"ศรีรัตน์" กระตุ้นผู้ประกอบการไทยปรับแนวทางโฆษณาให้ตรงใจตลาดผู้บริโภคในสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 28, 2010 16:26 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ผู้บริโภคสหรัฐฯ จะหลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่คุ้นเคยมาทดลองใช้ แต่จะหันกลับไปซื้อเฉพาะสินค้าที่ตนเองใช้เป็นประจำแทน ทำให้ร้านค้าปลีกตัดสินค้าบางรายการออกจากชั้นวางจำหน่ายสินค้า และเพิ่มสินค้าอื่นทดแทน

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก ในฐานะหัวหน้ากลุ่มสินค้า (Chief of Product) ดูแลกลุ่มสินค้าอาหารและเกษตร เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐฯได้รายงานสภาวะตลาดสินค้าอาหารรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดสหรัฐฯว่า ตลาดการค้าสหรัฐฯมีความหลากหลายของสินค้าสูงมาก และเป็นตลาดที่มีบทบาทสำคัญสูงสุดในเรื่องการการไม่หยุดนิ่งที่จะผลิตอาหารใหม่ๆ ออกมาป้อนตลาด ในแต่ละปีจะมีสินค้าอาหารใหม่ผลิตออกมาสู่ตลาดครั้งแรกหลายหมื่นรายการ

ทั้งนี้ประเภทของสินค้าที่มีการผลิตใหม่ออกสู่ตลาดมากที่สุด ได้แก่ สินค้าเครื่องดื่ม อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน ผักและผลไม้ ข้าวและพาสต้า อาหารอบและ ส่วนผสมสำหรับการอบอาหาร นอกจากนี้ประมาณ 1 ใน 3 ของสินค้าอาหารใหม่ๆ ที่วางตลาดสหรัฐจะใช้เทคนิกการโฆษณาสินค้าอาหารในแง่สินค้าเพื่อสุขภาพและสะดวกในการใช้ โดย 5 คำแรกที่นิยมใช้กันมากเรียงตามลำดับ คือ ธรรมชาติ (natural), เกษตรอินทรีย์ (organic), แบ่งทานเป็นห่อเล็กๆ (single serving), ด่วน (quick) และสด (fresh)

“จากสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำ ผู้บริโภคสหรัฐฯจะหลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่คุ้นเคยมาทดลองใช้ แต่จะหันกลับไปซื้อเฉพาะสินค้าที่ตนเองใช้เป็นประจำแทน ทำให้ร้านค้าปลีกตัดสินค้าบางรายการออกจากชั้นวางจำหน่ายสินค้า และเพิ่มสินค้าอื่นทดแทน เพื่อเพิ่มยอดจำหน่ายและกำไร” นางศรีรัตน์ กล่าว และว่า อย่างไรก็ตามโรงงานผลิตสินค้าอาหารในไทยควรต้องศึกษาคำต่างๆ ที่ใช้ในการโฆษณาสินค้าใหม่ๆ เพื่อเป็นแนวทางให้เห็นถึงภาพลักษณ์ของตลาดการบริโภคและตลาดผู้บริโภค เช่น จากคำต่างๆ ที่นิยมใช้ในการโฆษณาสินค้าอาหารทำให้ทราบว่า ในขณะนี้รสนิยมของตลาด คือ สินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ สะดวก รวดเร็วในการบริโภคและขนาดบรรจุที่เหมาะสมสำหรับการบริโภคของคนๆ เดียว

ทั้งนี้สินค้าใหม่ๆ ที่วางขายในตลาดสหรัฐ ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่ใช้ยี่ห้อของร้านค้า การเติบโตของสินค้าประเภทนี้ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2007 และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยร้อยละ 3 เป็นสินค้าที่ใช้ยี่ห้อของร้านค้า ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากการทำตลาดของเจ้าของยี่ห้อเอง ประกอบกับ เจ้าของสินค้าสร้างความแตกต่างออกจากคู่แข่งว่า เป็นสินค้าใหม่ที่ร้านอื่นไม่มี เป็นต้น และนับเป็นโอกาสดีที่ เริ่มมีผู้นำเข้าสหรัฐฯนำสินค้าไทยมาวางตลาด ด้วยยี่ห้อของตนเองเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ