ภาระกิจสำคัญด้านการค้าของสหรัฐอเมริกาในปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 30, 2010 16:36 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ด้วยสคร.ชิคาโกเข้ารับฟังการบรรยายเรื่อง “U.S. Trade Agenda 2010” จัดขึ้นโดยบริษัท Sandler, Travis & Rosenberg, P.A. ที่ปรึกษากฎหมายและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งได้บรรยายถึงประเด็นสำคัญทางการค้าและข้อคิดเห็นท่าทีต่อการดำเนินการของรัฐบาลประธานาธิบดี Barack Obama ซึ่งจะมีกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ในปี 2553 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553 ที่สำนักงานบริษัทฯ ในนครชิคาโก

ประเด็นการค้าที่เป็นภาระกิจสำคัญของสหรัฐฯ

สคร.ชิคาโกใคร่ขอเรียนสรุปประเด็นสำคัญทางการค้า 7 ประการ ของรัฐบาลประธานาธิบดี Barack Obama ในปี 2553 ซึ่งบริษัทที่ปรึกษากฎหมายฯ ได้กล่าวถึงในการสัมมนาได้แก่ (1) ความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ (2) กฏหมาย ความปลอดภัยของสินค้าอุปโภคและบริโภค (3) การค้าและสิ่งแวดล้อม (4) การปรับปรุงระบบการให้สิทธิประโยชน์การค้า (5) การคุ้มครองแรงงาน (6) Buy America และ (7) การผลักดันการส่งออกสินค้าของสหรัฐฯ

1. ความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ (Free Trade Agreement)

1.1 สหรัฐฯ มีความสนใจจะสานต่อการเจรจาการค้าเสรี (FTA) กับคู่ค้า 3 ประเทศซึ่งยังค้างมาจากปี 2552 ที่ผ่านมา คือ โคลอมเบีย เกาหลีใต้ และ ปานามา แต่สหรัฐฯ ไม่ประสงค์เจรจาความตกลงทางการค้า FTA เพิ่มเติมกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทย เนื่องจาก รัฐบาลประธานาธิบดี Obama เห็นว่า ความตกลงทางการค้า FTA ไม่สนับสนุนการจ้างงานในประเทศสหรัฐฯ แต่กลับเป็นการสร้างงานในประเทศคู่ค้า

1.2 สหรัฐฯ มีแนวโน้มขอแก้ไขและปรับปรุงความตกลงการค้า NATFA: North American Free Trade Agreement กับประเทศสมาชิก ซึ่ง รัฐบาลของประธานาธิบดี Obama เห็นว่าสหรัฐฯ เสียเปรียบในความตกลงการค้า NAFTA ปัจจุบัน มีวุฒิสมาชิกหลายคนสนับสนุนให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากความตกลงการค้า NAFTA และคาดว่าจะมีการเสนอร่างพรบ.เกี่ยวกับความตกลง NAFTA ต่อสภาในเดือนมีนาคมหรือเมษายน 2553 นี้

1.3 วุฒิสมาชิก Sherrod Brown (Democrat - Ohio) เสนอร่างพระราชบัญญัติ Trade Reform, Accountability, Development, and Employment Act of 2009 (S.2821) มีจุดประสงค์เพื่อให้สหรัฐฯ สามารถขอทบทวนความตกลงทางการค้าที่ได้ทำไว้ประเทศภาคีทั่วโลก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนวุฒิสมาชิกจำนวนมาก

1.4 สหรัฐฯ มีความต้องการให้ประเทศคู่ค้าเข้าร่วมในความตกลงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) หรือที่เรียกกันว่า ACTA: Anti-Counterfeiting Trade Agreement :) เพื่อการขยายตลาดสินค้าของสหรัฐฯ ปัจจุบัน ประเทศที่เป็นสมาชิก ACTA คือ Australia, Canada, Jordan, Mexico, Morocco, New Zealand, Republic of Korea, Singapore, United Arab Emirates, European Union และ สหรัฐฯ

1.5 รัฐบาลของประธานาธิบดี Barack Obama มีความต้องการสร้างความสมดุลย์กับการเจรจาการค้ารอบโดฮา (DOHA Round) เพื่อให้เกิดช่องทางการขยายตลาดสินค้าเกษตรกรรมของสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ จะให้การคุ้มครองเกษตรกรรมสหรัฐฯ ให้ได้รับผลประโยชน์ตามกฎหมาย Farm Security and Rural Investment Act of 2002 (Farm Bill) ของสหรัฐฯ ไปพร้อมกัน

1.6 สหรัฐฯ ต้องการผลักดันความร่วมมือทางการค้า Tran-Pacific Partnership : TPP Agreement : ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 8 ประเทศ ประกอบด้วย USA, Australia, New Zeland, Chile, Brunei, Peru, Singapore และ Vietnam โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างฐานพันธมิตรทางการค้า ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และสร้างช่องทางและโอกาสให้แก่สินค้าสหรัฐฯ หรืออีกนัยหนึ่ง สหรัฐฯ ต้องการคานอำนาจการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในเขตภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก TPP เป็นความตกลงความร่วมมือทางการค้า และสามารถนำไปสู่เป็นความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement) ได้ในอนาคต

2. กฏหมายควบคุมความปลอดภัยสินค้าอุปโภคและบริโภค: ความปลอดภัยสินค้านำเข้าเพื่อการอุปโภคและบริโภค เป็นนโยบายหลักของประธานาธิบดี Barack Obama และเป็นเรื่องที่รัฐสภาสหรัฐฯ จะออกกฎหมายมารองรับในเรื่องนี้ในปี 2553 ดังนี้

2.1 ปัจจุบัน พรบ. Food Safety Enhancement Act 2009 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปรับปรุงในเรื่องความปลอดภัยสินค้าอาหารของสหรัฐฯ มีทั้งฉบับของสภาผู้แทนฯ (H 2749) และฉบับของวุฒิสภา (S.510) ซึ่งทั้งสองฉบับอยู่ระหว่างการปรองดอง (Conciliation) ให้เป็นฉบับเดียวกันคาดว่า จะมีผลบังคับใช้ ในกลางปี 2553

2.2 วุฒิสมาชิก David Vitter พรรค Republican แห่งรัฐ Louisiana นำเสนอร่างพระราชบัญญัติมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าอาหารทะเลนำเข้า (Imported Seafood Safety Standard Act : S. 2934) ต่อวุฒิสภาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2553 ปัจจุบัน ยังไม่ความคืบหน้า

2.3 สหรัฐฯ จะใช้ระบบการตรวจสอบสินค้าอาหารนำเข้าวิธีใหม่ “PREDICT” (Predictive Risk-Based Evaluation for Dynamic Imported Compliance Targeting) ทั่วประเทศภายในเดือนมิถุนายน 2553 นี้ เข้ามาแทนระบบ OASIS ที่ใช้ในปัจจุบัน โดยระบบ PREDICT เป็นการตรวจสอบสินค้า โดยใช้ระบบฐานข้อมูลผ่านอินเตอร์เนท (Web-Based Assessments) ปัจจุบัน FDA สหรัฐฯ ทดลองใช้ระบบ PREDICT แล้ว (Pilot Project) ที่ท่าเรือ Los Angeles และ New York

3. การค้าและสิ่งแวดล้อม

3.1 นโยบายของรัฐบาลของประธานาธิบดี Barack Obama ให้ความสำคัญทั้งการเพิ่มการจ้างงานและการดำรงสภาพแวดล้อม ในด้านการใช้พลังงานทดแทน เช่น Wind Power, Hydro Power, Solar Cell เป็นต้น โดยจะส่งเสริมและสนับสนุนให้สิ่งจูงใจ และเงินอุดหนุนแก่อุตสาหกรรมการผลิตที่เพิ่มการจ้างงานในสาขาที่เป็นมิตรและส่งเสริมสิ่งแวดล้อม โดยการใช้เงินงบประมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Stimulus) มาใช้ในการผลักดันอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน

3.2 สภาผู้แทนสหรัฐฯ ผ่านพระราชบัญญัติ American Clean Energy and Security 2009 (HR 2454) ซึ่งจะควบคุมในด้านก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) และมลภาวะด้านต่างๆ กฏหมายจะส่ง ผลต่อเสียธุรกิจการค้าของสหรัฐฯ เป็นอันมาก และให้อำนาจสำนักงาน US Environment Protection Agency: EPA เป็นผู้กำกับดูแล ปัจจุบันวุฒิสภา (Senate) ไม่เห็นด้วยกับพรบ.ดังกล่าว คาดว่าจะมีวุฒิสมาชิกจะเสนอพรบ.ฉบับใหม่แทนของฉบับสภาผู้แทนฯ อีกทั้งจะเพิกถอนอำนาจการดูแลของ EPA

3.3 วุฒิสมาชิก Jackie Speier (Democrat-California) เสนอร่างพรบ. Children's Toxic Metals Act 2010 โดยมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมการใช้สารเคมีอันตราย เช่น Lead, Barium, Cadmium และ Antimony กับสินค้าเด็กใช้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการ House Committee on Energy and Commerce และ สำนักงาน US Environment Protection Agency (EPA) จะจัดทำรายชื่อสารเคมีอันตราย และออกกฎระเบียบ คล้ายกับกฎหมาย REACH Law ของ EU ในการควบคุมและป้องกันอันตรายที่จะเกิดต่อผู้บริโภคและสภาพแวดล้อม

4. การปรับปรุงระบบให้สิทธิประโยชน์ประเทศคู่ค้า: ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะขยายเวลาให้สิทธิประโยชน์การเว้นภาษีนำเข้า หรือ GSP ให้แก่ประเทศคู่ค้าออกไปอีก 1 ปีในปี 2553 แต่สหรัฐฯ จะใช้เวลาในระหว่างปี 2553 นี้ จะดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงการกฎหมายให้สิทธิประโยชน์ด้านการยกเว้นภาษีใหม่เพื่อบังคับใช้ในปี 2554 โดยจะพิจารณาประเด็นในเรื่อง

4.1 สหรัฐฯต้องการให้สิทธิประโยชน์ GSP ช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนา (Least Developed Countries) โดยเฉพาะประเทศในทวีปแอฟริกา และ ในกลุ่มประเทศในทะเลแคริเบียน และจะตัดประเทศที่ได้รับผลประโยชน์สูงออกไป เช่น บราซิล อินเดีย และ แอฟริก้าใต้

4.2 สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะรวม Generalized System of Preferences (GSP), Andean Trade Preference Act (ATPA), Caribbean Basin Initiative (CBI), African Growth Opportunity Act (AGOA) และ Haiti’s HOPE Act เข้าด้วยกันเป็นโปรแกรมเดียวกัน

4.3 R ep. James McDermott (Democrat-Washington) เสนอร่างพรบ. New Partnership for Trade Development Act of 2009 (HR 4101) เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมาและปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุกรรมาธิการ House Ways and Means, Subcommittee โดย ร่างพรบ.ฉบับนี้จะการแปรญัตติ (Amended) ฉ พรบ. Trade Act of 1974 โดยการให้สิทธิประโยชน์แก่กลุ่มประเทศ Sub Saharan African Countries และการแก้ไขระเบียบแหล่งที่มาของสินค้าของประเทศด้อยพัฒนา

5. การคุ้มครองแรงงาน (Women & Child Labor) : สหรัฐฯ มุ่งใช้มาตรการคุ้มครองแรงงาน ความรับผิดชอบของนายจ้างต่อสังคม การแรงงานเด็กและสตรี และ การกดขี่แรงงาน

5.1 กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ กำลังดำเนินการพิจารณาจะออกกฎระเบียบห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรกรรมที่ใช้แรงงานเด็กในการผลิต

5.2 การจัดทำฐานข้อมูลรายชื่อสินค้า และ แหล่งผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานเด็กและสตรี เปิดเผยให้สาธารณชนทราบและค้นหาได้ รวมไปถึงการให้แหล่งผลิตที่ถูกกล่าวหาสามารถชี้แจ้งให้สหรัฐฯ ทราบข้อเท็จจริง เพื่อปรับปรุงข้อมูลได้

5.3 การผลักดันการผลิตและพัฒนาแบบยืนยั่งยืน (Sustainable Manufacturing & Development) และ การค้าแบบยุติธรรม (Fair Trade) ซึ่งหมายถึง การตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่มีผลกระทบในทางลบต่อความต้องการของคนรุ่นต่อไปในอนาคต

6. Buy America: เป็นมาตรการหนึ่งของแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ(Economic Stimulus Plan) ซึ่งบังคับผู้ประกอบการที่ประมูลโครงการของรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องใช้วัตถุดิบที่ผลิตในสหรัฐฯ ซึ่งมีข้อโต้แย้งจากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ จำนวนมาก สหรัฐฯ จะแก้ไขและปรับปรุงหลักการและรายละเอียดใหม่ ให้มีความเข้มงวดยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการสหรัฐฯ มากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นกับประเทศแคนาดาและกลุ่ม EU เพื่อให้เกิดความเสมอภาคระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า เช่น การแก้ไขเรื่องการประมูลโครงการของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งสหรัฐฯ เปิดเสรีทุกระดับของรัฐ แต่ประเทศแคนาดาไม่อนุญาตให้ต่างประเทศเข้าไปประมูลโครงการท้องถิ่น

7. การผลักดันการส่งออกสินค้าของสหรัฐฯ: ประธานาธิบดี Barack Obama ต้องการให้สหรัฐฯ เพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าเป็นจำนวน $3,000 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณสองเท่าตัวของปัจจุบัน ภายใน 5 ปี (2553-2557) โดยมีมาตรการ ดังนี้

7.1 การส่งเสริมการส่งออกสินค้า โดยมุ่งการผลักดันและเพิ่มศักยภาพของธุรกิจขนาดเล็กและกลางของสหรัฐฯ (Small & Medium Enterprise) ในการส่งออกสินค้า ด้วยการให้ความรู้การศึกษา การชี้ช่องทาง การสร้างเครือข่ายการติดต่อลูกค้า การให้ความช่วยเหลือรวมไปถึงการจัดหาสินเชื่อเงินกู้เพื่อการส่งออก (Export Finance)

7.2 การผลักดันให้ประเทศคู่ค้ายกเลิกข้อกีดกันสินค้าสหรัฐฯ รวมไปถึงการขอความร่วมมือให้ประเทศคู่ค้าเคร่งครัดต่อการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเป็นการเปิดตลาดให้สินค้าของสหรัฐฯ เข้าไปจำหน่ายตลาดในประเทศคู่ค้าได้เพิ่มมากขึ้น

7.3 การจัดตั้ง Task Force ประกอบไปด้วย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน และ กระทรวงกลาโหม เพื่อให้ปรับปรุงแนวทางการบริการ และระเบียบข้อบังคับให้สอดคล้องกัน เพื่อให้สนับสนุนการส่งออกสินค้าของสหรัฐฯ

7.4 สหรัฐฯจะปรับปรุงกฎหมาย Export Control ของสหรัฐฯ ซึ่งล้าสมัย หมดอายุไปตั้งแต่ปี 2544 และไม่ได้รับการปรับปรุงเลย จึงควรได้รับแก้ไขให้ทันสมัยเพื่อสนับสนุนการส่งออกของ สหรัฐฯ ปัจจุบัน รัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีความเห็นสอดคล้องกับภาคเอกชนเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมาย Export Control ทั้งสภาผู้แทนฯ และ วุฒิสภากำลังเตรียมการเสนอร่างปรับปรุงกฎหมาย Export Control

7.5 การติดตามปัญหา อุปสรรค และมาตรการกีดกันทางการค้า (Tariff & Non-Tariff Barriers) อย่างใกล้ชิด และการจัดทำฐานข้อมูลเผยแพร่แก่ผู้ประกอบการสหรัฐฯ ได้ตรวจสอบและค้นหา รวมทั้งการรับแจ้งเรื่องข้อกีดกันทางการค้าจากผู้ส่งออกสหรัฐฯ เพื่อนำไปหาทางช่วยแก้ไขปัญหา

ความเห็น/ข้อพิจารณา

1. ปัจจุบัน เป้าหมายสำคัญของรัฐบาลสหรัฐฯ มุ่งในเรื่องการสร้างงานแก้ไขปัญหาการว่างงาน และ การผลักดัน Healthcare Reform ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาฯ ให้ความเห็นว่า ร่างกฏหมายทางการค้าหลายฉบับที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นจะไม่ได้รับการพิจารณาในปี 2553 หรือ ได้รับการขยายเวลาการพิจารณาออกไป เนื่องจากปี 2553 เป็นปีของการเลือกทั่วไปของสหรัฐฯ (จะมีขึ้นทุกๆ 2 ปี) สมาชิกสภา และวุฒิสมาชิก จำนวนหนึ่งในสามจะครบวาระและต้องมีการเลือกตั้งขึ้นใหม่ ดังนั้น นักการเมืองที่จะพ้นหน้าที่เหล่านี้ จะให้ความสนใจในการหาเสียงเลือกตั้ง และจะให้ความสนใจในการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับใหม่ลดลงไป ยกเว้นกฎหมายที่จะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง

2. บริษัทที่ปรึกษากฎหมายฯ ให้ความเห็นว่า สหรัฐฯ จะลดความสนใจในการพิจารณาเรื่องโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ซึ่งอาจจะมีการหารือและถกเถียงกัน ในเรื่องการคืน GSP หรือ การเพิกถอน GSP หรือ การขยายเวลาให้ GSP ออกไป แต่จะไม่มีการตัดสินใจเด็ดขาดลงไป เพราะว่าสหรัฐฯ จะให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงหลักใหม่ของการให้สิทธิประโยชน์ (GSP Reform) ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการขอเรียกคืน GSP ของสินค้าไทย

3. มาตรการสนับสนุนการเพิ่มการส่งออกสินค้าของสหรัฐฯ จะมีผลต่อแหล่งนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ซึ่งมีข้อกีดกันการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ที่สหรัฐฯ จะนำมาเป็นข้อแลกเปลี่ยนหรือบังคับให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาด (Market Access) ให้กับสินค้าสหรัฐฯ มิเช่นนั้น สหรัฐฯ จะดำเนินการตอบโต้ต่อประเทศคู่ค้า

4. ปัจจุบัน สหรัฐฯ ให้ความสนใจต่อการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement) กับประเทศโคลอมเบีย เกาหลี และ ปานามา ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2522 เท่านั้น จะไม่ทำเพิ่มเติมในปี 2553 แต่สหรัฐฯ หันมาให้ความสำคัญของ TPP ว่าเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกและของสหรัฐฯ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ