อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศมาเลเซีย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 5, 2010 14:35 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1). ความเป็นมาของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศมาเลเซีย

อุตสาหกรรมรถยนต์ในมาเลเซียได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2503 ซึ่งก่อนทศวรรษดังกล่าวนั้น รถยนต์โดยส่วนใหญ่ที่ใช้ภายในประเทศมาจากการนำเข้าCBU : Complete Built-up (การนำเข้ารถยนต์ทั้งคัน) ทั้งสิ้น ในปี 2506 รัฐบาลมาเลเซียเริ่มสนับสนุนและก่อตั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ขึ้นมา โดยมีนโยบายในการสนับสนุนการผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบรถยนต์ ซึ่งได้ประกาศใช้นโยบายดังกล่าวเมื่อ เดือน พฤษภาคม ปี 2507 และมีการจัดตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ขึ้นหลังจากปี 2503 เป็นต้นมา เพื่อความพร้อมทางด้านแรงงานและทดแทนการนำเข้ารถยนต์ โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศและสนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์ที่ผลิตในประเทศอีกด้วย อีกทั้งยังจะมีการจัดเก็บภาษีนำเข้าและเสนอระบบอัตราภาษีสำหรับการนำเข้า CBU

ในปี 2540 โรงงานประกอบรถยนต์ทั้ง 6 แห่งได้เริ่มต้นทำการผลิตรถยนต์ โรงงานประกอบรถยนต์จะมีการร่วมทุนระหว่างบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรป (European Automobile manufacturers) และหุ้นส่วนในพื้นที่ซึ่งเป็น Distributor อยู่ก่อนแล้ว โดยบริษัท Swedish Motor Assemblies ได้ประกอบรถยนต์ให้แก่ Volvo, บริษัท Asia Automobile Industries Sdn.Bhd. ประกอบรถยนต์ให้แก่ Peugeot และ Mazda และ Tan Chong Motors ได้ประกอบรถยนต์ให้แก่ Nisson และ Datsun โดยการนำเข้าในรูปแบบ CKD (Complete Knock Downed) เพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานประกอบรถยนต์

มาเลเซียได้เริ่มต้นโครงการรถยนต์แห่งชาติ (National Car) หรือ Perusahaan Automobile National (Proton) บริษัท โปรตอน โฮลดิ้งส์ เบอร์ฮาด ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2546 เนื่องจากบริษัท โปรตอน กรุ๊ป มีความต้องการที่จะบริหารการลงทุนต่างๆ ภายใต้รูปแบบของบริษัทแม่ที่เข้าไปถือหุ้นในบริษัทอื่นๆ ทั้ง นี้ บริษัท Perusahaan Otomobil Nasional Sdn Bhd. เป็นบริษัทในเครือแห่งแรกได้เปิดดำเนินการในวันที่ 7 พฤษภาคม 2526 และได้เปิดตัวรถยนต์รุ่นแรกที่มี่ชื่อว่า "Saga" ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2528 นับจากนั้นมาโปรตอนได้ก้าวจากการเป็นผู้ผลิตยานยนต์ภายในประเทศไปสู่การ เป็นผู้ผลิตที่สามารถออกแบบ และผลิตรถยนต์รุ่นต่างๆ ได้เอง อาทิ Waja Gen.2 และ Savvy เป็นต้น เพื่อตอบสนองความต้องการในตลาดที่แตกต่างกันออกไป นอกเหนือจากการรุกตลาดภายในประเทศแล้ว โปรตอนยังส่งออกรถยนต์ให้กับตลาดหลักอื่นๆ อีก 4 แห่ง ได้แก่ อาเซียน ตะวันออกกลาง สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย อีกทั้งยังได้พัฒนาเครื่องยนต์รุ่น Campro ที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของโปรตอนร่วมกับ โลตัส กรุ๊ป ประเทศอังกฤษอีกด้วย

ผู้ผลิตรถยนต์แห่งชาติแห่งที่สอง Perodua ได้ตั้งโรงงานผลิตที่เมือง Serendah ที่รัฐเซอร์ลังงอห์ ได้เปิดตัวครั้งแรกในปี 2527 รถยนต์ Perodua เป็นรถที่ขายดีลำดับที่สองของรถยนต์นั่งในมาเลเซีย

2). โครงสร้างทางอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์

รถยนต์แห่งชาติมีการผลิตในปี 2551 เท่ากับ 338,159 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีการผลิต 276,286 คัน หรือเพิ่มขึ้น 61,873 คัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.39) ขณะที่รถยนต์ต่างชาติมีการผลิตในปี 2551 เท่ากับ 192,651 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีการผลิต 165,392 คัน หรือเพิ่มขึ้น 27,259 คัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.48) โดยรักษาอัตราส่วนแบ่งไว้ที่ร้อยละ 63 และร้อยละ 37 ตามลำดับ

  • อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของมาเลเซีย มีการจ้างงาน 21,713 คน มีผู้ผลิต 690 ราย ร้อยละ 75 เป็นบริษัทสัญชาติมาเลเซีย ในจำนวนนี้เป็นบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับโรงงานประกอบรยนต์โปรตอน(Proton Vendors) 226 ราย ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับโรงงานประกอบรยนต์เปอโรดัว (Perrodua Vendors) 160 ราย ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์กว่า 6,000 รายการ ได้แก่ พวงมาลัย แกนพวงมาลัย กันชน เบรก หม้อน้ำ โช้คอัพและคลัชท์ เป็นต้น

ผู้ประกอบการจากต่างประเทศประกอบด้วยโรงงานขนาดใหญ่ (1st Tier) 32 ราย เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน OEM ส่งให้แก่โรงงานประกอบรถยนต์ของต่างชาติ ได้แก่ Delphi Automotive Systems, Siemens, Bosch, Denso (M) Sdn. Bhd., Nippon Wiper Blade (M) Sdn. Bhd., TRW Automotive เป็นต้น

3). การผลิตรถยนต์ของมาเลเซีย

ความต้องการซื้อรถยนต์ในประเทศเป็นปัจจัยกำหนดการผลิตรถยนต์ในประเทศมาเลเซีย ในช่วงปี 2551 มาเลเซียผลิตรถยนต์ได้ทั้งสิ้น 530,810 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.79 จากปี 2550 ที่มีการผลิต 441,678 คัน ในปี 2552(ม.ค.-ก.ย.) มาเลเซียผลิตรถยนต์ได้ทั้งสิ้น 356,490 คัน ลดลงร้อยละ 4.35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ซึ่งมียอดการผลิต 375,843 คัน เนื่องจากประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงต้นปี 2552

4). ภาพรวมทางการตลาด

มาเลเซียมีประชากรประมาณ 27 ล้านคน แต่มีอัตราส่วน รถยนต์ : ประชากร เท่ากับ 1 : 5 เนื่องจากธนาคารและสถาบันการเงินมีนโยบายดอกเบี้ยต่ำและระยะเวลาผ่อนที่ยาว ซึ่งส่งผลให้มีความต้องการซื้อรถยนต์เป็นจำนวนมากและทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์เติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ตลาดยานยนต์มาเลเซียจึงเป็นตลาดที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับผู้ผลิตต่างชาติ โดยคาดว่าในปี 2553 อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศจะเผชิญกับการแข่งขันอย่างสูงจากผู้นำเข้าต่างชาติ เนื่องจากราคารถยนต์นำเข้ามีราคาถูกลงอย่างมากจากการปฏิบัติตามกฎของ AFTA ที่มีการเก็บภาษีรถยนต์นำเข้าเป็นศูนย์ เมื่อพิจารณาการผลิตและประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศไทยจะพบว่าไทยได้เปรียบทั้งด้านราคาและคุณภาพ

มาเลเซียมีอัตราการเติบโตของยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล(Passenger Car) เป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน โดยในปี 2551 มาเลเซียมียอดจำหน่าย 497,459 คัน คิดเป็นร้อยละ 37 ของยอดจำหน่ายในอาเซียน โดยมีอินโดนีเซียเป็นอันดับสอง 425,267 คัน ไทยอันดับสาม 226,805 คัน สิงคโปร์อันดับสี่ 100,979 คัน เวียดนามอันดับห้า 49,356 คัน และฟิลิปปินส์อันดับหก 44,428 คัน

ในปี 2551 มาเลเซียมีอัตราการเติบโตของยอดขายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ (Commercial Vehicle)เป็นอันดับ 5 ในอาเซียน โดยมีประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่ง 388,465 คัน อินโดนีเซียอันดับสอง 178,507 คัน ฟิลิปปินส์อันดับสาม 80,021 คัน เวียดนามอันดับสี่ 60,830 คัน มาเลเซียอันดับห้า 50,656 คัน

5). การนำเข้า-ส่งออกรถยนต์ของมาเลเซีย

การนำเข้า-ส่งออกตั้งแต่ปี 2548 ถึง 2551 พบว่ามูลค่าการนำเข้า-ส่งออกรถยนต์ ทั้งที่เป็นCompleted Built Up : CBU และ Completely Knocked Down : CKD เพิ่มขึ้นทุกปี ยกเว้นในช่วง 2549-2550 ที่มีการนำเข้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลลดลง

การส่งออกของมาเลเซียในปี 2551 มาเลเซียส่งออกรถยนต์นั่งไปประเทศจีน(95.3 ล้านริงกิต) อิหร่าน(74.2 ล้านริงกิต) ไทย (69 ล้านริงกิต) อังกฤษ (65.4 ล้านริงกิต) อินโดนีเซีย (65.1 ล้านริงกิต)

การนำเข้ารถยนต์ของมาเลเซียในปี 2551 มาเลเซียนำเข้าจากญี่ปุ่น (2,600 ล้านริงกิต) ไทย (865.6 ล้านริงกิต) เยอรมัน (801.1 ล้านริงกิต) อินโดนีเซีย (156.7 ล้านริงกิต) และอังกฤษ (70.90 ล้านริงกิต)

6). ยอดจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์และการนำเข้า-ส่งออกของมาเลเซีย

ยอดจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ของมาเลเซียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ตามแนวโน้มรถยนต์ที่ผลิตที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2551 มียอดจำหน่าย 6,400 ล้านริงกิต เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มียอดจำหน่าย 5,600 ล้านริงกิต ร้อยละ 14.28

การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปต่างประเทศ ในปี 2551 มีมูลค่า 2,400 ล้านริงกิต ลดลงจากปี 2550 ที่ส่งออกได้ 2,700 ล้านริงกิต ร้อยละ 11.25 ตลาดส่งออดสำคัญได้แก่ อินโดนีเซีย (303.1 ล้านริงกิต) ไต้หวัน (268.8 ล้านริงกิต) ไทย (266.4 ล้านริงกิต) สิงคโปร์ (205.8 ล้านริงกิต) และญี่ปุ่น (159.1 ล้านริงกิต) ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ส่งออก ได้แก่ พวงมาลัย แกนพวงมาลัย กระทะล้อ กันชน ระบบเบรก ระบบคลัชท์ หม้อน้ำ เป็นต้น

การนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากต่างประเทศ ในปี 2551 มาเลเซียนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งสิ้น 4,100 ล้าน ริงกิต ลดลงจากปี 2550 ซึ่งมีกานำเข้า 4,500 ล้านริงกิต ร้อยละ 8.9 โดยเป็นการนำเข้าจากประเทศไทย (1,700 ล้านริงกิต) ญี่ปุ่น (995.5 ล้านริงกิต) อินโดนีเซีย (436.9 ล้านริงกิต) เยอรมัน (308 ล้านริงกิต)และประเทศจีน (168.4 ล้านริงกิต)

7). โครงสร้างอัตราภาษีรถยนต์ของมาเลเซีย
  • ภาษีสรรพสามิต

รถยนต์นำเข้าสำเร็จรูป (Completely Built Up : CBU) และนำเข้าชิ้นส่วนเข้ามาประกอบในประเทศ ของมาเลเซียจำแนกเป็น รถยนต์นั่งอยู่ระหว่างอัตราร้อยละ 75 105 ของราคานำเข้า CIF รถอเนกประสงค์/รถตู้ ร้อยละ 60 105 รถขับเคลื่อน 4 ล้อ ร้อยละ 65 105 และรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 20-30 มีดังรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • ภาษีนำเข้ารถยนต์ Completed Knocked Down : CKD

ภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ (Completely Knocked Down : CKD)เข้ามาประกอบในประเทศของมาเลเซียจำแนกเป็น รถยนต์นั่ง รถอเนกประสงค์/รถตู้ รถขับเคลื่อน 4 ล้อ และรถจักรยานยนต์ สำหรับประเทศในอาเซียนเท่ากับ ศูนย์ แต่ต้องเสียภาษีขาย(Sale Tax) ร้อยละ 10

สำหรับนอกกลุ่มประเทศอาเซียน เสียภาษีนำเข้าร้อยละ 0 10 และเสียภาษีขาย(Sale Tax) ร้อยละ 10

  • ภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป Completely Built Up : CBU

ภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ (Completely Built Up : CBU) ของประเทศมาเลเซีย จำแนกเป็น รถยนต์นั่ง รถอเนกประสงค์/รถตู้ รถขับเคลื่อน 4 ล้อ และรถจักรยานยนต์ สำหรับประเทศในกลุ่ม อาเซียนเท่ากับร้อยละ 5 (ภายหลังวันที่ 1 มกราคม 2553 ภาษีเท่ากับ 0) เสียภาษีขาย(Sale Tax) ร้อยละ 10

สำหรับนอกกลุ่มประเทศอาเซียน เสียภาษีนำเข้าร้อยละ 30 และเสียภาษีขาย(Sale Tax) ร้อยละ 10

8). นโยบายรถยนต์แห่งชาติ(National Automotive Policy)

รัฐบาลมาเลเซียมีการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่อง มาเลเซียเชื่อว่าการที่ประเทศมีภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ที่แข็งแกร่งจะช่วยในด้านแรงงาน เทคโนโลยี และความมีชื่อเสียง โดยในขณะนี้ Proton และ Perodua ซึ่งเป็นรถยนต์ประจำชาติ ได้ครอบครองตลาดรถยนต์ของมาเลเซียเป็นส่วนใหญ่

การบังคับเก็บภาษีสรรพสามิต

นับแต่ปี 2547 เป็นต้นมา รัฐบาลมาเลเซียได้บังคับเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ทุกชนิด ทั้งนี้เป็นความตั้งใจของรัฐบาลมาเลเซียในการเตรียมรองรับการสูญเสียรายได้จากภาษีการนำเข้ารถยนต์ที่เคยเก็บได้ก่อนที่จะมีการเปิดการค้าเสรีตามข้อตกลงอาฟต้าในปี 2553 รายละเอียดของภาษีนำเข้ารถยนต์และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ชนิด CBU (Completely Built Up)

การบังคับเก็บภาษีการขาย

ภาษีการขายยังคงอัตราเดิมที่ร้อยละ 10 สำหรับ นอกจากนี้ผู้นำเข้าจะต้องขอใบอนุญาตนำเข้าจาก Ministry of International Trade and Industry

ระบบการนำเข้ารถยนต์ของมาเลเซียโดยการใช้ Approved Permit (AP)

มาเลเซียยังคงบังคับใช้ระบบใบอนุญาตการนำเข้ารถยนต์ หรือ Approved Permit (AP) ต่อไป แม้มีการเรียกร้องให้ยกเลิกหลังมาเลเซียเปิดเสรีรถยนต์ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้าในวันที่ 1 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา

มาเลเซียนำระบบ AP เพื่อการนำเข้ารถยนต์ในปี 2513 โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือบริษัทตัวแทนจำหน่ายชาวภูมิบุตรประสบความสำเร็จในภาคธุรกิจการจัดจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ เพราะถ้าหากไม่ให้อภิสิทธิ์พิเศษ ชาวภูมิบุตรไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทจำหน่ายรถยนต์ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนได้

ใบอนุญาตนำเข้ารถยนต์ AP แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ใบอนุญาตประเภท Open AP และFranchise AP โดยกำหนดให้ Open AP สำหรับนำเข้ารถยนต์ใช้แล้ว(รถบรรทุก รถนั่งส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์)จะต่ออายุให้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ส่วน Franchise AP จะต่ออายุให้ถึงปี 2563 โดยจะต้องเสียค่าธรรมเนียมคันละ 10,000 ริงกิต (ประมาณ 100,000 บาท) (รายละเอียดตามเอกสารแนบ)

9). ผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติในมาเลเซีย

นอกจากจะมีผู้ผลิตและผู้ประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ของมาเลเซีย ได้แก่ Proton และ Perodua ซึ่งเป็น ผู้ผลิตรถยนต์แห่งชาติ (National Passenger Cars) แล้วยังมีผู้ผลิตรายใหญ่อื่นๆ ซึ่งทำการผลิตและประกอบชิ้นส่วนรถยนต์จากต่างชาติ (Non-National Passenger Cars) ซึ่งถือได้ว่าเป็นคู่แข่งขันทางการตลาดที่สำคัญของ Proton และ Perodua ดังต่อไปนี้

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ