอง/ปราร้าของสหรัฐฯ

สหรัฐฯนำเข้าสินค้าปลาหมักดองทุกชนิดในช่วง 10 เดือนของปี 2552 (มกราคม-ตุลาคม) เป็นมูลประมาณ 41.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีแหล่งนำเข้าที่สำคัญ คือ จีน (ร้อยละ 30.10)

โมรอคโค (ร้อยละ 20.00) อิตาลี่ (ร้อยละ 8.90) ชิลี (ร้อยละ 8.60) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 8.00) และนำเข้าจากประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่คือสินค้าปลาร้า ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เป็นมูลค่าประมาณ 0.84 ล้านสหรัฐฯ (ประมาณ 27 ล้านบาท)

กฎและระเบียบการนำเข้าในสหรัฐฯ

1. สหรัฐฯไม่ห้ามการนำเข้าปลาหมักดอง/ปลาร้าจากประเทศต่างๆทั่วโลก รวมทั้งจากประเทศไทย แต่กำหนดระเบียบเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้าสินค้า

2. ระเบียบทั่วไปสินค้าปลาหมักดอง/ปลาร้าบรรจุ คือ

2.1 ปลาหมักดอง/ปลาร้าในบรรจุภัณฑ์แบบ Airtight Container จะต้องจดทะเบียนเกี่ยวกับเรื่อง Acidified Food กับ FDA สหรัฐฯ

2.2 ผู้ผลิต/ส่งออกไทยจะต้องจดทะเบียนโรงงานผลิต (Food Facility Registration) กับ FDA สหรัฐฯ

3. ในกรณีสินค้าปลาหมักดอง/ปลาร้า (Thai Pickled Fish) ของประเทศไทย

3.1 สำนักงาน US FDA ควบคุมเข้มงวดกับสินค้าปลาร้าไทยโดยเข้มงวด และจัดเป็นสินค้า Import Alert เนื่องจากเป็นสินค้าที่ระดับความปลอดภัยต่ำ พบว่าสินค้ามีสิ่งสกปรก หรือสิ่งแปลกปลอมเจือปน (Filth) และสินค้าปลาร้านำเข้าประมาณร้อยละ 40 เท่านั้น ที่สหรัฐฯอนุญาตให้นำเข้าได้ และร้อยละ 60 ถูกปฏิเสธห้ามนำเข้า

3.2 ในการปฏิบัติ FDA สหรัฐฯ จะกัก (Detention) สินค้าปลาร้าทันทีเมื่อสินค้าเดินทางถึงที่ท่าเรือในสหรัฐฯ โดยไม่ต้องตรวจสอบ (Automatic Detention Without Examination) ซึ่งผู้นำเข้าต้องนำสินค้าไปให้ห้องทดลองตรวจ และนำผลไปให้ FDA พิจารณา ถ้าไม่มีสิ่งสกปรกเจือปน FDA จึงจะอนุญาตให้นำเข้าได้

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

1. ถึงแม้ว่า ลูกหลานของผู้อพยพอินโดจีนที่อาศัยในสหรัฐฯ คือ ชาวลาว ชาวแม้วและ ชาวเขมร ที่มาเติบโตหรือเกิดในสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งจะมีแนวโน้มที่จะละทิ้งการบริโภคอาหารประจำชาติ แต่เชื่อว่า ส่วนใหญ่ยังคงไม่ละทิ้งอาหารประจำชาติ เนื่องจาก ผู้บริโภค 3 กลุ่มนี้มีวิถีการดำรงชีพในสหรัฐฯตามวัฒนธรรมตนเอง และรักษาขนมธรรมเนียมการบริโภคอาหารของชาติตนเองอีกทั้งเป็นผู้บริโภคที่มีการขยายตัวจำนวนประชากรในอัตราสูงและต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มความต้องการบริโภคและการขยายตลาดปลาร้าไทยเพิ่มมากขึ้นในอนาคตในตลาดสหรัฐฯ

2. ปลาร้าของไทยเป็นสินค้าที่ถูกสหรัฐฯ เข้มงวดตรวจสอบในการนำเข้า เนื่องจากเป็นสินค้ามีอัตราความปลอดภัยต่ำ ดังนั้น ผู้ผลิต/ส่งออก สมาคม และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จะต้องหันมาร่วมมือและช่วยกันยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตปลาร้าของไทยให้มีมาตรฐานสุขลักษณะสูงขึ้น(Sanitation Standard) รวมไปถึงการจัดทำระบบการผลิตให้ตรงตามมาตรฐาน HACCP ซึ่งเป็นระบบการจัดการและควบคุมกระบวนการผลิตให้ผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัย ปราศจากอันตรายจากจุลินทรีย์และสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ตามมาตรฐานสากล และเป็นข้อกำหนดสำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งกำหนดโรงงานผลิตสินค้าปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อสนับสนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไทยไปยังสหรัฐฯ

3. สินค้าผักดองเกาหลี หรือ กิมจิ สามารถขยายตัวเข้าสู่ตลาด Main Stream ของ Anchovy ของอิตาลี่ เป็นที่รู้จักแพร่หลายในสหรัฐฯ ประเทศไทยควรจะวางแผนผลักดันการขยายตลาดสินค้าปลาร้าให้เข้าไปสู่ผู้บริโภคกลุ่มหลักของสหรัฐฯ ให้ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักดังเช่น ปลาAnchovy ของอิตาลี่โดยการยกระดับสินค้า การกำหนดตำแหน่งสินค้า (Position) พัฒนารูปแบบให้เชิญชวนการบริโภค การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปสู่รูปแบบอื่นๆ เช่น น้ำซ้อส ผงป่น บดหยาบ (Crushed) เป็นต้น การปรับรสชาติ และ รูปบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสม ตรงตามความต้องการของ ผู้บริโภค

4. การใช้ร้านอาหารไทยในสหรัฐฯเป็นช่องทางในการช่วยขยายตลาด หลังจากได้มีการพัฒนาในตัวสินค้า และทำการประชาสัมพันธ์ และชักชวนร้านอาหารไทยให้นำผลิตภัณฑ์ปลาร้าไปใช้ปรุงอาหาร ทั้งนี้ อาจจะจัดทำคำแนะนำและตัวอย่างเมนูแนะนำเพื่อเผยแพร่ให้แก่ร้านอาหารไทย

5. ในกรณีผู้ผลิต/ส่งออกไทยยังไม่เคยส่งสินค้าปลาร้าไปยังสหรัฐฯ จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบของสหรัฐฯในเรื่อง

5.1 การจดทะเบียนโรงงานผลิต (Food Facility Registration) ดำเนินการผ่าน website ของ US FDA : www.cfsan.fda.gov/~furls/ovffreg.htm

5.2 การจดทะเบียนสินค้า Acidified Food กับ FDA สหรัฐฯ ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.fda.gov/Food/InternationalActivities/Imports/default.htmFood

6. หากมีคำถามและข้อสงสัยในการส่งออกปลาหมักดอง/ปลาร้า สามารถถามสอบเจ้าหน้าที่ FDA สหรัฐฯที่รับผิดชอบได้โดยตรงทาง Email : LACF@FDA.HHS.GOV

7. ผู้ผลิต/ส่งออกไทยที่ต้องการขยายตลาดปลาร้าไทยในสหรัฐฯ ควรมุ่งไปยังกลุ่มผู้อพยพอินโดจีนและครอบครัวที่อาศัยในรัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐเท็กซัส และ รัฐมินเนโซต้า เป็นสำคัญโดยติดต่อไปยังผู้นำเข้าอาหารเอเซียในรัฐแคลิฟอร์เนียหรือรัฐนิวยอร์ก ซึ่งจะเป็นผู้นำเข้าและกระจายสินค้าไปอีกทอดหนึ่ง รายชื่อดังต่อไปนี้

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ