สถานการณ์ข้าวไทยในเยอรมนี ปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 26, 2010 17:08 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. คนเยอรมันนิยมการบริโภคขนมปังและมันฝรั่งเป็นอาหารหลัก โดยเฉลี่ยเป็นปริมาณ 85 และ 70 กก./คน/ปี ตามลำดับ ในขณะที่การบริโภคข้าวเป็นปริมาณ 3 กิโลกรัม/คน/ปี ผู้ที่บริโภคข้าวส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติและคนเอเชียที่อาศัยอยู่ในเยอรมนี แหล่งจำหน่ายข้าวจะมีทั้งในร้านค้าปลีก ซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วๆ ไป และในห้างสรรพสินค้า ข้าวที่จำหน่ายในร้านค้าประเภทนี้จะเป็นข้าวสารเมล็ดยาว เมล็ดสั้นตลอดจนข้าวบาสมาตี และข้าวหอมมะลลิอีกเล็กน้อย โดยจะเป็นข้าวที่จัดทำขนาดบรรจุพิเศษเป็นถุงขนาดเล็ก 125 กรัม 4 ถุง หรือเป็นกล่องขนาด 500 กรัม สำหรับข้าวที่วางจำหน่ายในร้านค้าของชำชาวเอเชียจะเป็นข้าวสารเมล็ดยาว ข้าวหอมมะลิทั้งชนิดเมล็ดยาวและข้าวหัก โดยจะมีขนาดบรรจุเป็นถุงพลาสติก ตั้งแต่ 1 กิโลกรัมขึ้นไปถึง 18 หรือ 20 กิโลกรัม ร้านค้าของชำเอเชียเหล่านี้จะมีการ สต๊อคสินค้าที่จำหน่ายภายในร้านค้าของตนเองจำนวนหนึ่ง โดยจะทำการสั่งซื้อสินค้าจากผู้ส่งออกเป็นประจำ มีการสั่งต่อครั้งเป็นปริมาณระหว่าง 100 — 500 ตัน เพื่อการจำหน่ายในร้านค้า สาขาของตนเอง และขายส่งให้กับร้านค้าขนาดเล็กที่ตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ

2. การนำเข้า

ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา (2550 — 2552) เยอรมนีนำเข้าข้าวเป็นปริมาณโดยเฉลี่ยปีละ 363,000 ตันแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ประเทศอื่นๆ ในกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรป เช่น อิตาลี เนเธอแลนด์ และเบลเยี่ยมมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 30, 18 และ 12 ตามลำดับ ข้าวจากประเทศเหล่านี้จะเป็นข้าวสารขาวเมล็ดกลมหรือเมล็ดสั้นเป็นสำคัญ ส่วนข้าวที่นำเข้าจากไทยจะเป็นข้าวสารเมล็ดยาว ข้าวหอมมะลิ 100 % และข้าวหัก มีส่วนแบ่งตลาดทั้งสิ้นประมาณร้อยละ 10 สำหรับข้าวจากอินเดียหรือปากีสถานส่วนใหญ่จะเป็นข้าวบาสมาตี มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5 และ 3 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีข้าวจากเวียดนามเป็นข้าวสารขาว ที่ปัจจุบันยังมีส่วนแบ่งตลาดที่เล็กน้อย มีการนำเข้าโดยเฉลี่ยปีละ 2,400 ตัน

3. การส่งออกข้าว ข้าวที่เยอรมนีนำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนหนึ่งเพื่อการบริโภคในประเทศและอีกส่วนหนึ่งจะส่งออกต่อไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรป โดยเฉลี่ยเป็นปริมาณปีละ 70,000 ตัน ได้แก่ เดนมาร์ค ออสเตรีย สวีเดน และโปแลนด์ เป็นต้น คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 25, 14, 12, และ 10 ตามลำดับ

4. ขนาดบรรจุและราคาจำหน่าย ปัจจุบันข้าวที่จำหน่ายในตลาดเยอรมนียังไม่มีข้อกำหนดใดๆ เป็นมาตรฐานโดยเฉพาะในด้านขนาดบรรจุ สินค้าที่วางจำหน่ายในตลาดจะคำนึงถึงความสะดวก ความเหมาะสมในการบริโภค ขนาดบรรจุ ทั่วๆ ไปจะเป็น 125 กรัม 250 กรัม และ 500 กรัม จนถึง 25 กิโลกรัม โดยที่ข้าวใน Super Market จะเป็นข้าวสารขาว ข้าวพร้อมหุง บรรจุในถุงพลาสติกใสขนาด 4 x 125 กรัม หรือบรรจุในถุง กล่องกระดาษขนาด 250 กรัม - 1000 กรัม มีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.60 — 2.50 ยูโร สำหรับข้าวมียี่ห้อ/ตราที่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภค ได้แก่ Uncle Ben , Oryza หรือ reis fit จะมีราคาจำหน่ายประมาณกิโลกรัมละ 3 ยูโร ส่วนร้านค้าของชำที่จำหน่ายอาหารจากเอเชียโดยเฉพาะ ซึ่งมีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชียที่บริโภคข้าวเป็นอาหารประจำวันจะมีการจำหน่ายข้าวขนาดบรรจุตั้งแต่ 1 - 20 กิโลกรัม มีราคาโดยเฉลี่ยตามยี่ห้อของข้าวกิโลกรัมละ 2 ยูโร

ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา ตามข้อตกลงการค้าโลก (WTO) สหภาพยุโรปได้ลดอัตราภาษีนำเข้าของข้าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ข้าวที่นำเข้าจากประเทศที่สามที่มิใช่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีราคาจำหน่ายปลีกต่ำลงเรื่อยมา ตามรูปแบบของการบรรจุและวิธีการหุงต้ม (กล่องหรือถุงพลาสติก น้ำหนักตั้งแต่ 125 กรัมขึ้นไป) จะมีราคาจำหน่ายปลีกโดยเฉลี่ยกิโลกรัมละตั้งแต่ 1 ยูโรขึ้นไป (ประมาณ 45 บาท) จนถึง 3.90 ยูโร(ประมาณ 175.50 บาท) ข้าวตามร้านค้าประเภทนี้จะเป็นข้าวสารขาวทั้งชนิดเมล็ดสั้นและเมล็ดยาว สำหรับข้าวหอมมะลิที่ส่วนใหญเป็นข้าวจากไทย จะมีราคาโดยเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.50 — 2.95 ยูโร (ประมาณ 67.50 — 132.75 บาท)

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ