รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าภูมิภาคละตินอเมริกา ระหว่างวันที่ 1 — 15 มี.ค.2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 28, 2010 15:53 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. บราซิล ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกา เพิ่มจากอัตราปกติ ๑๐๒ รายการ

จากการที่บราซิล ชนะกรณีฟ้องสหรัฐอเมริกาต่อองค์การการค้าโลกว่า สหรัฐอเมริกาได้ทำการอุดหนุนผู้ผลิต และผู้ส่งออกฝ้าย โดยขัดต่อกติกาสากล และได้รับสิทธิในการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯเพิ่ม จากอัตราปกติ เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมมูลค่า ๘๒๙ ล้านเหรียญสหรัฐ จำแนกเป็นเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากสินค้า ๕๙๑ ล้านเหรียญสหรัฐ และเรียกเก็บเพิ่มจากทรัพย์สินทางปัญญาและบริการ ๒๓๘ ล้านเหรียญสหรัฐ

๘ มีนาคม ๒๕๕๓ รัฐกิจจาบราซิล ลงประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นจากอัตราปกติ เพื่อให้ครอบคลุมมูลค่าชดเชยที่ได้รับอนุมัติไว้ รวม ๑๐๒ รายการ โดยให้มีผลใช้บังคับ ๓๐ วันนับแต่วันที่ประกาศ

ทั้งนี้ รายการสินค้าเรียกเก็บภาษีเพิ่มดังกล่าว สามารถดูได้ที่ www.depthai.go.th

อนึ่ง การเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากอัตราปกติของทรัพย์สินทางปัญญาและบริการ ทางการบราซิลกำลังพิจารณา และคาดว่าจะประกาศได้ในวันที่ ๒๓ มีนาคมที่จะถึง

๒. การส่งออกของบราซิล ขยายตัวร้อยละ ๒๕

กระทรวงการพัฒนา อุตสาหกรรม และการค้าระหว่างประเทศ หรือกระทรวงพาณิชย์บราซิล รายงานการค้าระหว่างประเทศของบราซิล สัปดาห์แรกเดือนมีนาคม ๒๕๕๓ ว่า บราซิลส่งสินค้าออกมูลค่า ๓,๓๗๙ ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มีการนำเข้าสินค้ามูลค่า ๒,๘๗๙ ล้านเหรียญสหรัฐส่งผลให้สัปดาห์แรกเดือนมีนาคม เกินดุลการค้า ๕๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ

นับแต่ต้นปี — ๗ มีนาคม ๒๕๕๓ บราซิลมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ ๕๓,๐๓๕ ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ ๒๔.๕ เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการส่งออกมูลค่า ๒๖,๘๘๑ ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๔.๗ และเป็นการนำเข้ามูลค่า ๒๖,๑๕๔ ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๐.๓ เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันปีก่อน

ขณะที่ กระทรวงเกษตรบราซิลแถลงว่า เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บราซิลส่งออกสินค้าเกษตร เป็นมูลค่า ๔.๔ พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ร้อยละ ๒๐.๖ โดยเนื้อวัว สุกร และไก่มีมูลค่าการส่งออกรวมกันเกือบ ๑ ใน ๔ ของมูลค่าข้างต้น รองลงมาได้แก่ น้ำตาล และกากถั่วเหลือง สำหรับสินค้าเกษตรที่ส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ในอัตราเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน ได้แก่ น้ำตาล เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕๐.๘ กากถั่วเหลือง เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๙ เนื้อสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๔.๕ และเอทานอล เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๒ ส่วนตลาดปลายทางที่รับซื้อสินค้าเกษตรจากบราซิล เพิ่มสูงขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนมาก ได้แก่ ยุโรปตะวันออก เพิ่มขึ้นร้อยละ ๗๖.๓ ตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๐.๑ และเอเชีย เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๒.๘

ส่วน สำนักงานสถิติแห่งชาติบราซิล, Instituto Brasileiro de Geografia e Estatistica (IBGE) สรุปผลิตภัณท์มวลรวมประชาชาติ หรือ GDPของบราซิล ปี ๒๕๕๒ ว่า มีอัตราขยายตัว ติดลบร้อยละ ๐.๒ ถือเป็นการติดลบครั้งแรกนับแต่ปี ๒๕๓๕ ที่เคยติดลบร้อยละ ๐.๔๗ โดยระบุว่า การบริโภคของภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งภาคบริการ ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓.๗, ๔.๑ และ ๒.๖ ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ได้ช่วยรักษาระดับ GDP ไม่ให้เลวร้ายลงไปมาก จากการที่ ภาคการลงทุน ภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร มีอัตราขยายตัวติดลบร้อยละ ๙.๙, ๕.๕ และ ๕.๒ ตามลำดับเมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๑

อนึ่ง GDP ภาคการผลิตของบราซิล จะมีสัดส่วนน้ำหนักของอุตสาหกรรม : บริการ : การเกษตร ที่อัตรา ๓๐ : ๖๕ : ๕ ตามลำดับ ขณะที่ GDP ภาคการบริโภค จะมีสัดส่วนน้ำหนักของ การบริโภคในครัวเรือน : การลงทุน : การบริโภคของภาครัฐ : การค้าระหว่างประเทศ ที่อัตรา ๖๐ : ๒๐ : ๑๘ : ๒ ตามลำดับ

๒. บราซิล ขึ้นเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ ๓ ของโลก

หนังสือพิมพ์ Estado de S. Paulo อ้างข้อมูลองค์การการค้าโลก ระบุว่า ในปี ๒๕๕๑ ประเทศบราซิล ส่งออกสินค้าเกษตร เป็นมูลค่า ๖๔.๑ พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก ๔๘.๓ พันล้านเหรียญสหรัฐในปี ๒๕๕๐ ถึงร้อยละ ๓๒.๗ และส่งผลให้บราซิล ขึ้นลำดับเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่อันดับ ๓ ของโลก รองจาก สหรัฐ และสหภาพยุโรป โดยมีออสเตรเลีย และจีน เป็นผู้ตาม

ข่าวแจ้งว่า เมื่อปี ๒๕๔๓ บราซิลเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรลำดับที่ ๖ ของโลก แต่จากการขยายตัวของการส่งออก ระหว่างปี ๒๕๔๓ — ๒๕๕๑ ที่อัตราเฉลี่ยร้อยละ ๑๘.๖ ต่อปี ขณะที่สหภาพยุโรป,สหรัฐอเมริกา, แคนาดาและออสเตรเลีย การส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวเฉลี่ยต่อปี ในอัตราร้อยละ ๑๑.๔, ๘.๔, ๖.๓ และ ๖.๐ ตามลำดับ

ทั้งนี้ การที่บราซิลมีพื้นที่ทำการเกษตร น้ำ และแสงแดดที่สมบูรณ์ สามารถกระจายการผลิต ทั้งสินค้าเกษตรเขตอบอุ่น และเขตร้อน ประกอบความได้เปรียบในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ผ่านมาจนถึงปี ๒๕๔๙ และการขยายความต้องการสินค้าเกษตรในเอเซีย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกของบราซิลขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก

อนึ่ง นาย Garry Smith นักวิเคราะห์อาวุโส องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมา บราซิลมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ ทั้งจากทรัพยากรธรรมชาติและอัตราแลกเปลี่ยน ที่ทำให้ต้นทุนสินค้าเกษตรส่งออกของบราซิล ดูจะมีราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับประเทศผู้ส่งออกอื่น ขณะที่นาย Alexandre Mendonca de Barros ผู้จัดการบริษัทวิเคราะห์ MB Agro ได้ให้ความเห็นว่าในปัจจุบันบราซิลเป็นประเทศ ที่มีพื้นที่เพาะปลูกสินค้าเกษตรเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ โดยบางพื้นที่สามารถปลูกข้าวโพด หลังการเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองแล้วเสร็จ เปรียบเสมือนสามารถทำการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร ๒ ฤดูในแต่ละปี

๓. อุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์ของบราซิล สูญเสียตลาดให้กับสินค้านำเข้า

สมาคมผู้ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ของบราซิล (Associacao Brasileira da Maquinas e Equipamentos ; Abimaq) แจ้งว่า อัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์ของบราซิล นอกจากต้องสูญเสียตลาดต่างประเทศแล้ว ตลาดภายในประเทศยังต้องสูญเสียให้กับสินค้านำเข้าเนื่องจากโรงงานต่างๆ จะเปลี่ยนไปซื้อเครื่องจักรของจีน และไต้หวันเป็นจำนวนมาก แม้แต่ผู้ผลิตเครื่องจักรฯ ของบราซิลเอง ก็ยังปรับบทบาทจากการเป็นผู้ผลิต ไปเป็นผู้นำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์จากจีนและไต้หวันแทน

ทั้งนี้ Abimaq อ้างคำกล่าวของนาย Marcelo Cruane ประธานบริษัท Kone ผู้ผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่ตั้งมากว่า ๖๐ ปีว่า บริษัทฯ ได้ปรับฐานะจากการเป็นผู้ผลิต มาเป็นผู้นำเข้าเครื่องจักรฯ จากจีน เข้าไปจำหน่ายในบราซิลหลายเดือนแล้ว เพราะเห็นว่าไม่สามารถจะดำรง ฐานะเป็นผู้ผลิตได้เช่นเดิมเมื่อพบว่า ต้นทุนวัตถุดิบ เช่น เหล็กที่จะนำมาผลิตเครื่องจักรในบราซิล มีราคากิโลกรัมละ ๓ เหรียญสหรัฐ ขณะที่ราคาเครื่องจักรสำเร็จรูปทั้งเครื่องนำเข้าจากจีน มีราคากิโลกรัมละเพียง ๒.๕ — ๓ เฮอัล ทำให้ยอดขายของบริษัท เพิ่มจากที่เคยขายได้ ๕๐ — ๖๐ เครื่อง เป็น ๒๗๐ — ๓๒๐ เครื่องต่อเดือน ทั้งยังสามารถลดจำนวนพนักงาน/ คนงาน จากที่เคยมีมากกว่า ๔๐๐ คน ในปัจจุบันเหลือไม่ถึง ๑๐๐ คน

อนึ่ง นอกจากอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลแล้ว อุตสาหกรรมอื่นๆก็ประสบปัญหาค่อนข้างมาก เมื่อโรงงานต่างๆ ได้หันไปใช้อุปกรณ์นำเข้าเพิ่มมากขึ้น จาก ๔ ปีที่แล้ว ที่โรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อ สร้างขึ้นใหม่ หรือโรงงานอุตสาหกรรมเดิมจะบำรุงรักษาเครื่องจักร/ เครื่องยนต์ของตน โดยใช้อุปกรณ์หรือชิ้นส่วนในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖๐ ของมูลค่า ปัจจุบันใช้ชิ้นส่วน หรือวัตถุดิบในประเทศไม่ถึงร้อยละ ๒๐

๔. เอทานอลในบราซิล เริ่มแข่งขันราคากับน้ำมันเบนซิน

Center for AdvanceStudies in Applies Economic ; Cepea/Esalq รายงานราคาแอลกอฮอ หรือเอทานอล ( อี.๑๐๐) ชนิดใช้กับรถยนต์ หน้าโรงกลั่นในเซาเปาโล สัปดาห์แรกเดือนมีนาคม มีราคา ๐.๙๓๕ เฮอัลต่อลิตร ลดลงร้อยละ ๖.๑๕ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า และเป็นการลดลงของราคาต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ ๗ หรือลดลงร้อยละ ๒๒.๔ นับแต่ต้นปีที่ผ่านมาขณะที่ราคาเอทานอลหน้าสถานีบริการเชื้อเพลิงในเซาเปาโล แม้จะลดลงในอัตราที่น้อยกว่า แต่ได้ลดลงเหลือ ๑.๗๘๗ เฮอัลต่อลิตร หรือใกล้เคียงกับร้อยละ ๗๐ ของราคาน้ำมันเบนซิน ถือเป็นระดับราคาที่แข่งขันที่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อใช้พลังงานทางเลือกของบราซิล แนะนำว่า การใช้เอทานอลทดแทนน้ำมันเบนซินโดยทั่วไป ให้ใช้เมื่อเอทานอลมีราคาต่ำกว่าร้อยละ ๗๐ ของราคาน้ำมัน

อนึ่ง อัตราความสิ้นเปลืองของการใช้พลังงานทั้งสองประเภทต่างกัน ขึ้นกับรถยนต์และผู้ขับขี่ ขณะที่ทางการบราซิลบังคับให้น้ำมันเบนซินที่จำหน่ายหน้าสถานีบริการต้องผสมเอทานอลในอัตราร้อยละ ๒๕ ของปริมาตร หรือเป็นน้ำมันเบนซิน อี.๒๕

กิจกรรมที่ดำเนินการระหว่างวันที่ ๑ — ๑๕ มี.ค.

1. ดำเนินการจัดทำหน้าเว็ปไซด์ของ สอ./สคร.เซาเปาโล ภาษาโปรตุเกส เพื่อเผยแพร่ และเปิดให้บริการ WWW.thaitradesaopaulo.com.br

2. ประสาน/ ทาบทามร้านอาหารไทยการ์เดนท์ และนาย Richard Pfanderผู้จัดการฝ่ายอาหารและเครื่องดื่ม โรงแรม Grand Hyatt เมืองเซาเปาโล จัดเทศกาลอาหารไทย ในช่วงสัปดาห์วันแรงงาน ๑ พฤษภาคมที่จะถึง

3. เชิญชวนผู้ประกอบการบราซิลเข้าร่วมเป็นคณะผู้แทนการค้าเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ และงานแสดงสินค้าของขวัญและเครื่องเรือนนานาชาติในช่วงเดือนเมษายน ๒๕๕๓

4. ประสาน สอท.กรุงบราซิเลีย เพื่อการนัดหมายให้กับคณะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่จะเดินทางไปในเดือนเมษายน ๒๕๕๓

การค้าระหว่างประเทศไทย กับ

                            ส่งออก (ล้าน $US) นำเข้า
บราซิล      ๒๕๔๙      628.0             866.6
           ๒๕๕๐      938.3           1,035.1
           ๒๕๕๑    1,229.0           2,100.0
           ๒๕๕๒    1,000.4           1,325.4
มค-มค ๕๑              83.7             234.3
มค-มค ๕๒              49.9              30.6
มค-มค ๕๓              93.0              72.7

เฟรนซ์-    ๒๕๔๙         1.6                -
กิยานา     ๒๕๕๐         1.6                -
          ๒๕๕๑         1.5               0.1
          ๒๕๕๒         1.6                -
มค-มค ๕๑               0.1                -
มค-มค ๕๒               0.0                -
มค-มค ๕๓               0.1                -
กิยานา    ๒๕๔๙          3.8               0.8
         ๒๕๕๐          3.4               0.8
         ๒๕๕๑          4.4               8.4
         ๒๕๕๒          6.7               1.3
มค-มค ๕๑               0.4                 -
มค-มค ๕๒               0.3               0.0
มค-มค ๕๓               0.6               0.3

สุรินาม    ๒๕๔๙         11.7               0.5
         ๒๕๕๐         14.5               0.1
         ๒๕๕๑         21.6                -
         ๒๕๕๒         15.6               0.5
มค-มค ๕๑               1.6                -
มค-มค ๕๒               1.1               0.0
มค-มค ๕๓               0.7               0.1
เวเนซู-   ๒๕๔๙         82.1               1.9
เอลา     ๒๕๕๐        117.3              10.5
         ๒๕๕๑        169.9               7.5
         ๒๕๕๒         62.2               4.7
มค-มค ๕๑              23.2               0.1
มค-มค ๕๒               5.0               0.4
มค-มค ๕๓               6.2               0.1
ดุลการค้า (พันล้าน $US)
              ส่งออก       นำเข้า
๒๕๔๗           96.7        62.8
๒๕๔๘          118.5        73.6
๒๕๔๙          137.8        91.4
๒๕๕๐          160.6       120.6
๒๕๕๑          197.9       173.0
๒๕๕๒          153.0       127.6
มค.๕๒           9.8        10.3
กพ.             9.6         7.8
มีค.            11.8        10.0
เม.ย.          12.3         8.6
พค.            12.0         9.3
มิย.            14.5         9.8
กค.            14.1        11.2
สค.            13.8        10.8
กย.            13.9        12.5
ตค.            14.1        12.8
พย.            12.6        12.0
ธค.            13.7        12.3
มค.๕๓          11.3        11.5
กพ.            12.2        11.8

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเซาเปาโล

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ