ดอกไม้สดและไม้พุ่มขายดีในยุคประหยัด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 8, 2010 16:07 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ยอดขายดอกไม้สดและต้นไม้เป็นตัวชี้วัดหนึ่งของดัชนีทางเศรษฐกิจในญี่ปุ่น ยามที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู การจัดดอกไม้ประดับตกแต่งภายในอาคารเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตา และการส่งดอกไม้หรือไม้กระถางให้แก่บริษัท ห้างร้านต่างๆ ที่เป็นหุ้นส่วน พันธมิตรธุรกิจ ก็เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป ดอกไม้สีสดใส และต้นไม้จึงเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงจิตใจชาวญี่ปุ่นให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ แต่ในยามที่ธุรกิจมียอดขายลดลง และแต่ละบริษัทต้องตัดทอนรายจ่ายการสั่งซื้อดอกไม้ของบริษัทห้างร้านจึงลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ งานสัมมนา ประชุม ซึ่งเคยเป็นตลาดใหญ่ของดอกไม้และไม้กระถางก็ลดลงตามไปด้วย

แต่สำหรับครัวเรือน พฤติกรรมการซื้อกลับแตกต่างออกไปจากที่ผ่านๆ มา อาจเป็นเพราะความจำเป็นต้องลดการใช้จ่าย และความไม่มั่นคงทางจิตใจเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความเครียด มีความรู้สึกหดหู่ขณะเดียวกัน สมาชิกในครอบครัวก็ลดกิจกรรมนอกบ้าน และใช้เวลาอยู่ด้วยกันในบ้านมากขึ้น การตกแต่งบ้านด้วยดอกไม้สดจึงเป็นการสร้างสีสันและบรรยากาศที่ดี ยอดขายของร้านดอกไม้สดที่ตั้งอยู่ชั้นล่างของห้างสรรพสินค้าและย่านชุมชนใจกลางเมือง จึงสูงขึ้นแม้ว่ามูลค่าการขายปลีกดอกไม้เป็นกำที่ซื้อโดยแม่บ้าน และผู้บริโภคทั่วไปจะมีมูลค่ารายละไม่มาก และไม่สามารถทดแทนตลาดที่หดหายไปจากการขายให้แก่ภาคธุรกิจ แต่ก็พบว่า ปริมาณดอกไม้ที่ขาย โดยรวมได้เพิ่มสูงขึ้น

จากรายงานของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น ในปี 2551 ตลาดดอกไม้และต้นไม้ในญี่ปุ่นคำนวนจากราคาขายส่งมีมูลค่ารวม 390 พันล้านเยน ประกอบด้วย ไม้ตัดดอก (cut flowers)มูลค่า 300 พันล้านเยนและไม้กระถาง (potted flower) มูลค่า 90 พันล้านเยน มูลค่าการขายรวมลดลงประมาณร้อยละ 3 ในช่วง 11 เดือน แรกของปี 2552 แต่ปริมาณได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ปริมาณการขายไม้ตัดดอกได้เพิ่มขึ้นมากนับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ซึ่งพฤติกรรมการใช้จ่ายของชาวญี่ปุ่นเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ หนุ่มสาววัยทำงาน ออกทานข้าวและมีกิจกรรมนอกบ้านน้อยลง จึงหาสิ่งเพลิดเพลินและเปลี่ยนบรรยากาศภายในบ้านให้ดูเพลิดเพลิน มีชีวิตชีวา ดอกไม้สดที่ซื้อมาใช้ ยังสามารถนำไปทำดอกไม้แห้งสำหรับจัดแต่งประดับได้ด้วย จึงเป็นที่นิยมในกลุ่มสตรี ราคาเฉลี่ยที่ซื้อประมาณ 1,050- 2,625 เยน ส่วนผู้ชาย จะชอบซื้อต้นไม้กระถางขนาดเล็กมากกว่า เพราะดูแลง่ายและราคาไม่แพงราคาที่ได้รับความนิยมมีตั้งแต่ในร้าน 100 เยน ไปถึง 2,980 เยน

สถิติศุลกากรญี่ปุ่น ในปี 2552 ระบุว่า มีการนำเข้าไม้ตัดดอก (HS: 0603.11-.19) มูลค่า 302.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 6.25 % เทียบกับปี 2551 และไม้พุ่มมูลค่า 93.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ชนิดไม้ตัดดอกที่นำเข้าตามลำดับมูลค่าได้แก่

  • ดอกเบญจมาศ เป็นดอกไม้ที่ได้รับความนิยมใช้มากที่สุด โดยเฉพาะในพิธีทางศาสนา เพราะถือว่าเป็นดอกไม้สัญญลักษณ์ของประเทศ นำเข้ารวม 90.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2552 เพิ่มขึ้น 15.2 % จากปี 2551 มีมาเลเชียครองตลาด 70 % ของมูลค่าที่นำเข้า รองมาได้ก่ จีน (12.8 % ของมูลค่านำเข้าปี 2552)
เวียดนาม (9.5%) เกาหลี (6.1 %)
  • ดอกกล้วยไม้ นิยมส่งให้กันในโอกาสพิเศษ ถือเป็นดอกไม้ของความคงทน สวยงาม นำเข้ารวม 60.33 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 4.9 % มีไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ มีส่วนแบ่งตลาด 52.6 % แหล่งส่งออกอื่นๆ ได้แก่ ไต้หวัน นิวซีแลนด์ มาเลเชีย
  • ดอกคาร์เนชั่น นำเข้ารวม 60.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมาจาก โคลัมเบีย (70.5% ของมูลค่า) จีน (22.9%) เวียดนาม(3.1 %)
  • กุหลาบ มูลค่า 22.5 ล้านเหรียญฯ มาจาก เคนย่า (23 % ของมูลค่านำเข้า) อินเดีย เกาหลี เอธิโอเปีย
  • ไม้ตัดกิ่ง สำหรับประดับ มูลค่า 77.75 ล้านเหรียญฯ โดยนำเข้าจากไต้หวัน (49%) เนเธอแลนด์ (22.4%) จีน(20.6 %)

ญี่ปุ่นนำเข้าไม้ตัดดอกและไม้พุ่มจากไทย มูลค่ารวม 37.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2552 ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2551 ร้อยละ 85 ของมูลค่าเป็นการนำเข้ากล้วยไม้ ร้อยละ 12 เป็นกิ่งไม้ประดับ และร้อยละ 4 เป็นดอกไม้แห้ง ในอดีต ดอกไม้ที่ญี่ปุ่นนำเข้าส่วนใหญ่มาจากประเทศในยุโรป โดยเฉพาะจากเนเธอแลนด์ ช่องทางหนึ่งที่ใช้ในการกระจายไม้ดอกและไม้ประดับ คือการขายผ่านตลาดขายส่ง Ota Central Wholesale Market แต่ในช่วง 5 ปีมานี้ แหล่งนำเข้าหลักได้เปลี่ยนจากยุโรป มาเป็นประเทศใกล้เคียงในเอเชีย โดยเฉพาะ มาเลเซียและไต้หวันมากขึ้น

ตลาดดอกไม้ เป็นหนึ่งในอีกหลายสินค้าที่มียอดขายเพิ่มขึ้นสวนกระแสภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดิ่งลงสินค้าที่จำหน่ายได้ดีในขณะนี้มักเป็นสินค้าที่ส่งผลโดยตรงกับความผู้บริโภค เช่น สินค้าเพื่อสุขภาพ หรือให้ความรู้สึกที่ผ่อนคลาย เป็นสุข เพื่อลดมลภาวะจากความกดดันทางเศรษฐกิจ หรือสินค้าที่สร้างหรือเพิ่มกิจกรรมของบุคคลในครัวเรือน

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ