ตลาดสิ่งทอและเสื้อผ้าในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 19, 2010 16:09 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

1.1 มูลค่าการผลิตในประเทศ

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าเป็นอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกที่สำคัญมากแขนงหนึ่งของเยอรมนี และมีแบรนด์สินค้าเยอรมันที่รู้จักและนิยมใช้กันแพร่หลายไปทั่วโลก อาทิ Jack Wolfskin, Adidas, Puma, Esprit(เริ่มโรงงานในUSA), Aigner, Hugo Boss, Camel Active, Closed, Cinque, Mustang, Bogner, Marc O’Polo เป็นต้น อุตสาหกรรมนี้เคยมีจำนวนคนงานที่เกี่ยวข้องกว่า 200,000 คนในโรงงานผลิตกว่า 2,000 โรงงาน แต่ในปัจจุบันที่การตลาดมีการแข่งขันรุนแรงในขณะที่ค่าจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอดซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของอุตสาหกรรมแขนงนี้ จึงได้มีการย้ายฐานการผลิตออกไปยังต่างประเทศ ทั้งในเอเชียและยุโรปตะวันออก สำหรับกิจการในประเทศที่ยังคงมีการผลิตอยู่นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าประเภท high tech สินค้า brand name และสินค้าแฟชั่นในตลาดระดับบนที่มีราคาแพง โดยในปี 2551 มีการผลิตสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 12,207 ล้านยูโร (ประมาณ 610,350 ล้านบาท) มูลค่าลดลงจากปี 2550 ร้อยละ 5.1 เฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีมูลค่า 1,378 ล้านยูโร (ประมาณ 68,900 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 16.6 จำนวนโรงงานผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงจาก 273 เหลือ 258 กิจการหรือลดลงร้อยละ 5.5 และมีคนงาน 46,190 คนลดลงร้อยละ 4.1

สำหรับปี 2552 ตลอดทั้งปี คาดว่ามูลค่าการผลิตสิ่งทอและเสื้อผ้าจะลดลงระหว่างร้อยละ -4 -6 จากสถิติล่าสุดระหว่างมกราคม — สิงหาคม 2552 พบว่า จำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าหดตัวลงร้อยละ -7.8 เหลือจำนวนแรงงานเพียง 87,250 คน (สิ่งทอ 56,104 คนและเสื้อผ้า 31,146 คน) จำนวนชั่วโมงการทำงานลดลงกว่าร้อยละ -14 ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอมีกำลังการผลิตลดลงร้อยละ -23.8 และเสื้อผ้าลดลงร้อยละ -16 ในขณะที่ปริมาณการสั่งผลิตของสิ่งทอลดลงร้อยละ -23 สอดคล้องกับกำลังการผลิต แต่ปริมาณการสั่งผลิตของเสื้อผ้าลดลงมากกว่ากำลังการผลิตคือลดลงร้อยละ -28.6 เมื่อพิจารณาราคาสินค้า ณ โรงงานพบว่าราคาสิ่งทอต่อหน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ส่วนเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ทำให้จากยอดจำหน่ายรายได้ของโรงงานของอุตสาหกรรมนี้เหลือเพียง 9,897 ล้านยูโร ซึ่งลดลงกว่าร้อยละ -17.5 (สิ่งทอมียอดจำหน่าย 5,179 ล้านยูโรลดลงร้อยละ -22.5 และเสื้อผ้า 4,619 ล้านยูโร ลดลงร้อยละ -11.1)

หากพิจารณาจากประเภทของสิ่งทอในปี 2552 (มกราคม-สิงหาคม 2552) เปรียบเทียบการผลิตจากปี 2548=100 พบว่า ปริมาณการผลิตผ้าถักมีอัตราการลดลงมากเป็นร้อยละ - 33.2 การผลิตผ้าทอลดลงร้อยละ -36.4 ในขณะที่ยอดสั่งการผลิตผ้าถักลดลงร้อยละ -14 ผ้าทอลดลงร้อยละ -29.4 ส่วนมูลค่าจากการผลิตลดลงน้อยกว่าปริมาณการผลิต คือ มูลค่าการผลิตผ้าถักลดลงร้อยละ -29.6 และผ้าทอลดลงร้อยละ -29.8 เมื่อเปรียบเทียบยอดสั่งซื้อและมูลค่าการผลิตมีอัตราการลดลงในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ในขณะที่จำนวนการผลิตลดลงมากกว่า เนื่องจากยังมีสต๊อกเหลือจากการผลิตในช่วงก่อนๆ อยู่ ส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปนั้นมีการผลิตลดลงน้อยกว่ามากคือ ร้อยละ -17.8 จากยอดสั่งผลิตที่ลดลงร้อยละ -30.8 และมูลค่าการผลิต 4,186 ล้านยูโร ลดลงร้อยละ -11.1

1.2 มูลค่าการจำหน่ายในประเทศ

ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา (2549 — 2551) การค้าปลีกสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเยอรมนีมีมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 59,508 ล้านยูโร และในปี 2551 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 60,275 ล้านยูโร (ประมาณ 3.01 ล้านล้านบาท) โดยเป็นเสื้อผ้าสตรีมูลค่า 28,650 ล้านยูโร (ประมาณ 1.432 ล้านล้านบาท) ประกอบด้วยเสื้อผ้าบุรุษมูลค่า 15,280 ล้านยูโร (ประมาณ 764,000 ล้านบาท) เสื้อผ้าเด็กมูลค่า 2,715 ล้านยูโร (ประมาณ 135,750 ล้านบาท) เคหะสิ่งทอมูลค่า 7,700 ล้านยูโร (ประมาณ 385,000 ล้านบาท)

มูลค่าการจำหน่ายสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปในปี 2547 - 2551

ล้านยูโร

                    ปี 2547     ปี 2548     ปี 2549     ปี 2550     ปี 2551   +/ %
เสื้อผ้าสตรี            25,160     25,500     26,700     27,950     28,650    2.5
เสื้อผ้าบุรุษ            13,790     14,130     14,420     15,110     15,280    1.3
เสื้อผ้าเด็ก             3,615      2,640      2,625      2,715      2,715    0.0
เคหะสิ่งทอ             8,180      8,100      8,190      7,930      7,700    2.9
สิ่งทออื่นๆ              5,530      6,390      6,340      6,270      5,930    5.4
  รวม               56,275     56,760     58,275     59,975     60,275    0.5
ที่มา: สมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอเยอรมัน

สำหรับปี 2552 ตลอดทั้งปี คาดว่ามูลค่าการค้าปลีกเสื้อสำเร็จรูปจะใกล้เคียงกับปี 2551 ที่ผ่านมาโดยมีแนวโน้มว่าเสื้อผ้าสวมใส่เล่นกีฬาจะมียอดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้มูลค่าในภาพรวมไม่ลดลงมากนัก ทั้งนี้ราคาสินค้าต่อหน่วยจะค่อนข้างลดลงเล็กน้อย ในปี 2551 พบว่า ราคาสินค้าต่อหน่วยเป็น 33.7 ยูโรลดลงจากปีก่อน 1ยูโร

1.3 ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป

โครงสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป ได้แก่ ห้าง/ร้านค้าปลีกกว่าร้อยละ 81-85 และเป็นการจำหน่ายผ่านทางอินเตอร์เน็ต/การสั่งซื้อกว่าร้อยละ 14-19 ซึ่งในปัจจุบันได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นส่วนประเภทของห้าง/ร้านค้าปลีกที่ผู้บริโภคนิยมได้แก่ ร้านค้าปลีกเฉพาะสินค้าเสื้อผ้า/แฟชั่นกว่าร้อยละ 61 ส่วนที่เหลือจะซื้อผ่านห้าง/ร้านค้าทั่วไป ซุปเปอร์มาร์เก็ต โดยตัวเลขมกราคม — สิงหาคม 2552 พบว่า มูลค่าการจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกสิ่งทอและเสื้อผ้าลดลงร้อยละ -2.3 และร้านค้าปลีกทั่วไปลดลงร้อยละ -1.6

Top 10 ผู้ค้าปลีกสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเยอรมนีปี 2550

ล้านยูโร ขยายตัว %

1 Arcandor AG (i.e. Karstat)              4,170       0.9
2 Otto GmbH & Co. KG                      3,406*      4.0
3 Metro Group (i.e.Kauhof, METRO,...)     3,077*      n.a.
4 C&A, Dusseldorf                         2,933      +4.4
5 Hennes&Mauritz, Hamburg (H&M)           2,395     +10.1
6 Peek&Cloppenburg, Dusseldorf            1,511*     +1.0
7 Tengelmann Gruppe                       1,498*    +17.6
8 Aldi Inc.                               1,050*   +/-0.0
9 Lidl                                    1,050*     +4.0
10 Tchibo Holding AG (Maxingvest AG)      1,023*      5.0
ที่มา: Textil Wirtschaft
  • ตัวเลขโดยประมาณ
2. การนำเข้า

แม้ว่าเยอรมนีจะเป็นผู้ผลิตสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปเอง แต่ผลิตได้ไม่เพียงพอกับการบริโภคในประเทศรวมถึงความไม่คุ้มค่ากับการผลิตในประเทศ ประกอบกับการที่เยอรมนียังเป็นทั้งผู้ค้า/ผู้ส่งออกรายใหญ่ด้วย จึงทำให้มีการนำเข้าและส่งออกสินค้านี้เป็นปริมาณและมูลค่าสินค้าสูง นับเป็นตลาดที่สำคัญแห่งหนึ่ง

2.1 มูลค่าการนำเข้า

ในระยะ 3 ปี ที่ผ่านมา (2549 — 2551) เยอรมนีนำเข้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 33,523.06 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2551 มีอัตราขยายตัวร้อยละ 9.14 และในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 25,990.62 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ -9.96 แหล่งนำเข้าที่สำคัญ 3 ประเทศแรก ได้แก่ จีน ในระยะ 3 ปี ที่ผ่านมา (2549 — 2551) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 6,952.59 หรือร้อยละ 20.74 ของการนำเข้าทั้งหมด และในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) นำเข้าเป็นมูลค่า 6,623.87 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.71 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 25.49 รองลงมาเป็น ตุรกี มีการนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 3,701.35 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 11.04 ของการนำเข้ารวม สำหรับปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 2,443.89 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -19.07 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 9.4 จาก บังคลาเทศ มีการนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 1,831.21 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 1,762.06 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.63 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6.78

เยอรมนีนำเข้าจากไทย เป็นอันดับที่ 28 เป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 229.85 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.69 และในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 165.84 ล้านเหรียญสหรัฐมูลค่าลดลงร้อยละ -8.54 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.64

สำหรับประเทศคู่แข่งอื่นจากอาเชียนที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าไทย เช่น กัมพูชา เยอรมนี นำเข้าเป็นอันดับที่ 27 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.71 เวียดนาม นำเข้าเป็นอันดับที่ 16 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.42 อินโดนีเซีย นำเข้าเป็นอันดับที่ 14 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.85 ส่วนประเทศอาเซียนที่มีส่วนแบ่งตลาดน้อยกว่าไทย เช่น พม่า เยอรมนีนำเข้าเป็นอันดับที่ 40 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.24 มาเลเซีย นำเข้าเป็นอันดับที่ 45 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.15 ลาว นำเข้าเป็นอันดับที่ 46 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.14 ฟิลิปปินส์ นำเข้าเป็นอันดับที่ 51 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.11

2.2 การนำเข้าจำแนกตามชนิดของสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป

2.2.1 เสื้อผ้าสำเร็จรูปประเภทผ้าทอ ในระยะ 3 ปี ที่ผ่านมา (2549 — 2551) เยอรมนีนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 15,735.62 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.94 ของการนำเข้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด สำหรับปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) เยอรมนีนำเข้าเป็นมูลค่า 12,437.03 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ -8.56 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 47.85 ของการนำเข้าสิ่งทอและเสื้อผ้าหมด แหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน มีการนำเข้าในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) เป็นมูลค่า 3,747.29 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าลดลงร้อยละ -1.09 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 30.13 รองลงมาเป็น ตุรกี มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 760.57 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงร้อยละ -20.93 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6.12 จาก เนเธอร์แลนด์ มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 665.79 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -2.23 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5.35 จาก บังคลาเทศ มีการนำเข้าเป็นมูลค่า649.66 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.28 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5.22 จาก ไทย มีการนำเข้าเป็นอันดับที่ 35 เป็นมูลค่า 38.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -14.82 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.31

2.2.2 เสื้อผ้าสำเร็จรูปทำด้วยผ้าถัก ในระยะ 3 ปี ที่ผ่านมา (2549 — 2551) เยอรมนีนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 10,939.92 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.63 ของการนำเข้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด และในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) เยอรมนีนำเข้าเป็นมูลค่า 11,044.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ -6.07 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 42.49 ของการนำเข้าสิ่งทอและเสื้อผ้าทั้งหมดแหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน มีการนำเข้าในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) เป็นมูลค่า 2,717.52 ล้านเหรียญสหรัฐมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.39 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 24.61 รองลงมาเป็น ตุรกี มีการนำเข้าเป็นมูลค่า1,556.74 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -18.14 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 14.1 จาก บังคลาเทศ มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 1,111.92 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.92 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 10.07 จาก ไทยมีการนำเข้าเป็นอันดับที่ 18 เป็นมูลค่า 114.21 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -1.08 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.03

2.2.3 ผ้าผืนใยสังเคราะห์ ในระยะ 3 ปี ที่ผ่านมา (2549 — 2551) เยอรมนีนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 2,069.91 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.17 ของการนำเข้าสิ่งทอและเสื้อผ้าทั้งหมด และในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) เยอรมนีนำเข้าเป็นมูลค่า 1,219.54 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ -32.11 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6.06 ของการนำเข้าสิ่งอและเสื้อผ้าทั้งสิ้น แหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ อิตาลี มีการนำเข้าในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) เป็นมูลค่า 211.01 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าลดลงร้อยละ -24.86 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 17.3 รองลงมาเป็น เนเธอร์แลนด์ มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 173.27 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -36.59 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 15.21 จาก จีน มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 82.94 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ-4.22 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6.09 จาก ไทย มีการนำเข้าเป็นอันดับที่ 29 เป็นมูลค่า 4.16 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.92 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.34

2.2.4 ผ้าผืนทอ ในระยะ 3 ปี ที่ผ่านมา (2549 — 2551) เยอรมนีนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 1,000.93 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.99 และในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) เยอรมนีนำเข้าเป็นมูลค่า836.41 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 3.22 ของการนำเข้าสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าทั้งสิ้น มูลค่าการนำเข้าลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ -25.97 แหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ อิตาลี มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 169.17 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าลดลงร้อยละ -19.65 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 20.23 รองลงมาเป็น ออสเตรีย มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 79.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -22.94 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 9.13 จาก ตุรกี มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 70.85 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -16.04 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 8.47 จาก ไทยมีการนำเข้าเป็นอันดับที่ 18 เป็นมูลค่า 7.54 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ — 46.1 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.24

2.2.5 ผ้าผืนถัก ในระยะ 3 ปี ที่ผ่านมา (2549 — 2551) เยอรมนีนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ579.65 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.73 และในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) เยอรมนีนำเข้าเป็นมูลค่า 389.95 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 1.5 ของการนำเข้าสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าทั้งหมด มูลค่าการนำเข้าลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ -20.62 แหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ อิตาลี มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 111.35 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าลดลงร้อยละ -12.35 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 25.86 รองลงมาเป็น ออสเตรีย มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 47.36 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -19.97คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12.15 จาก จีน มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 26.46 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -12.79 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6.79 จาก ไทย มีการนำเข้าเป็นอันดับที่ 30 เป็นมูลค่า 0.34 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ — 56.33 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.09

2.2.6 ผ้าไหม ในระยะ 3 ปี ที่ผ่านมา (2549 — 2551) เยอรมนีนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 117.62 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.35 และในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) เยอรมนีนำเข้าเป็นมูลค่า 63.48 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 0.24 ของการนำเข้าสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าทั้งสิ้น มูลค่าการนำเข้าลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ -28.47 แหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ อิตาลี มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 25.48 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงร้อยละ -7.58 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 40.15 รองลงมาเป็น จีน มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 18.77 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 29.56 ลดลงร้อยละ -39.92 จาก อินเดีย มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 9.16ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -37.36 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 14.43 จาก ไทย มีการนำเข้าเป็นอันดับที่ 9 เป็นมูลค่า 0.69 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -52.1 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.09

3. การส่งออก

3.1 มูลค่าการส่งออก

ในระยะ 3 ปี ที่ผ่านมา (2549 — 2551) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 21,963.04 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) มีการส่งออกเป็นมูลค่า 16,025.29 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ -17.91 ประเทศที่เยอรมนีส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้าไปส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรปเอง 10 อันดับแรก ได้แก่ ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส โปแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม อิตาลี รัสเซีย สเปน อังกฤษ ทั้งนี้ เยอรมนีส่งออกมาไทยเป็นอันดับที่ 62 มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.06 ทั้งนี้ จากมูลค่าการส่งออกนั้นสูงกว่ามูลค่าการผลิตในประเทศ แสดงให้เห็นว่า มีการนำเข้าและส่งออกต่อไปยังประเทศอื่นด้วย

3.1.1 เสื้อผ้าสำเร็จรูปทำด้วยผ้าทอ ในระยะ 3 ปี ที่ผ่านมา (2549 — 2551) เยอรมนีส่งออกเสื้อผ้าชนิดนี้เป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 9,248.91 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) เยอรมนีส่งออกเป็นมูลค่า7,173.05 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 57.71 ของการส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้าทั้งสิ้น มูลค่าลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ -15.62 ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ออสเตรีย มีการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกปี 2552 เป็นมูลค่า 1,122.23 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 15.65 มูลค่าลดลงร้อยละ -10.52 รองลงมาเป็น เนเธอร์แลนด์ มีการส่งออกเป็นมูลค่า 955.44 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 13.32 มูลค่าลดลงร้อยละ -12.7 ฝรั่งเศส ส่งออกเป็นมูลค่า 748.88 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 10.44 มูลค่าลดลงร้อยละ -11.04 ไทย มีการส่งออกเป็นมูลค่า 2.06 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าลดลงร้อยละ -2.54 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.03 เป็นอันดับที่ 65

3.1.2 เสื้อผ้าสำเร็จรูปทำด้วยผ้าถัก ในระยะ 3 ปี ที่ผ่านมา (2549 — 2551) เยอรมนีส่งออกเสื้อผ้าชนิดนี้เป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 6,572.23 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) เยอรมนีส่งออกเป็นมูลค่า5,432.73 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 33.9 ของการส่งออกสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งสิ้น มูลค่าลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ -8.87 ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ออสเตรีย มีการส่งออกเป็นมูลค่า 912.47 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าลดลงร้อยละ -2.01 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 16.8 รองลงมาเป็น เนเธอร์แลนด์ มีการส่งออกเป็นมูลค่า 670.45 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -7.85 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12.34 ฝรั่งเศส มีการส่งออกเป็นมูลค่า 509.62 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -9.55 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 9.38 ไทย มีการส่งออกเป็นมูลค่า 1.15 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -3.46 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.02 เป็นอันดับที่ 64

3.1.3 ผ้าใยสังเคราะห์ ในระยะ 3 ปี ที่ผ่านมา (2549 — 2551) เยอรมนีส่งออกเสื้อผ้าชนิดนี้เป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 3,295.83 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) เยอรมนีส่งออกเป็นมูลค่า 1,732.73 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 10.81 ของการส่งออกสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งสิ้น มูลค่าลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ -37.06 ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ โปแลนด์ มีการส่งออกเป็นมูลค่า 178.17 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าลดลงร้อยละ -47.53 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 10.28 รองลงมาเป็น เนเธอร์แลนด์ มีการส่งออกเป็นมูลค่า 139.44 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -43.07 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 8.05 ฝรั่งเศส มีการส่งออกเป็นมูลค่า 114.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -38.98 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6.6 ไทย มีการส่งออกเป็นมูลค่า 1.65 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -55.82 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.1 เป็นอันดับที่ 60

3.1.4 ผ้าผืนทอ/ผ้าฝ้าย ในระยะ 3 ปี ที่ผ่านมา (2549 — 2551) เยอรมนีส่งออกเสื้อผ้าชนิดนี้เป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 1,548.84 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) เยอรมนีส่งออกเป็นมูลค่า 878.69ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 5.48 ของการส่งออกสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งสิ้น มูลค่าลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ -28.63 ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ โปแลนด์ มีการส่งออกเป็นมูลค่า 101.07 ล้านเหรียญสหรัฐมูลค่าลดลงร้อยละ -28.81 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 11.5 รองลงมาเป็น โรมาเนีย มีการส่งออกเป็นมูลค่า76.17 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -26.32 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 8.67 ออสเตรีย มีการส่งออกเป็นมูลค่า 61.97 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -28.3 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 7.05 ไทย มีการส่งออกเป็นมูลค่า 1.21 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -43.47 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.14 เป็นอันดับที่ 52

3.1.5 ผ้าผืนถัก ในระยะ 3 ปี ที่ผ่านมา (2549 — 2551) เยอรมนีส่งออกเสื้อผ้าชนิดนี้เป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 1,183.14 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) เยอรมนีส่งออกเป็นมูลค่า 745.61 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 4.65 ของการส่งออกสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งสิ้น มูลค่าลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ -24.63 ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ฮังการี มีการส่งออกเป็นมูลค่า 83.07 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าลดลงร้อยละ -15.35 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 11.14 รองลงมาเป็น ออสเตรีย มีการส่งออกเป็นมูลค่า 60.96 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -17.26 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 8.18 โปแลนด์ มีการส่งออกเป็นมูลค่า 57.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ —29.95 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 7.67 ไทย มีการส่งออกป็นมูลค่า 2.61 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -39.13 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.35 เป็นอันดับที่ 44

4. การนำเข้าจากไทย

ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2549 - 2551) เยอรมนีนำเข้าสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากไทยคิดเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 229.85 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดแป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.67 และในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 165.84 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ -8.54 เมื่อเทียบกับปริมาณการตลาดทั้งหมดของสินค้าประเภทนี้ในเยอรมนีแล้วนับว่าสินค้าของไทยยังมีส่วนแบ่งตลาดที่น้อยมากประมาณร้อยละ 0.64 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้ารายการนี้ของเยอรมนี และนับเป็นประเทศผู้นำเข้าอันดับ 28 โดยสินค้าไทยส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างผลิตภายใต้สินค้าแบรนด์ของลูกค้าเกือบทั้งหมด

สินค้ารายการสำคัญๆ ที่เยอรมนีนำเข้ามากจากไทย ได้แก่

4.1 เสื้อผ้าทำด้วยผ้าถัก มีการนำเข้าในระยะ 3 ปี (2549 — 2551) เป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 143.65 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 114.21 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 64.16 ของการนำเข้าสิ่งทอและเสื้อผ้าจากไทย มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ -1.08

ประเภทสินค้าในกลุ่มนี้ที่มีสัดส่วนมาก ได้แก่ Sweater/Pullover (ร้อยละ 23.89 ของการนำเข้าสิ่งทอและเสื้อผ้าของไทยทั้งหมด) T-Shirt (ร้อยละ 15.25) Men’s/Boys’ Shirt (ร้อยละ 6.47) ส่วนที่เหลือเป็น Women/girl suit (ร้อยละ 6.07) Women/girl slip(ร้อยละ 4.02) blouse (ร้อยละ 3.2) Women/girl overcoat (ร้อยละ 3.03) Track suit/ski suit (ร้อยละ 2.34) ซึ่งสินค้าที่นำเข้าเพิ่มขึ้นมาก คือ Men’s/Boys’ Shirt (เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 15.3) Women/girl blouse (เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 29.92) Overcoat (เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 97.62) Babies Garment (เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.07)

เยอรมนีนำเข้าสินค้าประเภทนี้จากไทยเป็นอันดับที่ 18 ซึ่งไทยยังเป็นรองจากประเทศคู่แข่งในเอเชีย ได้แก่ กัมพูชา(อันดับที่ 17) อินโดนีเซีย (อันดับที่ 15) อินเดีย (อันดับที่ 6) บังคลาเทศ(อันดับที่ 3) จีน(อันดับที่ 1) ส่วนอันดับที่ด้อยกว่าไทยและมีโอกาสแย่งส่วนแบ่งตลาดไปได้ ได้แก่ สเปน(อันดับที่ 19) โรมาเนีย (อันดับที่ 20) เวียดนาม(อันดับที่ 21) ศรีลังกา(อันดับที่ 24)

4.2 เสื้อผ้าทอ มีการนำเข้าในระยะ 3 ปี (2549 - 2551) คิดเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 58.44 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 38.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 23.45 ของการนำเข้าจากไทย มูลค่าการนำเข้าลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ -14.82

ประเภทสินค้าในกลุ่มนี้ที่มีสัดส่วนมาก ได้แก่ Bra (ร้อยละ 7.02 ของการนำเข้าสิ่งทอและเสื้อผ้าของไทยทั้งหมด) Suit (ร้อยละ 3.83) Women/girl suit (ร้อยละ 3.58) Women/girl slip (ร้อยละ 4.02) Track suit/ski suit (ร้อยละ 1.65) สำหรับสินค้าที่มีอัตรานำเข้าเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ Women/girl suit (เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10.97) Track suit/ski suit (เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 27.31), Overcoat (เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 61.89) นอกจากนี้มีสินค้าที่เพิ่มขึ้นมาก (มากกว่าร้อยละ 40-127) แต่มีสัดส่วนนำเข้าน้อยมาก (น้อยกว่าร้อยละ 1) ได้แก่ Men’s/Boys’ Shirt , Babies Garment, Shawl/Scraf, Tie/Bow, Hanckerchief

เยอรมนีนำเข้าสินค้าประเภทนี้จากไทยเป็นอันดับที่ 35 ซึ่งไทยยังเป็นรองจากประเทศคู่แข่งในเอเชีย ได้แก่ พม่า (อันดับที่ 29) ฮ่องกง (อันดับที่ 27) ศรีลังกา (อันดับที่ 26) ปากีสถาน (อันดับที่ 19) อินโดนิเซีย(อันดับที่ 13) เวียดนาม (อันดับที่ 10) อินเดีย (อันดับที่ 8) บังคลาเทศ(อันดับที่ 4) และจีน(อันดับที่ 1)

4.3 ผ้าผืนทอ มีการนำเข้าในระยะ 3 ปี (2549 - 2551) คิดเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 18.51 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 7.54 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 4.54 ของการนำเข้าจากไทย มูลค่าการนำเข้าลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ -46.1

เยอรมนีนำเข้าสินค้าประเภทนี้จากไทยเป็นอันดับที่ 18 ซึ่งไทยยังเป็นรองจากประเทศคู่แข่งในเอเชีย ได้แก่ อินโดนีเซีย (อันดับที่ 16) จีน (อันดับที่ 10) อินเดีย(อันดับที่ 6)

4.4 ผ้าใยสังเคราะห์ มีการนำเข้าในระยะ 3 ปี (2549 - 2551) คิดเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 6.74 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 4.16 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 2.51 ของการนำเข้าจากไทย มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 3.92

เยอรมนีนำเข้าสินค้าประเภทนี้จากไทยเป็นอันดับที่ 29 ซึ่งไทยยังเป็นรองจากประเทศคู่แข่งในเอเชีย ได้แก่ มาเลเซีย(อันดับที่ 28) อินเดีย(อันดับที่ 26) อินโดนีเซีย(อันดับที่ 25) ไต้หวัน(อันดับที่ 20) เกาหลีใต้(อันดับที่ 15) ญี่ปุ่น(อันดับที่ 11) จีน(อันดับที่ 3)

4.5 ผ้าไหม มีการนำเข้าในระยะ 3 ปี (2549 - 2551) คิดเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 2.58 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 0.69 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 0.42 ของการนำเข้าจากไทย มูลค่าการนำเข้าลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ -52.1

เยอรมนีนำเข้าสินค้าประเภทนี้จากไทยเป็นอันดับที่ 9 ซึ่งไทยมีศักยภาพต่ำกว่าคู่แข่งในเอเชียได้แก่ อินเดีย(อันดับที่ 3) จีน(อันดับที่ 2) ส่วนประเทศเอเชียอื่นที่ศักยภาพต่ำกว่าไทยมาก ได้แก่ ฮ่องกง (อันดับที่ 16) ญี่ปุ่น(อันดับที่ 18) เกาหลีใต้(อันดับที่ 26) มาเลเซีย(อันดับที่ 31) อินโดนีเซีย(อันดับที่ 32) เวียดนาม (อันดับที่ 34)

4.6 ผ้าผืนถัก มีการนำเข้าในระยะ 3 ปี (2549 - 2551) คิดเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 0.57 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 0.34 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 0.2 ของการนำเข้าจากไทย มูลค่าการนำเข้าลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ -56.33

เยอรมนีนำเข้าสินค้าประเภทนี้จากไทยเป็นอันดับที่ 30 ซึ่งไทยมีศักยภาพต่ำกว่าคู่แข่งในเอเชียได้แก่ เวียดนาม (อันดับที่ 29) ไต้หวัน(อันดับที่ 21) ญี่ปุ่น(อันดับที่ 20) เกาหลีใต้(อันดับที่ 15) จีน(อันดับที่ 3)

5. แนวโน้มของตลาด พฤติกรรมการบริโภค

5.1 พฤติกรรมผู้บริโภค

  • จากการศึกษาของ German Consultant Institute BBDO รายงานว่า คนเยอรมันจะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น (ประชากรอายุ 15-64 ปีมีสัดส่วนร้อยละ 60 และประชากรอายุมากกว่า 64 ปี มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 20) อัตราการเกิดของทารกต่ำมาก (จากปี 2543-2550 ลดลงร้อยละ -25%) และคนมีแนวโน้มจะอยู่เป็นโสดมากขึ้น
  • จากการวิเคราะห์ของ Euromonitor คาดว่า ตลาดเสื้อผ้าของเยอรมนียังมีการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ในด้านปริมาณสินค้า และร้อยละ 0.6 ในด้านมูลค่าสินค้า หรือมีมูลค่าประมาณ 43 พันล้านยูโรในปี 2552 โดยประเมินว่าจะมีการเพิ่มการใช้จ่ายในช่วงลดราคาปลายปีและความมั่นใจของผู้บริโภคที่คาดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น
  • สืบเนื่องจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจการเงินทั่วโลก ส่งผลให้คนเยอรมันมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น โดยสนใจราคาสินค้าที่ถูกลงและพิจารณาราคาควบคู่ไปกับคุณภาพที่เหมาะสมกัน(Price-Quality Ratio) คนเยอรมันจะไม่ซื้อเพราะมีความต้องการเหมือนแต่ก่อนแต่จะตัดสินใจซื้อของเมื่อการการลดราคาหรือ
มีการส่งเสริมการขายเป็นพิเศษ และมีความนิยมในสินค้าแบรนด์เนมลดลง ตัวอย่างเช่น หากจะตัดสินใจซื้อสินค้าแบรนด์เนมA ก็จะรอให้ลดราคาก่อนหรือจะค้นหาสินค้าราคาพิเศษตาม Internet หรือ อาจเปลี่ยนไปซื้อสินค้า แบรนด์อื่นที่ราคถูกกว่าจากร้านค้าปลีกราคาถูก เช่น Textile Discounter ก็ได้ จึงส่งผลให้สินค้าราคา
แพง Premium Priced Wear หรือ Designer Brand ขายได้ยากขึ้น สินค้าPrivate Labelได้รับความสนใจมากขึ้นนอกจากนี้กลุ่มแบรนด์เนมดังๆ มีช่วงเวลาลดราคาน้อยกว่า เช่น มักจะลดราคาเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลเพียงปีละ 2 ครั้งในขณะที่ Textile Discounter มีการจัดรายการลดราคาอยู่ตลอดทั้งปี
  • ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการสร้างกระแสแบรนด์สินค้าได้จากไลฟ์สไตล์ที่คนเยอรมันสนใจ ได้แก่ กีฬา (โดยเฉพาะฟุตบอล) หรือรายการทีวียอดนิยม (เช่น รายการGermany’s Next Top Model, Gallileo) ดังนั้นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าหลายแบรนด์ได้ใช้ การโฆษณา/สปอนเซอร์ผ่านนักกีฬา นักแสดง ผู้ร่วมรายการทีวี
  • แม้ว่าแหล่งจำหน่ายสินค้าที่คนเยอรมันนิยมซื้อเสื้อผ้า/แฟชั่นมากที่สุด ได้แก่ ร้านค้าเสื้อผ้าแฟชั่น
โดยเฉพาะซึ่งมีสัดส่วนตลาดกว่าร้อยละ 80-85 แต่จากข้อมูลของ German Association of Direct Mail Selling พบว่า คนเยอรมันสนใจซื้อสินค้า On-line หรือ Mail Order ผ่านทางอินเตอร์เน็ต รายการสั่งซื้อทางทีวี เช่น QVC หรือแค็ตตาล็อกมากขึ้น ในปี 2552 มีมูลค่าซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางนี้กว่า 4,600 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 18 และประเภทสินค้าที่นิยมสั่งซื้อนี้จะมีสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่นในอันดับต้นๆ ดังนั้น เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า (เช่น Hugo Boss, Gerry Weber,..) ร้านค้าปลีกเสื้อผ้าทั้งตลาดราคากลาง (Mid-Priced Retailer เช่น H&M, C&A, Reno) และราคาถูก (เช่น Discounter- Kik, Takko, Aldi, Lidl) ต่างก็เพิ่มวิธีการเสนอขายจากการสั่งซื้อจากทีวี/อินเตอร์เน็ต/ไปรษณีย์ นอกเหนือจากร้านค้าปลีกด้วย
  • สไตล์การใช้ชีวิตสมัยใหม่จะเน้น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มCareer-Oriented เนื่องจากคนวัยทำงานเป็นกลุ่มใหญ่มีกำลังซื้อและช่วงปีของการทำงานนานขึ้น(ปัจจุบันกำหนดปีเกษียณอายุคือ 67 ปี) และ กลุ่ม Leisurewear เนื่องจาก Global Warming ทำให้มีช่วงเวลาอากาศร้อนมากขึ้น ประกอบกับคนเยอรมันให้ความ
สนใจกับคุณภาพชีวิตมากขึ้น ทำให้เสื้อผ้าใส่เล่นยามพักผ่อนสันทนาการกลางแจ้งหรือชุดกีฬาขายได้มากขึ้นเช่นเดียวกับ Fashionable Formal Office Outfits เช่น Suit ทั้งสำหรับผู้หญิงและผู้ชาย ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นส่วนวัยรุ่นเยอรมันยังคงตามแฟชั่น/ดารานักร้องจากสหรัฐฯ ขณะนี้นิยมสไตล์ Trashy, Vintage
  • เนื่องจากความใส่ใจในคุณภาพชีวิตของคนเยอรมันในด้านสุขภาพและสุขอนามัย ทำให้วัตถุดิบในการผลิตเสื้อผ้าจะต้องมีคุณภาพสูง ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และช่วยให้การสวมใส่สบายมากยิ่งขึ้น ดังนั้นผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น ควบคุมอุณหภูมิ การระบายเหงื่อ การซักรีดง่าย ฯลฯ จะเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น รวมทั้งคนเยอรมันให้ความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมมาก สินค้าที่ใช้จะต้องเป็นสินค้าที่ทำจากผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติ หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็น Eco-Friendly ทั้งจากการผลิต/การใช้/การทำลายด้วย
  • จากข้อมูลปี 2546-2551 พบว่า ประเภทสินค้าที่ได้รับสนใจจากผู้บริโภคมาก ได้แก่ เสื้อผ้าผู้ชายมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 โดยเฉพาะเสื้อผ้ากีฬา/การเกง ส่วนเสื้อผ้าผู้หญิงนั้นเติบโตร้อยละ 1.2 ที่ควรให้ความสนใจ คือ เสื้อผ้าชุดทำงานที่เติบโตมากขึ้นกว่าร้อยละ 9.7 เนื่องจากมีผู้หญิงทำงานมากขึ้นและกลุ่มนี้ให้ความสนใจแต่งตัวที่เป็นแฟชั่นมากขึ้น ต้องการความเป็นเอกลักษณ์ดูเด่น/มีสไตล์ของตนเอง

5.2 แนวโน้มของการจำหน่ายเสื้อผ้าในตลาดเยอรมนี

จากการวิเคราห์ของ Euromonitor คาดว่า การจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเยอรมนีในปี 2551-2556 ตลาดค่อนข้างเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในด้านปริมาณจำหน่ายสินค้า คือบริโภคประมาณ 1,300-1,325 ล้านชิ้นต่อปี โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีเพียงร้อยละ 0.5 และในระยะเวลาดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นรวมเพียงร้อยละ 2.4 เท่านั้นในขณะที่มูลค่าการจำหน่ายสินค้าจะลดลงจาก 40,186.3 ล้านยูโรในปี 2551 เป็น 37,315 ล้านยูโรในปี 2556 ซึ่งลดลงร้อยละ -7.1 หรือเฉลี่ยลดลงร้อยละ -1.5 ต่อปี เนื่องจากผู้บริโภคจะสนใจสินค้าที่มีราคาถูกลง

จากปี 2551-2556 ความเติบโตของตลาดในด้านมูลค่าสินค้าจะลดลงร้อยละ -6.1 แม้ว่าจะมีการบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ก็ตาม ประเภทสินค้าเสื้อผ้าผู้ชายที่คาดว่าจะอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น ได้แก่ กางเกงกีฬา, underwear, nightwear ส่วนเสื้อผ้าผู้หญิงมูลค่าตลาดก็ลดลงเช่นกัน คือ ลดลงร้อยละ -6.6 แม้ว่าจะมีการบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 สินค้าที่ยังเติบโตได้คือ ชุดทำงาน dresses and skirts และ shirts and blouses แต่ราคาสินค้าต่อหน่วยจะลดต่ำลงมาก

6. ช่องทางการนำเข้าสู่ตลาด

ช่องทางที่เยอรมนีนำเข้าสินค้าสิ่งทอ/ผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศ จำแนกได้ 4 ช่องทางดังนี้

(1) นำเข้าโดยผู้นำเข้าสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปโดยเฉพาะ เพื่อส่งมอบให้แก่ร้านค้าปลีก ผู้ค้าส่งรายใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจ Mail Order และร้านค้าประเภท Hypermarket เป็นต้น นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งอาจทำการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศยุโรปอื่นที่ใกล้เคียง อาทิ ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส โปแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และรัสเซีย เป็นต้น

(2) นำเข้าโดยเอเย่นต์/บริษัทตัวแทนของร้านค้าขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า และธุรกิจประเภท Mail Order เพื่อจำหน่ายในร้านค้าที่เป็นสาขาของตนเอง และอีกส่วนหนึ่งส่งมอบให้แก่ร้านค้าปลีกและผู้ค้าส่งรายใหญ่

(3) นำเข้าโดยโรงงานผู้ผลิตหรือเจ้าของแบรนด์สินค้า โดยเป็น Order ที่โรงงานผู้ผลิตในเยอรมนีสั่งให้บริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศทำการผลิตให้ ส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งทอผ้าผืน

(4) นำเข้าโดยผู้ค้าปลีกรายย่อยต่างๆ เพื่อจำหน่ายในร้านค้าของตนเอง อาจเป็นการใช้แบรนด์ของร้านค้าเองหรือใช้แบรนด์สินค้าจากผู้ผลิต กลุ่มนี้อาจจัดอยู่ในกลุ่ม Private Label

7. กฏระเบียบ ข้อจำกัดทางการค้า

7.1 ข้อกำหนดพื้นฐานเกี่ยวกับสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปจะคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก ได้แก่ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้สารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การฟอก การย้อมสี เป็นต้น โดยจะต้องเป็นสารที่สากลยอมรับและไม่เกิดอันตรายกับผู้บริโภค เยอรมนีมีกฎระเบียบข้อจำกัดต่างๆที่รัดกุม เข้มงวดมาก และมักจะเป็นประเทศแรกที่ค้นพบว่าสารเคมีที่เดิมอนุญาตให้ใช้กันได้ทั่วไป มีส่วนทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ส่งผลให้มีการสั่งห้ามมิให้นำมาใช้ในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม จากการที่เยอรมนีเป็นประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป การใช้กฏเกณฑ์ใดๆ จะต้องผ่านการยอมรับของคณะกรรมการสหภาพยุโรปก่อนจึงจะมีผลใช้บังคับได้

7.2 ข้อกำหนดอีกประการหนึ่ง คือ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยพยายามไม่ใช้หรือลดปริมาณการใช้สารเคมี สารสังเคราะห์ต่างๆ ในแต่ละขบวนการต่างๆ ของการผลิต เป็นต้น วิธีการนี้นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์และปกป้องสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีผลในด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค อีกด้วย เช่นลดการเป็นโรคภูมิแพ้ โรคผิวหนัง เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันเป็นประเด็นที่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

8. ภาษีนำเข้า/โควต้า

อัตราภาษีนำเข้าสินค้าสิ่งทอ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มของเยอรมัน เป็นอัตราภาษีเดียวกันกับที่ใช้ภายในสหภาพยุโรป ดังนี้

1. สินค้าประเภทเส้นด้าย รวมทั้งวัตถุดิบเพื่อการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป มีอัตราระหว่างร้อยละ 0-7.0

2. ผ้าผืนโดยทั่วไปประมาณร้อยละ 8 อัตราสูงสุดร้อยละ 10.0

3. เสื้อผ้าสำเร็จรูปประมาณร้อยละ 4 — 12

4. ส่วนประกอบอื่นๆ ถุงมือ ถุงเท้าประมาณร้อยละ 6 อัตราภาษีนำเข้าดังกล่าวข้างต้นเป็นอัตราภาษีปกติ ปัจจุบันมีการลดอัตราภาษีให้กับสินค้าที่นำเข้า จากกลุ่มประเทศต่างๆ แตกต่างกันไป ดังนี้

1. ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และบางประเทศในยุโรปกลางไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า

2. ประเทศต่างๆ ในอัฟริกาและอเมริกาใต้ และบางประเทศในยุโรปกลาง และยุโรปตะวันออกเสียภาษีนำเข้าร้อยละ 0 - 15 ของอัตราปกติ

3. ประเทศอุตสาหกรรมเสียภาษีในอัตราปกติ

การที่จะได้รับสิทธิพิเศษเพื่อเสียภาษีนำเข้าในอัตราที่ต่ำกว่าปกติ จะต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิด (Certificate of Origin) Form A รับรองว่าเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศนั้นๆ โดยหน่วยงานในแต่ละประเทศตามที่ได้ระบุไว้ในข้อตกลงสิ่งทอเป็นผู้ออกหนังสือรับรองดังกล่าว นอกจากนี้สำหรับ บางประเทศ ยังคงมีการจำกัดปริมาณการนำเข้าโดยกำหนดเป็นโควต้านำเข้าตามข้อตกลงพิเศษ เช่น กับประเทศจีน สำหรับสินค้าจากไทยอนุญาตให้นำเข้าได้โดยเสรี และจะเสียภาษีนำเข้าในอัตราระหว่างร้อยละ 0 — 12.0 ตามแต่พิกัดของสินค้าที่นำเข้า

9. จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และข้อจำกัดของสินค้าไทยในตลาดเยอรมนี

**จุดแข็ง

  • ความครบวงจรของการผลิตสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าจากอุตสาหกรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำ (เส้นใย ผ้าผืนฟอกย้อม/พิมพ์ ตัดเย็บเสื้อผ้า ออกแบบ/แฟชั่น)
  • สามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางการผลิตและจำหน่ายในอาเซียน และเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ในการเชื่อมโยงการผลิตและ
การตลาดได้
  • สามารถผลิตสินค้าได้คุณภาพเป็นที่ยอมรับ

**จุดอ่อน

  • ต้นทุนการผลิต/การจำหน่ายสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าไทยสูง ทำให้ราคาเสนอขายสูงไม่สามารถแข่งขันได้ในสินค้าตลาดล่าง-กลาง
  • สินค้าไทยที่มีแบรนด์แฟชั่นของตัวเองจำหน่ายในต่างประเทศยังมีน้อยมาก ส่วนใหญ่ยังเป็นการรับจ้างผลิตสินค้าในแบรนด์ต่างประเทศ
  • ขาดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น การออกแบบผ้าจากเทคโนโลยีใหม่ๆ
  • สินค้าดีไซเนอร์แบรนด์ดังของไทยที่อยู่ในระดับสากลไม่สนใจเข้าสูตลาดเยอรมนี สนใจไปตลาดแฟชั่นอื่น

**โอกาส

  • คนเยอรมันสนใจสินค้าราคาและคุณภาพที่เหมาะสม และเปิดรับสินค้า Private Label มากขึ้น
  • หากมีการเจรจาการค้าเสรีอียู-อาเซียนสำเร็จ อาจมีปัจจัยสนับสนุนให้เยอรมนีสนใจใช้ไทยเป็นเครือข่ายในการผลิตและการตลาดเพิ่มขึ้น เพื่อลด

การพึ่งพาตลาดจีน

**ข้อจำกัด

  • เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของเยอรมันที่หดตัวลงประมาณร้อยละ 6 โดยเฉพาะด้านการส่งออก ที่ส่งผลต่อการผลิตและการจ้างงานในประเทศ ทำให้
แรงงานไม่มั่นใจสถานภาพการจ้างงานในอนาคตจึงประหยัดการใช้จ่ายในสินค้าที่ไม่จำเป็น
  • การแข่งขันในตลาดสูงมาก โดยเฉพาะด้านราคา มีคู่แข่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมากทั้งจากเอเชียเอง และประเทศในยุโรปตะวันออก
10. สรุปและข้อคิดเห็นเสนอแนะ

10.1 จากสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ตลาดสิ่งทอและสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเยอรมนีค่อนข้างถึงจุดอิ่มตัว ปริมาณการจำหน่ายในประเทศยังคงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยคือร้อยละ 0.9 โดยเพิ่มขึ้นสูงกว่ามูลค่าการจำหน่ายซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.6 เนื่องจากผู้บริโภคประหยัดขึ้นและซื้อสินค้าในราคาที่ต่ำลง ในขณะที่การผลิตในประเทศยังคงพอเติบโตอยู่ แม้ว่าจำนวนโรงงานผลิตจะลดลงร้อยละ -1.26 แต่มูลค่าการผลิตยังมีอัตราขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 5.09 ส่งผลให้มีการนำเข้าลดลง อย่างไรก็ตามเยอรมนีมีความจำเป็นต้องอาศัยการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นหลัก เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ โดยมีการนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 33,523.06 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่าการผลิตได้ในประเทศเกือบ 3 เท่า สำหรับปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 25,990.62 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ -9.96 โดยมีสินค้าจากจีนเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะ 3 — 4 ปีที่ผ่านมา สำหรับปี 2552 จีนมีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 25.5 มูลค่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยคือร้อยละ 0.73 ในขณะที่การนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่จะลดลง นอกจากนั้น ประเทศคู่ค้าที่กำลังมาแรง มีอัตรานำเข้าเพิ่มขึ้นมากและแย่งสัดส่วนตลาดได้เพิ่มมากขึ้นคือ บังคลาเทศ และโปแลนด์ ซึ่งเดิมในปี 2549 มีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 5.62 และ 2.41 แต่ในปี 2552 เพิ่มเป็นร้อยละ 6.78 และ 4.1 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามไทยยังครองสัดส่วนตลาดได้คงที่ในช่วง 3 ปีนี้คือ มีส่วนแบ่งตลาดระหว่าง 0.65-0.64 การนำเข้าจากไทยในช่วง 8 เดือนแรกปี 2552 คิดเป็นมูลค่า 165.84 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงร้อยละ -8.54 อย่างไรก็ตามไทยต้องพัฒนาศักยภาพการแข่งขันให้มากขึ้น มิฉะนั้นจะสูญเสียตลาดไปได้

10.2 จากการที่คนเยอรมันคำนึงถึงราคาของสินค้าเป็นปัจจัยหลักควบคู่กับคุณภาพสินค้า หากไทยจะแข่งขันกับสินค้าตลาดล่างจะทำได้ยากมาก สินค้าไทยจำเป็นต้องสร้างจุดเด่นจุดขายของตัวเองโดยเน้นคุณภาพการออกแบบแฟชั่นและราคาที่เหมาะสม พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการออกแบบ/การใช้วัตถุดิบ/ผ้าผืนที่มีคุณภาพประเภท HighTech มากขึ้น เช่น ผ้าควบคุมอุณหภูมิ เพื่อสุขอนามัย หรือใช้เส้นใยธรรมชาติ เป็นต้น ตลอดจนการพัฒนาด้านการตลาดที่สามารถตอบสนองลูกค้าได้ ตั้งแต่ความรวดเร็ว/ความแม่นยำ การติดต่อ/การส่งมอบสินค้า การนำเสนอสินค้าต่อผู้บริโภคEnd-user การให้บริการลูกค้าก่อนและหลังการขาย ตัวแทนการผลิตและการจำหน่าย เงื่อนไขในการทำธุรกิจร่วมกัน เป็นต้น รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นและไว้ใจในสินค้าและแบรนด์ จะต้องมีการพัฒนาสินค้าแบรนด์ไทยและนำเสนอในตลาด อาจร่วมกับแบรนด์สินค้าชั้นนำที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว สร้างเป็นคอลเลคชั่น/ดีไซน์เนอร์ของไทย และปรับการนำเสนอสินค้าจากการเป็นผู้รับจ้างผลิตเป็นOwn Brandname / Private Label หรือ Own Designed

10.3 การเข้าสู่ตลาดจะต้องแนะนำให้ลูกค้าเป้าหมายรู้และเชื่อมั่นในศักยภาพสินค้าไทยในมิติใหม่ๆ อาทิเช่น

  • ผ่านงานแสดงสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้า โดยปรับรูปแบบการเข้าร่วมงานให้สามารถเข้าร่วมในอาคารสำหรับสินค้าแบรนด์/ดีไซน์ ไม่ใช่อาคารผู้แสดงสินค้าแบบรับจ้างผลิต มีการนำเสนอสินค้าเป็นคอลเลคชั่น มีแฟชั่นโชว์หรือสื่อประชาสัมพันธ์ที่น่าสนใจ
  • เจาะพบลูกค้า/ผู้ซื้อ/ผู้นำเข้ากลุ่มเป้าหมายของผู้ส่งออกสินค้าแฟชั่นที่พร้อมปรับรูปแบบธุรกิจ/การนำเสนอสินค้าแบบใหม่ๆ เงื่อนไขการทำธุรกิจแบบใหม่ๆ เช่น การร่วมสร้างคอลเลคชั่น/แบรนด์สินค้าร่วมกัน มิใช่การนำเสนอสินค้าแบบเดิมที่มีอยู่เท่านั้น
  • เชิญนักข่าวแฟชั่นและลูกค้า/ผู้ซื้อ/ผู้นำเข้ารายสำคัญไปชมแฟชั่นโชว์ของดีไซน์ไทยที่แสดงในเวทีแฟชั่นโชว์สากลหรือในงานแสดงสินค้าทั้งในประเทศและในต่างประเทศ ทั้งนี้ อาจจัดกิจกรรมรับรอง/จับคู่เฉพาะกับดีไซเนอร์/ผู้ส่งออกที่มีความพร้อม/ศักยภาพในเชิงธุรกิจแฟชั่น
  • การประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ใหม่ของสินค้าแฟชั่นไทยผ่านสื่อโฆษณา/ประชาสัมพันธ์การส่งข่าวแฟชั่นให้สื่อแฟชั่นต่างๆ การใช้กระแสความนิยมของตลาดเป็นตัวดึงความสนใจของสินค้า การทำ Multi-Marketing
11. งานแสดงสินค้าสำคัญๆ เกี่ยวกับสิ่งทอและเสื้อผ้าในเยอรมนี ปี 2553
     ระยะเวลา                                 ชื่องาน
13.01.- 16.01.2010           Heimtextil - International Trade Fair for Home and Contract Textiles Frankfurt/Main
20.01 - 22.01.2010           Bread and Butter — Fashion/ Designer , Berlin
04.02.- 06.02.2010           TV TecStyle Visions - International trade fair for textile printing, embroidery,

transfer and flocking , Stuttgart

07.02.- 10.02.2010           ispo winter - International Trade Fair for Sports Equipment and Fashion (Winter), Munich
07.02.- 09.02.2010           CPD Igedo’s (Wear & Fashion), Dusseldorf
September 2010               Kind + Jugend - The Trade Show for Kids' First Years
ข้อมูลงานแสดงสินค้าอื่นๆ หาดูเพิ่มเติมได้ที่: http://www.auma.de/_pages/start_e.aspx


สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต และกรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ