รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศไทยกับฟินแลนด์ ในระยะ 3 เดือนแรกของปี 2553 (มกราคม-มีนาคม)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 4, 2010 14:57 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกนขอรายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศไทยกับฟินแลนด์ ในระยะ 3 เดือนแรก ของปี 2553 (มกราคม-มีนาคม) ดังต่อไปนี้

1. ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศไทย- ฟินแลนด์

หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐฯ

มูลค่า              ม.ค. — ธ.ค.     ม.ค. — มี.ค      ม.ค. — มี.ค    % เพิ่ม/ลด
                    ปี 2552          ปี 2552          ปี 2553
การค้ารวม            516.3           127.71          133.06        4.19
การส่งออก            273.5            78.82           77.18       -2.08
การนำเข้า            242.8            48.88           55.88       14.34
ดุลการค้า              30.7            29.94           21.30

1.1 ในรอบ 3 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-มี.ค.) การค้าประเทศไทยกับฟินแลนด์มีมูลค่ารวม ทั้งสิ้น 133.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันที่มีมูลค่า 127.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.19 โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปยังฟินแลนด์มูลค่า 77.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับในช่วงเดียวกันของปี 2552 ที่ส่งออกมูลค่า 78.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.08 และไทยนำเข้าจากฟินแลนด์มูลค่า 55.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ที่นำเข้ามูลค่า 48.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.34 ไทยเป็นฝ่ายได้ปรียบดุลการค้ารวมทั้งสิ้นมูลค่า 21.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับปี 2552 ที่ไทยได้เปรียบดุลการค้า 29.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

1.2 สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังฟินแลนด์ ที่สำคัญ 10 อันดับแรก ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2553 ได้แก่

(1) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 20.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.27

(2) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ มูลค่า 9.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ0.76

(3) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป มูลค่า 5.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.71

(4) ผลิตภัณฑ์พลาสติก มูลค่า 4.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.67

(5) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 3.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 192.85

(6) เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารในครัวและบ้านเรือนมูลค่า 2.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 29.28

(7) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป มูลค่า 2.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 0.09

(8) ผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่า 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.04

(9) ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบมูลค่า 2.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 76.56

(10) เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูป มูลค่า 2.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 39.76

1.3 สินค้าที่ไทยที่นำเข้าสำคัญจากฟินแลนด์ที่สำคัญ 10 อันดับแรก ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2553 ได้แก่

(1) กระดาษ และผลิตภัณฑ์กระดาษมูลค่า 9.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.48

(2) เหล็กและเหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์มูลค่า 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 80.27

(3) เคมีภัณฑ์ มูลค่า 7.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 76.94

(4) เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 5.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 495.61

(5) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบมูลค่า 3.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 62

(6) เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์มูลค่า 3.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 117.57

(7) เครื่องจักรและส่วนประกอบมูลค่า 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 76.67

(8) เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ 2.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

(9) ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

(10) ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรมมูลค่า 1.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 128.50

1.4 สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยังฟินแลนด์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนปะกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง และแผนวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก เป็นต้น

1.5 สินค้าที่สำคัญที่ไทยนำเข้าจากฟินแลนด์เพิ่มขึ้นได้แก่ ได้แก่ กระดาษ และผลิตภัณฑ์กระดาษ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม นมและผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น

(2) สรุปและข้อคิดเห็น

2.1 ฟินแลนด์มีความร่วมมือและมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศนอร์ดิก เคยเป็นสมาชิกสมาคมกลุ่มการค้าเสรียุโรป (European Free Trade Association :EFTA) ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญประการหนึ่งน่าจะมาจากการที่สมาชิกสำคัญของกลุ่ม คือ อังกฤษเป็นคู่ค้าสำคัญของฟินแลนด์ ผลของการเข้าร่วม EFTA ช่วยให้อุตสาหกรรมของฟินแลนด์ปรับตัวเข้าสู่ระบบการแข่งขันระหว่างประเทศได้ดีขึ้น และต่อมาได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Eueopean Union - EU) เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2538 ฟินแลนด์นับเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญใน EU และเป็นประเทศในกลุ่มแรกที่ดำเนินมาตรการเข้มงวดทางการคลัง เพื่อให้มีคุณสมบัติที่จะเข้าร่วมสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน (Economic and Monetary Union - EMU) ของสหภาพยุโรป

2.2 เศรษฐกิจของฟินแลนด์เริ่มมาขยายตัวในปี พ.ศ.2537 โดยมีการส่งออกเป็นปัจจัยผลักดัน แม้ว่าจะมีปัญหาการว่างงาน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ฟินแลนด์ได้พัฒนามาผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจฟินแลนด์อย่างมาก ตัวอย่างบริษัทของฟินแลนด์ที่ประสบความสำเร็จ คือ บริษัทโนเกีย (Nokia) ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้ปรับตัวจากการผลิตกระดาษเป็นสินค้าหลักมาเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง คือ โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์โทรคมนาคมอื่น

2.3 จากข้อมูลกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ในปี 2552 ฟินแลนด์มีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 238.13 พันล้านเหรียญสหรัฐ จัดเป็นอันดับที่ 34 ของโลก และรายได้ GDP ต่อหัว ประมาณ 37,200 เหรียญสหรัฐ ในปี 2552 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของฟินแลนด์ลดลงถึงร้อยละ 7.8 แต่คาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวในอัตราร้อยละ 1.5 และ 2.5 ในปี 2553 และ 2554 ตามลำดับ ซึ่งในการฟื้นตัวในระดับนี้อาจจะไม่สามารถสร้างงานได้เพียงพอ ทำให้คาดว่าอัตราการว่างงานอาจจะเพิ่มถึงร้อยละ 10 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับราว ร้อยละ 1 โดยมีขีดความสามารถด้านการแข่งขัน(Global Competitiveness Index) ในปี 2549-2550 อยู่ในลำดับที่ 2 รองจากสวิตเซอร์แลนด์

2.4 ฟินแลนด์จัดเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 53 ของไทย จัดเป็นประเทศที่ร่ำรวยและมีประชากรน้อย แม้ว่าการส่งออกของไทยไปยังประเทศฟินแลนด์จะยังมีปริมาณไม่มากนัก และในรอบ 3 เดือนแรกของปี 2553 ลดลงเล็กน้อย (ลดลงร้อยละ 2.08) เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงิน ทำให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง ตลอดจนเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศไทย ทำให้ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ชะลอการเดินทางหรือการส่งซื้อ อย่างไรก็ตาม สินค้าและบริการของไทยหลายชนิดยังมีลู่ทางที่จะขยายการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่แปรรูป เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารในครัวและบ้านเรือน รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง และแผนวงจร เลนซ์ รวมทั้งธุรกิจบริการเช่น ภัตตาคารไทย สปา การรักษาพยาบาล อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

2.5 ผู้ส่งออกไทยควรให้ความสนใจในตลาดฟินแลนด์อย่างจริงจังเพิ่มขึ้นและ ใช้กลยุทธ์การบุกเจาะตลาดเชิงรุก เช่น การเดินทางไปพบปะเจรจาการค้ากับผู้นำเข้าในต่างประเทศโดยตรง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำเข้าในต่างประเทศ การเดินทางไปแสวงหาลูกค้ารายใหม่ๆ เพื่อสร้างเครือข่ายทางการค้า (Network) และการสร้างพันธมิตรและการลงทุนในต่างประเทศ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศไทยและในต่างประเทศ โดยเฉพาะงานแสดงสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น เพราะจะเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้นำเข้าในต่างประเทศ รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายทางการค้าและการลงทุนร่วมกัน( Internationalization) ต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยที่สนใจจะขยายตลาดส่งออกจะต้องคำนึงถึง คุณภาพของสินค้า เนื่องจากตลาดแถบนี้ให้ความสำคัญและพิถีพิถันกับเรื่องคุณภาพของสินค้าค่อนข้างมาก ดังนั้น ควรพัฒนาการผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด และศึกษากฎระเบียบการนำเข้า มาตรฐานสินค้า การออกแบบตามสไตลส์ของตลาดสแกนดิเนเวียซึ่งแตกต่างจากตลาดอื่น ศึกษษแนวโน้มความต้องการของตลาด วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต สีสัน ขนาด และรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ รสนิยมที่แตกต่างกันตามฤดูกาล พฤติกรรมของผู้บริโภค รวมทั้งคู่แข่งขันที่สำคัญและราคาที่สามารถแข่งขันได้ ควรใช้กลยุทธ์การตลาดโดยเน้นที่ความแตกต่างของสินค้า (Differentiation) เป็นจุดขาย และเน้นที่ความโดดเด่น (Unique) ของสินค้าที่แตกต่างจากคู่แข่งขันโดยสิ้นเชิงเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค และควรกำหนดตำแหน่งของสินค้า (Positioning) เพื่อขายในตลาดระดับกลางและระดับสูงเป็นหลัก ตลอดจนควรคำนึงถึงเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ค่อนข้างมากเช่นกัน สามารถนำมาเป็นจุดขายได้ เช่น สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม(Environmental friendly products) สินค้าเพื่อสุขภาพ (Healthy products) หรือผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ (Healthy foods) และผลิตภัณฑ์ออร์แกนนิก (Organic products) ซึ่งกำลังมีแนวโน้มความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากตลาดนี้เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง แม้ว่าขนาดของตลาดจะไม่ใหญ่มาก นอกจากนั้น ควรคำนึงถึงประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) การใช้แรงงานเด็ก (Child labour), Fair Trade, Health safety, Ethical Trade และ Climate change

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก สหรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ