กระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค คมนาคมและการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น รายงานว่าจำนวนบ้านและแมนชั่นสร้างใหม่ปี 2009 ลดลงถึงร้อยละ 10-30 จากปีก่อน กรุงโตเกียวมีการก่อสร้างมากที่สุด 104,455 หลัง ลดลงร้อยละ 30.5 จากปีก่อน ในขณะที่จังหวัดโออิตะมีอัตราการก่อสร้างลดลงมากที่สุดร้อยละ 39.7 (5,415 หลัง) แมนชั่นมีอัตราการก่อสร้างใหม่ลดลงมากที่สุดโดยจังหวัดที่ไม่มีการก่อสร้างแมนชั่นตลอดปี 2009 มีถึง 8 จังหวัดได้แก่ อะโอโมริ อิวาเตะ ฟุกุชิมะ อิชิกาวะ ยามานาชิ กิฟุ โทโทริ และซากะ
การก่อสร้างแมนชั่นใหม่ใน 3 เดือนแรกของปี 2010 มีจำนวน 21,365 หลัง ลดลงร้อยละ 30.3 เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยังมีห้องพักในแมนชั่นเก่าว่างเหลืออยู่ และผู้บริโภคยังคงชะลอการลงทุนเรื่องบ้าน นักธุรกิจในสาขาจึงเบนเข็มไปยังธุรกิจรีโนเวชั่น (Renovation)
รีโนเวชั่นในธุรกิจก่อสร้าง หมายถึง การปรับปรุงห้องพักในแมนชั่นเก่าระดับมหัพภาค รื้อผนัง พื้นห้องทั้งหมดให้เหลือเพียงแต่โครงร่าง (Skeleton) เปลี่ยนแปลงแผนผังห้อง ดีไซน์ คุณสมบัติใช้สอย และอุปกรณ์ต่างๆเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย และความต้องการของผู้อยู่อาศัย เช่น เพิ่มความทนทานต่อแผ่นดินไหว ซ่อมแซมผนังภายนอก เปลี่ยนกรอบหน้าต่างแบบมีฉนวนกันความร้อนประหยัดพลังงานเพื่อลดค่าไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศ ตอบสนองต่อยุคไอที เปลี่ยนอุปกรณ์ห้องน้ำ เปลี่ยนอุปกรณ์ระบายอากาศ เป็นต้น
ข้อดีของการทำรีโนเวชั่นในแมนชั่นเก่า
1. แมนชั่นเก่าส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีพร้อมต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
2. การรีโนเวชั่นทำให้ได้ห้องพักใหม่ในราคาที่ถูกกว่าแมนชั่นใหม่ประมาณ 20-30%
3. ลูกค้าสามารถตรวจสอบสถานที่จริง เช่น สภาพตึก แผนผังห้อง สิ่งแวดล้อมโดยรอบได้ก่อนตัดสินใจซื้อ
บริษัทยักษ์ใหญ่ในเขตคิวชู “Nishi-Nippon Railroad (Nishitetsu)” ซึ่งทำธุรกิจบริการคมนาคมทางรถประจำทางและรถไฟฟ้า และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีสำนักงานใหญ่ในจังหวัดฟูกูโอกะ ขยายธุรกิจโดยก่อตั้งแผนกรีโนเวชั่นภายใต้ส่วนงานที่ดินและสิ่งปลูกสร้างขึ้นเมื่อเดือน ก.ค. 2552 ทำการรวบรวมข้อมูลแมนชั่นเก่าทำเลดี มีโครงสร้างแข็งแรงจากบริษัทที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายใหญ่ และบริษัทตัวแทนจำหน่ายต่างๆ และเสนอขายในรูปแบบรีโนเวชั่นผ่านบริษัทลูกคือ บริษัท Nishitetsu Fudosan ในชื่อตราสินค้าว่า “Econoa”
ผลประกอบการในเดือนเม.ย. 53 จำหน่ายได้ถึง 20 ห้อง เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 4 เท่า (เดือนมี.ค. 5 ห้อง) บริษัทวางเป้าหมายจำหน่ายให้ได้ 100 ห้องต่อปี ภายในระยะเวลา 5 ปี และตั้งเป้าผลกำไรที่ 2 พันล้านเยนต่อปี
- เปลี่ยนชุดครัวสำเร็จรูปใหม่แบบมีเคาน์เตอร์เปลี่ยนสีชุดครัวให้รับกับพื้นไม้
- เปลี่ยนเป็นผนังกันเชื้อรา
- เพิ่มอุปกรณ์ระบายอากาศ ฮีทเตอร์สำหรับตากผ้าในเวลาฝนตก
- รื้อพื้นเก่าออกหมด เปลี่ยนสีให้เข้ากับวัสดุก่อสร้าง
สคร.ฟูกูโอกะ
ที่มา: http://www.depthai.go.th