ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดเอเชียที่ความต้องการสินค้าญี่ปุ่นขยายตัวสูง ส่งผลให้ไตรมาสแรก(มกราคม-มีนาคม)ปี 2553 นี้ญี่ปุ่นได้ดุลการค้า 18,345 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ใกล้เคียงกับมูลค่าที่เกินดุลการค้าทั้งปี 2551
การส่งออกของญี่ปุ่นขยายตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2552 มูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงต่ำสุด 119,333 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อไตรมาสแรกของปี 2552 เป็น 176,873 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกปี 2553 คิดเป็นอัตราร้อยละ 48.2 ขณะที่มูลค่านำเข้าไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเพียงร้อยละ 22.5 คือจาก 129,366 เป็น 158,528 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ความต้องการสินค้าญี่ปุ่นขยายตัวสูงในอัตรากว่าร้อยละ 50 ในตลาดแถบเอเชีย ประเทศออสเตรเลีย และรัสเชีย โดยสินค้าหมวดยานยนต์และส่วนประกอบเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 85.7 สินค้าอื่นที่เพิ่มขึ้นมาก เช่น เครื่องจักรไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ไดโอดทรานซิสเตอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น
ในส่วนการนำเข้า ญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากประเทศตะวันออกกลาง รัสเซีย และอินเดีย มูลค่าเพิ่มขึ้นมากตามสถานการณ์ราคาในตลาดโลก
การค้าระหว่างญี่ปุ่นกับไทยฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว สินค้าที่ญี่ปุ่นส่งออกมาไทยซึ่งกว่าร้อยละ 80 เป็นสินค้าทุน วัตถุดิบ และสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2553 นี้มีมูลค่าถึง 7,508 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ซึ่งมีมูลค่า 4,069 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 84.5
การนำเข้าจากไทยในช่วงไตรมาส มกราคม-มีนาคม 2553 มีมูลค่า 4,628 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.0 สูงกว่าอัตราเพิ่มเฉลี่ยของการนำเข้าจากทุกแหล่งที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5
สินค้าไทยที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาก เช่น
- เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบ ยานยนต์และส่วนประประกอบ เครื่องจักร เครื่องกล ซึ่งเป็นสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทย รวมทั้ง แร่ดีบุก ที่ขยายตัวสูงตามสถานการณ์การส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น
- เครื่องสำอาง และน้ำหอม ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2552 กว่าเท่าตัว ช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยมูลค่า 118.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากกระแสความนิยมผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ และสมุนไพร รวมทั้งผู้บริโภคญี่ปุ่นที่ลดการใช้ผลิตภัณฑ์ราคาแพง หันมาเลือกซื้อสินค้าราคาปานกลางมากขึ้น กอรปกับการจัดกิจกรรมเชิงรุกของสำนักงานฯ แนะนำผลิตภัณฑ์ไทยต่อผู้ประกอบธุรกิจสปาไทยในญี่ปุ่น ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดการนำเข้าแครื่องสำอางและน้ำหอมจากไทยในญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.03 เมื่อปี 2551 เป็น 14.59 ในช่วงไตรมาสแรกปี 2553
- อัญมณีและเครื่องประดับ ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าระดับปานกลาง จากสหรัฐฯ ฮ่องกง ไทย และอินเดีย มากขึ้น ขณะที่นำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับหรู จากยุโรป ลดลง
- สินค้าอาหารโดยรวมจากไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น สินค้าที่เพิ่มขึ้นมากได้แก่ อาหารทะเลสดแช่เย็น/ แช่แข็ง ข้าว น้ำตาล ผัก ผลไม้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และซอสปรุงรส เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์อาหารบางอย่างมีมูลค่าลดลง ได้แก่ เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง อาหารสัตว์ และเครื่องดื่ม สินค้าอื่นๆ จากไทยที่มีมูลค่าลดลง เช่น เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ ไทยประสบการแข่งขันจากประเทศ จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่มีต้นทุนต่ำกว่า สำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูปในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ญี่ปุ่นนำเข้ารวมลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552
ผลจากสถานการณ์การส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 2552 ช่วยให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้น จนอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 90 ของเดือนสิงหาคม 2551 ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2551 และมาตรการของรัฐในการกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น อุดหนุนการซื้อ eco-car และเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน การใช้จ่ายของบุคคลสูงขึ้นตามสถานการณ์การจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้ความต้องการภายในประเทศกระเตื้องขึ้น supply-demand gap ลดลงจากร้อยละ 5.8 (มูลค่าประมาณ 30 ล้านล้านเยน) ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2552 เหลือร้อยละ 4.8 (มูลค่าประมาณ 25 ล้านล้านเยน) ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นช่วงไตรมาสแรก(มกราคม- มีนาคม) ปี 2553 ขยายตัวในอัตราสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2552 กล่าวคือ Real GDP เพิ่มขึ้นถึงอัตราร้อยละ 4.9 ต่อปี
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่น เป็นที่คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาสต่อไปของปี 2553 ขยายตัวในอัตราต่ำกว่าไตรมาสแรก โดยนักเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชน 10 ราย คาดว่า real GDP ไตรมาสที่ 2 และ3 ของปีนี้จะขยายตัวในอัตราเท่ากันคือ 1.8 % ต่อปี และคาดว่า GDP ปีงบประมาณ 2553 (เมษายน 2553 - มีนาคม 2554) จะขยายตัว 2.5 % ใกล้เคียงกับที่ Nikkei Digital Media Inc. ได้ประมาณการโดยใช้ฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจว่า real GDP ญี่ปุ่นปีงบประมาณ 2553 จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.2
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น คือ - ยังคงประสบภาวะเงินฝืดที่เกิดจากระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปโน้มลดลงต่อไป เนื่องจากความต้องการสินค้าโดยรวม ยังต่ำกว่า supply อยู่มาก
- ปัญหาหนี้ของกรีซ ส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น และหากปัญหาหนี้ในยุโรปลุกลาม จะทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นมาก ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าญี่ปุ่น ซึ่งจะมีผลสืบเนื่องต่อความต้องการสินค้าขั้นกลางจากไทยเพื่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการใช้จ่ายของบุคคลสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
ที่มา: http://www.depthai.go.th