สรุปภาวะเศรษฐกิจการค้าพื้นที่ในเขตความดูแล สคร.ชิคาโกประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 12, 2010 11:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เขตความดูแลของสคร.ชิคาโกครอบคลุมพื้นที่ตอนกลางของประเทศสหรัฐฯ จำนวน 16 มลรัฐ ได้แก่ Arkansas, Illinois, Indiana, Iowa, Kansas, Kentucky, Louisiana, Michigan, Missouri, Minnesota, Nebraska, North Dakota, Ohio, Oklahoma, South Dakota และ Wisconsin มีประชากรรวมกันประมาณ 80.5 ล้านคน หรือร้อยละ 26 ของประชากรรวมของสหรัฐฯ และ มี 15 มหานครที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้าของภูมิภาค ได้แก่ Chicago, Detroit, Columbus, Cincinnati, Cleveland, Indianapolis, Louisville, Minneapolis, St. Paul, St. Louis, Kansas City, Des Moines, Omaha, New Orleans, Oklahoma City และ Tulsa

ภาวะเศรษฐกิจทั่วไปของเขตตอนกลางของสหรัฐฯ

จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจในเขตตอนกลางของประเทศสหรัฐฯ (Mid-America Region) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 จัดทำโดย The Creighton’s Economic Forecast Group มหาวิทยาลัย Creighton University พบว่า เศรษฐกิจในตอนกลางของประเทศสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับนับแต่ เดือนมกราคม 2553 เป็นต้นมา ดัชนีเศรษฐกิจรวมในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 คิดเป็น 61.0 จุด ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.3 จุดจากเดือนมกราคม 2553 ดัชนีเศรษฐกิจที่สำคัญขยายตัวเพิ่มขึ้น ดังนี้

1. คำสั่งซื้อสินค้า (Factory Orders) อยู่ที่ระดับ 61 จุด เพิ่มขึ้น 6.3 จุดจากมค.53

2. การผลิต (Production) อยู่ที่ระดับ 67.3 จุด เพิ่มขึ้น 9.4 จากมค.53

3. สินค้าคงคลัง (Inventories) อยู่ที่ระดับ 57.4 จุด เพิ่มขึ้น 9.1 จากเดือนจากมค.53

4. ระดับความมั่นใจต่อเศรษฐกิจ (Confidence) อยู่ที่ระดับ 73.0 เพิ่มขึ้น 4.5 จุดจากเดือนมค.53

5. การจ้างงาน (Employment) อยู่ที่ระดับ 56.1 จุด เพิ่มขึ้น 4.4 จุด จากเดือน มค.53

ในเดือนมกราคม 2553 รัฐ Michigan มีอัตราการว่างงานสูงที่สุดของประเทศร้อยละ 14.5 และในขณะเดียวกัน รัฐ North Dakota รัฐ Nebraska และ รัฐ South Dakota เป็นรัฐที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดของประเทศ (ร้อยละ 4.3, 4.6 และ 4.7 ตามลำดับ)

ภาวะการค้าระหว่างประเทศ

การค้ากับทั่วโลก: การค้าระหว่างประเทศของภูมิภาคตอนกลางของประเทศสหรัฐฯ ในปี 2552 มีมูลค่า 513,798 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่าการค้ารวมของสหรัฐฯ โดยแยกออกเป็น การส่งออกสินค้าประมาณ 221,775 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจำนวนประมาณ 292,023 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกสินค้ามีมูลค่าต่ำกว่าการนำเข้าสินค้า เป็นผลให้สหรัฐฯขาดดุลย์การค้าประมาณ 70,274 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ภาวะการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ และพื้นที่ในเขตอาณาสคร.ชิคาโก

หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐฯ

   กิจกรรมการค้า        2551       2552       เพิ่ม/ลด (%)
การส่งออกสินค้า       274,473     221,775       -19.20
การนำเข้าสินค้า       410,224     292,023       -28.81
ดุลย์การค้า          -135,750     -70,247        48.25
ที่มา: World Trade Atlas (ประมวสจากสถิติการนำเข้าของ US Customs, Inland Port)

การค้ากับประเทศไทย: ในปี 2552 มูลค่าการของระหว่างประเทศไทยและภูมิภาคตอนกลางของสหรัฐฯ คิดเป็นประมาณ 2,902 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยแยกเป็นการส่งออกสินค้าไปยังประเทศไทยเป็นมูลค่าประมาณ 1,069 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ นำเข้าสินค้าจากประเทศไทยเป็นมูลค่าประมาณ 1,833 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ร้อยละ 10 ของการนำเข้ารวมจากประเทศไทย) มูลค่าการส่งออกสินค้าของสหรัฐฯ ต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย เป็นผลให้เกิดการขาดดุลย์การค้ากับประเทศไทยประมาณ 764 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะนำเข้าและดำเนินพิธีศุลกากรที่ท่าเรือชายฝั่ง (Seaport) ของประเทศ โดยเฉพาะที่ท่าเรือ Los Angeles, New York และ Houston ซึ่งเป็นท่าเรือที่สำคัญมีปริมาณสินค้านำเข้ารวมเกินกว่าร้อยละ 50 แต่มีสินค้านำเข้าอีกจำนวนหนึ่งนำเข้าและผ่านพิธีศุลกากรที่ท่าในแผ่นดิน (Inland Port) ซึ่งมีจำนวน 15 แห่ง จึงเป็นผลให้มูลค่าสินค้านำเข้าไปยังเขตตอนกลางของประเทศ จึงต่ำกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของสหรัฐฯ สินค้านำเข้าจากประเทศไทยประมาณร้อยละ 60 นำเข้าผ่านท่าเรือ Los Angeles, New York และ San Francisco เป็นสำคัญ และขนส่งโดยทางรถไฟและรถบรรทุกไปยังพื้นที่ตอนกลางของสหรัฐฯ

    การค้าระหว่างประเทศไทยกับพื้นที่เขตอาณาสคร.ชิคาโกในปี 2552
                หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐฯ
   กิจกรรมการค้า         2551       2552       เพิ่ม/ลด (%)
การส่งออกสินค้า       1,352.64    1,069.26       -23.67
การนำเข้าสินค้า       2,317.77    1,833.30       -20.90
ดุลย์การค้า            -965.13     -764.04        20.90
ที่มา: World Trade Atlas (ประมวสจากสถิติการนำเข้าของ US Customs, Inland Port)

สินค้าสำคัญของไทยซึ่งนำเข้ามายังเขตตอนกลางของประเทศโดยตรง ได้แก่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ การสื่อสาร ทีวีจอแบน กล้องดิจิตอล แผงวงจรไฟฟ้า สายไฟรถยนต์ ยางและผลิตภัณฑ์ และ เครื่องประดับและอัญมณี เป็นต้น

สคร.ชิคาโกพบว่า สินค้านำเข้าหลักสำคัญของไทยในสหรัฐฯ เช่น อาหารทะเลแช่แข็งข้าวหอมมะลิ ผักและผลไม้กระป๋อง พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และ เฟอร์นิเจอร์ เหล่านี้ผู้นำเข้าในเขตตอนกลางของสหรัฐฯ จะนำเข้าสินค้าและขั้นตอนพิธีศุลกากรที่ท่าเรือชายฝั่ง (Seaport)เป็นหลัก และจะขนส่งต่อไปยังโกดังสินค้าของผู้นำเข้าต่อไป ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลแสดงให้เห็นว่า ไม่มีปรากฎสถิติการนำเข้าของสินค้าสำคัญดังกล่าวของไทยที่ท่าในแผ่นดิน (Inland Port) ในเขตตอนกลางของประเทศซึ่งสคร.ชิคาโกดูแลอยู่

การนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยของเขตความดูแลสคร.ชิคาโกในปี 2552

หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐฯ

        สินค้า                   2551           2552        เพิ่ม/ลด (%)
1. คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์         571.47         466.79         -18.32
2. ชิ้นส่วนอุปกรณ์การสื่อสาร        562.77         399.12         -29.08
3. กล้อง & ทีวี ดิจิตอล           323.22         304.59          -5.76
4. ยางและผลิตภัณฑ์              174.79          99.67         -42.98
5. เครื่องประดับและอัญมณี          72.83          95.02          30.46
6. Optic & Med Instruments   158.37          86.62         -45.30
7. วงจรไฟฟ้า                   75.51          67.34         -10.81
8. เสื้อผ้าสำเร็จรูป               37.36          30.07         -19.51
     อื่นๆ                     341.45         284.08         -21.61
   รวมการนำเข้า             2,317.77       1,833.30         -20.90
ที่มา: World Trade Atlas (ประมวสจากสถิติการนำเข้าของ US Customs, Inland Port)
แนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าของเขตตอนกลางของสหรัฐฯ

1. เศรษฐกิจโลก (Global Economy) ซึ่งได้ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับเรื่อยมา ส่งผลต่อความต้องการสินค้าจากภาคตอนกลางของประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวจ้าว และ เนื้อโค และ เนื้อหมู และ เนื้อไก่ เป็นต้น มีอัตราการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2552

2. เศรษฐกิจของมลรัฐที่ตั้งอยู่ในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ Mississippi ได้แก่ Iowa, Kansas, Nebraska, และ Missouri และ Oklahoma ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศ จะพื้นฟูได้รวดเร็วกว่า ในขณะที่มลรัฐสำคัญ ๆ เช่น Illinois, Michigan, Ohio, Indiana ยังคงประสบปัญหาอัตราการว่างงานในระดับสูงในช่วงครึ่งแรกของปี 2553

3. ภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอของยุโรปจะส่งผลต่อค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯแข็งตัว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวเศรษฐกิจในภาคตอนกลางของประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าติดตามต่อไป

4. กลยุทธ์ที่ผู้ผลิต/ส่งออกไทยควรพิจารณาใช้ในการขยายตลาดสินค้าไทยเข้าเขตตอนกลางของสหรัฐฯ คือ

4.1 การจัดคณะผู้แทนการค้าผู้ผลิต/ส่งออกไทยเดินทางไปเจรจาการค้ากับกลุ่มเป้าหมายคู่ค้าในเขตตอนกลางของประเทศสหรัฐฯ (Out-going Mission)

4.2 ผู้ผลิต/ส่งออกไทยดำเนินการด้านกระจายสินค้าไทย โดยการใช้บริการของคลังสินค้า (Warehousing Distribution) ในสหรัฐฯ ทำหน้าที่เสมือนเป็นศูนย์กระจายสินค้า และจัดส่งให้แก่ลูกค้าที่ต้องการสินค้าไทย รายที่ไม่สามารถสั่งซื้อจำนวนมากๆ หรือเป็นตู้คอนเทนเนอร์ได้

4.3 การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในสหรัฐฯที่จัดขึ้นในเขตตอนกลางของประเทศและส่วนอื่นของประเทศ เพื่อเป็นการตอกย้ำในเรื่องสินค้าไทยให้แก่ผู้ซื้อสหรัฐฯ ได้พบเห็น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ