อดีตประธานกลุ่มอตฯเหล็กหนุนยกเลิกเตา IF ชี้เสี่ยงผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 9, 2025 18:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อดีตประธานกลุ่มอตฯเหล็กหนุนยกเลิกเตา IF ชี้เสี่ยงผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน

นายวิกรม วัชระคุปต์ กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะอดีตประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย สนับสนุนนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะยกเลิกการใช้เตาอินดักชัน (Induction Furnace-IF) สำหรับการผลิตเหล็กในประเทศไทย เนื่องจากมีข้อจำกัดสำคัญในการควบคุมคุณภาพของเหล็กให้ได้มาตรฐานตลอดชิ้นงาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในโครงสร้างอาคาร โดยเฉพาะกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุไม่คาดฝัน

ในอดีต มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของประเทศไทยกำหนดให้การผลิตเหล็กเส้นก่อสร้างสามารถใช้ได้เฉพาะกระบวนการถลุงเหล็กหรือเตาหลอมไฟฟ้า (Electric Arc Furnace-EAF) เท่านั้น ต่อมาในปี 2559 มีการปรับมาตรฐานให้สามารถใช้เตา IF ได้ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ประเทศจีนมีนโยบายปิดโรงงาน IF เพื่อควบคุมมลภาวะจากวัตถุดิบคุณภาพต่ำ ทำให้โรงงานจำนวนหนึ่งย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียนบางประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย

"แม้เตา IF จะเหมาะสมกับการผลิตเหล็กชนิดพิเศษ เช่น เหล็กหล่อ หรือสแตนเลส ซึ่งต้องการการควบคุมทางเคมีอย่างแม่นยำ แต่เมื่อนำมาใช้กับการผลิตเหล็กก่อสร้างที่ใช้เศษเหล็กทั่วไปเป็นวัตถุดิบ เตา IF ไม่สามารถกำจัดสารเจือปนในระดับที่ปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับเตา EAF ซึ่งอาจส่งผลให้เหล็กที่ได้มีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ และไม่สามารถรับแรงได้ตามที่ออกแบบไว้" นายวิกรม กล่าว

ล่าสุดในการประชุมสายงานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท.เป็นประธาน ที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นดังกล่าวอย่างเข้มข้น และย้ำว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทยต้องมุ่งสู่การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง แข็งแรง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดปริมาณเหล็กที่ใช้ และช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในระยะยาว ความมั่นใจในคุณภาพของเหล็กจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน ทั้งนี้กระบวนการผลิตที่ใช้เตา EAF มีศักยภาพในการควบคุมสารปนเปื้อนได้ดีกว่า โดยสามารถปรับคุณภาพของน้ำเหล็กให้เหมาะสมกับการผลิตเหล็กเส้นที่มีความแข็งแรงและทนทาน เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย

ปัจจุบันผู้ผลิตเหล็กที่ใช้เทคโนโลยี EAF ในประเทศไทยมีจำนวนและกำลังการผลิตเกินพอรองรับความต้องการของตลาด อีกทั้งการผลิตเหล็กยังครอบคลุมหลากหลายประเภท ไม่จำกัดเฉพาะเหล็กเส้น ดังนั้นการยกเลิกเตา IF จะไม่ส่งผลให้สินค้าเหล็กขาดแคลนสินค้าเหล็ก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ