ข้อมูลอุตสาหกรรมเครื่องประดับสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 2, 2010 11:53 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การผลิตในประเทศสหรัฐ

จากสถิติในปี 2007 ของ U.S. Census Bureau จำนวนโรงงานผลิตเครื่องประดับของสหรัฐฯ (ไม่รวมเครื่องประดับเทียม) มีประมาณ 1.7 พันโรงงาน ลักษณะโรงงานผลิตในสหรัฐฯส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก การจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมมีเพียงประมาณ 33,000 คน ในจำนวนนี้ประมาณ 21,000 คนเป็นแรงงานผลิตเครื่องประดับ มูลค่าการผลิตในปี 2008 ประมาณ 8.3 พันล้านเหรียญฯ ส่วนใหญ่หรือประมาณร้อยละ 70 ของมูลค่าการผลิตมาจากการผลิตเครื่องประดับทองคำและทองคำขาว ประมาณร้อยละ 10 เป็นมูลค่าการผลิตเครื่องประดับเงิน วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่หรือประมาณร้อยละ 32 เป็นโลหะมีค่าที่เป็นทองคำและทองคำขาว ประมาณร้อยละ 22 เป็นอัญมณีมีค่า เช่น เพชร อัญมณีกึ่งมีค่า อัญมณีที่มนุษย์ผลิตขึ้น (synthetic) และไข่มุกข์ แหล่งผลิตเครื่องประดับที่สำคัญของสหรัฐฯอยู่ในรัฐนิวยอร์ค (นครนิวยอร์ค) และรัฐ Rhode Island มูลค่าการผลิตของทั้งสองแหล่งผลิตนี้รวมกันเท่ากับประมาณร้อยละ 51 ของมูลค่าการผลิตสินค้าเครื่องประดับรวมทั้งสิ้นของสหรัฐฯ

ลักษณะตลาดการค้าสินค้าเครื่องประดับ

มูลค่าตลาด ปีละประมาณ 30 พันล้านเหรียญฯ ลักษณะตลาดการค้าประกอบไปด้วยตลาดย่อยๆ (market segments) เป็นจำนวนมากทั้งในระดับค้าปลีกและในระดับค้าส่ง สินค้าที่จำหน่ายในตลาด ในสภาวะการณ์เศรษฐกิจปกติ เครื่องประดับที่ได้รับความนิยมบริโภคและมียอดจำหน่ายสูงคือ (ก) เครื่องประดับที่ทำจากโลหะมีค่า ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือเพชร ตลาดเครื่องประดับเพชรคิดเป็นประมาณร้อยละ 46 ของตลาดเครื่องประดับรวมทั้งสิ้น (ข) ในทุกสภาวะการณ์ของเศรษฐกิจตลาดเครื่องประดับสำหรับใช้ในโอกาสงานหมั้นและงานแต่งงาน (bridal jewelry) เป็นตลาดที่เข้มแข็งที่สุดและมีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 35 ของตลาดเครื่องประดับรวมทั้งสิ้น (ค) เครื่องประดับทองคำมีส่วนแบ่งในตลาดการบริโภคประมาณร้อยละ 11 เครื่องประดับทองคำที่จำหน่ายในตลาดสหรัฐฯส่วนใหญ่จะเป็นทอง 10K, 14K, 18K และ 22K มีแนวโน้มว่าทอง 10K กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆเนื่องจากมีราคาถูก (ง) เครื่องประดับทำจากอัญมณีมีค่าอื่นๆ มีส่วนแบ่งในตลาดการบริโภคประมาณร้อยละ 9 ช่องทางจำหน่ายในตลาดค้าปลีกมีทั้งที่เป็น specialty stores, department stores, mass merchants เช่น Wal-Mart (ตลาดค้าปลีกเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ) และการขายตรง ประมาณร้อยละ 47 ของยอดจำหน่ายสินค้าเครื่องประดับของสหรัฐฯในปี 2008 มาจากร้านค้าปลีกที่เป็น specialty stores ร้อยละ 11 มาจากร้านค้าปลีกประเภท discounters เช่น Wal-Mart ร้อยละ 8 มาจากร้านค้าประเภท department stores ร้อยละ 2 มาจากร้านค้าปลีกที่เปิดขายให้แก่สมาชิกเท่านั้น ร้อยละ 6 มาจากร้านค้าประเภท mass merchants ร้อยละ 6 มาจากการขายตรงผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ทหรือ mail orders ที่เหลือเป็นการขายในรูปแบบอื่นๆ ช่องทางการขายในตลาดค้าปลีกที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด คือการขายทางระบบอินเตอร์เน็ทระบบการกระจายสินค้าเครื่องประดับของสหรัฐฯ เป็นระบบที่ไม่ซับซ้อน ผู้ค้าปลีกส่วนใหญ่จะซื้อสินค้าสำเร็จรูปจากโรงงาน ผลิตหรือจากผู้ค้าส่งหลายๆรายเพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคทั่วไปการกำหนดราคา การทำการตลาดและการส่งเสริมสินค้าเป็นความรับผิดชอบของผู้ค้าปลีก ผู้ค้าปลีกบางรายอาจจะขายสินค้าให้แก่โรงงาน ผลิตในลักษณะของการ “consignment” ผู้ค้าปลีกส่วนหนึ่งจะทำการผลิตสินค้าด้วยตนเอง ผู้ค้าปลีกกลุ่มนี้มีจำนวนมากและเป็นธุรกิจขนาดเล็กมาก

สภาวะการณ์ตลาดปัจจุบัน

สภาวะการณ์เศรษฐกิจตกต่ำของสหรัฐฯในขณะนี้ส่งผลกระทบต่อตลาดเครื่องประดับอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้ว่าในปัจจุบันราคาของสินค้าเครื่องประดับที่ทำจากโลหะมีค่าและที่ทำจากอัญมณีอยู่ในระดับปานกลาง แต่ตลาดการบริโภคโดยรวมยังคงอยู่ในสภาวะการณ์ตกต่ำอย่างมากทั้งนี้ตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยระดับราคาแพงก็อยู่ในสภาวะการณ์ตกต่ำอย่างมากด้วยเช่นกัน สภาวะการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่กระทบต่อการบริโภคของผู้บริโภคระดับสูงอย่างรุนแรงมากจนเห็นได้ชัดเจน ผู้ค้าปลีกมีสินค้าตกค้างขายไม่ออกเป็นจำนวนมากทำให้ผู้ค้าปลีกลดการสั่งซื้อสินค้า มีรายงานว่าผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าเครื่องประดับหลายๆรายระบุว่า จะลดจำนวนการเดินทางไปชมงานแสดงสินค้าเครื่องประดับ จะไปชมเฉพาะงานที่สำคัญๆเพื่อการพบปะสังสรรคและศึกษาดูสินค้า แต่ไม่มีความตั้งใจจะซื้อสินค้าที่นำมาแสดงนอกเสียจากว่าจะพบสินค้าที่สวยงามและแปลกใหม่อย่างมากที่ยังไม่มีวางจำหน่ายในตลาดก็อาจจะพิจารณาซื้อ สถานะการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯและตลาดทองคำปัจจุบันบีบบังคับให้ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ๆหลายรายเพิ่มช่องทางเพิ่มรายได้โดยการเข้าสู่ธุรกิจรับซื้อทองรูปพรรณจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ผู้ค้าส่งส่วนใหญ่มีสินค้าเหลือตกค้างมากเช่นกันจึงพยายามเสนอขายสินค้าโดยใช้นโยบายให้ราคาที่เป็นพิเศษอย่างมากและหลีกเลี่ยงการขึ้นราคาสินค้า ผู้ผลิตสินค้าพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายในการผลิตเพื่อให้สามารถรักษาระดับราคาไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสของตลาดปัจจุบัน

แม้ว่าการบริโภคโดยรวมจะลดลงแต่โอกาสของตลาดยังคงมีอยู่ เพราะ

1. ลักษณะของตลาดที่แตกย่อยออกไปเป็นจำนวนมาก เปิดโอกาสให้แก่สินค้าหลากหลายประเภทและหลากหลายรูปแบบ

2. การบริโภคเครื่องประดับสำหรับใช้ในงานหมั้นหรืองานแต่งงานยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

3. เครื่องประดับที่มีรูปลักษณ์แปลกใหม่ สวยงาม ยังคงสามารถสร้างความสนใจให้แก่ผู้บริโภคสหรัฐฯ

4. เนื่องจากการบริโภคเครื่องประดับแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระดับรายได้ของผู้บริโภคแต่ละคน และตลาดการค้าก็แบ่งแยกออกไปตามระดับรายได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นแม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะตกต่ำและโอกาสโดยรวมของตลาดการบริโภคจะลดลงไปอย่างมากแต่ก็ยังไม่หมดไปโดยสิ้นเชิง

การค้าระหว่างประเทศ

การค้านำเข้า ส่วนใหญ่ของเครื่องประดับที่บริโภคในตลาดสหรัฐฯมาจากการนำเข้า ในระหว่างปี 2002 — 2007 การนำเข้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมามูลค่าการนำเข้าเครื่องประดับของสหรัฐฯเริ่มลดลง (ปี 2008 เป็นปีที่สหรัฐฯเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างแท้จริง) แหล่งอุปทานนำเข้าสำคัญของสหรัฐฯคืออินเดีย จีน ประเทศไทย คานาดา และอิตาลี สินค้านำเข้าจากประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้า (ก) เครื่องประดับทำด้วยเงิน และ (ข) เครื่องประดับ ทำด้วยอัญมณีมีค่าที่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นทองคำ ทองคำขาว หรือทองคำผสมทองคำขาว การนำเข้าเครื่องประดับที่เป็นทองคำและหรือทองคำขาวที่ผสมพลอยมีจำนวนน้อยมาก ในปี 2009 มูลค่านำเข้าของสินค้าทั้งสองรายการนี้คิดเป็นประมาณร้อยละ 76 ของมูลค่านำเข้ารวมทั้งสิ้นของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากประเทศไทย สินค้านำเข้าส่วนใหญ่จะได้สิทธิพิเศษไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า

การค้าส่งออก ในระหว่างปี 2003 — 2008 มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตลาดส่งออกหลักของสหรัฐฯคือฮ่องกง ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และคานาดา

กฎระเบียบ

1. เมื่อกลางปี 2009 ประธานาธิบดี Obama ได้ลงนามในกฎหมาย Jade Act

(ก) ห้ามการนำเข้าสหรัฐฯ ruby และ jadeite ที่มีแหล่งกำเนิดจากเมียนม่า ทั้งนี้รวมถึง ruby และ jadeite ที่ผ่านการเจียรนัยหรือการผลิตเป็นเครื่องประดับแล้วในประเทศที่สาม(รวมถึงประเทศไทย)

(ข) ผู้นำเข้าจะต้องระบุรหัสศุลกากร (Harmonized Tariff) ที่ถูกต้องเพื่อเป็นการยืนยันว่าไม่ใช่สินค้าที่มาจากเมียนม่า กลุ่มรหัสที่ถูกต้อง (เปลี่ยนแปลงแก้ไขใหม่และมีผลบังคับใช้วันที่ 27 กันยายน 2008)

  • 7103 Precious stones (other than diamonds)
  • 7113 Articles of Jewelry and parts thereof
  • 7116 Articles of natural or cultured pearls; precious or semi precious stones

(ค) ผู้ส่งออกที่ส่งสินค้าเข้าไปยังสหรัฐฯจะต้องทำการรับรองสินค้าอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรว่าสินค้านั้นไม่ใช่สินค้าที่มีแหล่งกำเนิดในเมียนม่า ต้องมีหลักฐานพร้อมแสดงให้ศุลกากรสหรัฐฯดูว่าไม่ใช่สินค้าจากเมียนม่า และในเอกสารส่งออกต้องระบุชื่อพนักงานที่รู้เรื่องการซื้อขายสินค้านั้นๆและสามารถตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับแหล่งที่มาสินค้าได้ไว้ด้วย

(ง) สินค้าที่ได้มีการนำเข้าสหรัฐฯไปแล้วก่อนวันที่ 27 กันยายน 2008 สามารถส่งออกไปนอกประเทศสหรัฐฯเพื่อวัตถุประสงค์ใดๆก็ตามและถูกส่งกลับ เข้าไปยังสหรัฐฯอีกครั้งได้ แต่ทั้งนี้สินค้าจะต้องคงอยู่ในสภาพเดิมเหมือนเมื่อเวลาส่งออก ไม่สามารถถูกเปลี่ยนแปลงใดๆได้ไม่ว่าจะเป็นการตัดเจียรนัย หรือทำเป็นเครื่องประดับ

2. เดิมหน่วยงาน Consumer Product Safety Commission ได้ออกกฎหมาย Consumer Product Safety Improvement Act กำหนดให้สินค้าเครื่องประดับสำหรับเด็กต้องผ่านการทดสอบปริมาณสารตะกั่วที่กำหนดว่าจะต้องไม่เกิน 600ppm และต้องมีใบประกาศนียบัตรรับรอง ในเดือนกันยายน ปี 2009 ได้มีการแก้ไขกฎหมายให้โลหะมีค่าเช่น karat gold, silver sterling และ platinum อัญมณีมีค่า และวัตถุบางรายการที่ใช้ในการผลิตเครื่องประดับเช่น stainless steel, pearls, coral, amber, wood, natural fiber, manmade fiber, bone, seashell, feathers, fur และ leather ได้รับการยกเว้นจาก การทดสอบและไม่ต้องมีใบประกาศนียบัตรรับรองทั้งนี้วัตถุเหล่านี้จะต้องไม่ถูกจัดการหรือเปลี่ยนแปลงใดๆที่จะทำให้เกิดสารตะกั่วเพิ่มขึ้น และได้ลดปริมาณสารตะกั่วในเครื่องประดับสำหรับเด็กลงเหลือไม่เกิน 300ppm

3. เครื่องประดับที่ทำด้วยทองหรือเงิน (ไม่รวมเครื่องประดับเทียม) ถูกควบคุมภายใต้กฎหมาย 3 ฉบับคือ (ก) The National Gold and Silver Stamping Act ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ กำหนดมาตรฐานความบริสุทธิของทองและเงินและการทำเครื่องหมายสินค้า (ข) Guides for the Jewelry, Precious Metal and Pewter Industries ของThe Federal Trade Commission กำหนดแนวทางมาตรฐานสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ การทำฉลากสินค้า การโฆษณา การทำการตลาด เป็นต้น (ค) Voluntary Product Standard PS 68-76 ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กำหนดการทำเครื่องหมายสินค้าที่ผลิตจากเงินและทองผสมกัน หรือสินค้าที่ใช้ทองหุ้ม

สรุปกฎหมายทั้งสามฉบับได้ดังนี้
  • กฎหมายกำหนดให้ระบุความบริสุทธิ์ของคุณภาพของโลหะแต่ไม่บังคับว่าต้องทำเครื่องหมายประทับบนสินค้า การระบุสามารถทำไว้บนใบเรียกเก็บเงินหรือบนฉลากที่ห้อยติดสินค้าได้ หากต้องการทำเครื่องหมายคุณภาพบนสินค้าต้องกระทำไว้ในตำแหน่งที่ใกล้กับการระบุเครื่องหมายการค้า บุคคลที่ทำเครื่องหมายรับรองคุณภาพบนสินค้าคือบุคคลที่ต้องรับผิดชอบต่อคุณภาพที่กล่าวอ้างสรรพคุณไว้
  • สินค้าที่ระบุว่าเป็น “gold” หมายถึงว่าเป็นสินค้าที่ทำจากทอง 24 กะรัตทั้งหมด หากมีส่วนผสมที่เป็น “gold alloys” จะต้องระบุจำนวน “karat” ไว้บนสินค้า สินค้าใดที่มีทองต่ำกว่า “10 karat” ไม่สามารถเรียกว่าเป็น “gold” แต่ยังคงต้องระบุจำนวน “karat”
  • เครื่องประดับที่เป็นทองชุบ หมายถึงเครื่องประดับที่ถูกเคลือบด้วยทองคำที่มีความหนาอย่างน้อย 1/2 micron ต้องระบุคุณภาพของทองคำเป็น K เช่น “12K Gold Plate”
  • เครื่องประดับที่ทำด้วย sterling silver เคลือบด้วยทอง ทองที่เคลือบจะต้องเป็นทองคุณภาพดีมีความหนาอย่างน้อย 2 1/2 microns
  • เครื่องประดับที่มีทองและเงินอยู่ด้วยกัน และมองเห็นได้ไม่ชัดเจนจะต้องระบุจำนวนทองคำ(เศษส่วนของน้ำหนักของทองคำต่อน้ำหนักทั้งสิ้นของสินค้า)และคุณภาพ (karat) ของทองที่ใช้
  • สินค้าที่ระบุว่าเป็น “solid silver” หรือ “sterling silver” จะต้องมีเงินบริสุทธิ์ผสมอยู่อย่างน้อย 925 PPT (parts per thousand)

ร้านค้าปลีกเครื่องประดับสหรัฐฯ

1. ร้านค้าปลีกทั่วไปที่จำหน่ายเครื่องประดับ 10 อันดับแรกของสหรัฐฯพิจารณาจากยอดจำหน่ายในปี 2007

(ก) Wal-Mart

(ข) QVC (Liberty Media)

(ค) Tiffany & Company

(ง) J.C. Penny

(จ) Sears Roebuck

(ฉ) Finlay Fine Jewelry

(ช) Jewelry Television

(ซ) Costco Wholesale

(ฌ) Target Stores

(ฎ) Macy’s East

2. ร้านค้าปลีกเครื่องประดับของสหรัฐฯที่เป็น specialty jewelry chain stores 50 อันดับแรกเรียงตามจำนวน chain และยอดจำหน่ายในปี 2008
1 Zale Corp. (2080)                 26 Cartier(35)
2 Sterling Jewelers (1401)          27 King’s of New Castle (35)
3 Finlay (566)                      28 Harry Ritchie’s (31)
4 Fred Meyer Jewelers (386)         29 Harris Originals (21)
5 Helzberg Diamonds (235)           30 Shane Co. (20)
6 Ultra Stores (181)                31 Goldenwest Diamond Corp (18)
7 Gitanjali USA (147)               32 Morgan Management (17)
8 Rogers Enterprises (89)           33 Robbins Bros (16)
9 Ben Bridge Jeweler (76)           34 Saslow’s (16)
10 Tiffany & Co (76)                35 Alvin’s Jewelers (15)
11 Don Roberto (75)                 36 C.R. Jewelers (15)
12 Bailey Banks & Biddle (69)       37 Devons Jewelers (15)
13 Birks & Mayors (69)              38 Jensen Jewelers (15)
14 Charm Jewelry (67)               39 Fink’s Jewelers (14)
15 Reeds Jewelers (66)              40 Ross-Simons (14)
16 Hannoush Jewelers (62)           41 The Jewelers (14)
17 Movado Group (61)                42 Pollack Corp (13)
18 Na Hoku (59)                     43 Michaels (12)
19 Ben Moss Jewellers (58)          44 Brodkey Bros (10)
20 Maui Divers of Hawaii (58)       45 Reeds Jewelers (10)
21 Sherwood Management Co. (56)     46 Rogers Jewelry Co (10)
22 James Avery Craftsman (50)       47 Bernie Robbins (8)
23 Idles Group (50)                 48 Dunkin’s Diamonds (8)
24 Tourneau (50)                    49 Greenberg’s Jewelers (8)
25 Carlyle & Co (35)                50 Harry Winston (8)

สมาคม/องค์กร

1. Jewelers of America, 52 Vanderbilt Ave., 19th Floor, New York, NY 10017, Tel: 646 658-0243

2. Jewelers Vigilance Committee, 25 West 45th St., Suite 400, New York, NY 10036, Tel: 212 997-2002

3. Manufacturing Jewelers & Suppliers of America, 45 Royal Little Drive, Providence, RI 02904, Tel: 401 274-3840

ที่มา

1. National Jeweler

2. American Gem Trade Association

3. Jewelers Vigilance Committee

4. Federal Trade Commission

5. Hoovers

6. Manufacturing Jewelers & Suppliers of America

7. IDEX online

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นครลอสแอนเจลิส

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ