เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 จากสภาวะถดถอยต่ำสุดหลังสงครามโลกครั้ง 2 ในช่วงต้นปี 2552 โดยแรงขับเคลื่อนของการส่งออก และการใช้จ่ายของผู้บริโภค ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นวัดโดย real GDP ช่วงไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) 2553 ขยายตัวในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี มากกว่าตัวเลขเบื้องต้นซึ่งทางการญี่ปุ่นประกาศไว้ที่อัตราร้อยละ 4.9 เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2553
Real GDP ไตรมาส 1 ปี 2553 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้วในอัตราร้อยละ 1.2 ส่วน nominal GDP เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 1.3 นับเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 10 ปี
เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ขยายตัวสูงในไตรมาส 1 นี้เป็นผลจากทั้งสถานการณ์การส่งออกของญี่ปุ่นและความต้องการภายในประเทศ กล่าวคือ
- การส่งออกที่ฟื้นตัวมาตั้งแต่กลางปี 2552 มูลค่าส่งออกสกุลเงินเยนไตรมาสแรกปี 2553 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนร้อยละ 2.1 และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2552 ที่เป็นช่วงต่ำสุด เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 43.3. ขณะที่มูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 2.7 และเมื่อเปรียบทียบกับไตรมาสแรกปีที่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9
- การใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้วร้อยละ 0.4 อันเนื่องจากมาตรการของรัฐในการกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น อุดหนุนการซื้อ eco-car และเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน
- การลงทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 บริษัทเอกชนเริ่มใช้จ่ายลงทุนในโรงงานผลิตและอุปกรณ์มากขึ้น ทั้งนี้ ยอดการสั่งซื้อเครื่องจักรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในเดือนเมษายน 2553
ความต้องการทั้งจากตลาดโลก และตลาดภายในประเทศ ส่งผลให้ความต้องการโดยรวม กระเตื้องขึ้น supply-demand gap ลดลงจากร้อยละ 5.8 (มูลค่าประมาณ 30 ล้านล้านเยน) ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2552 เหลือร้อยละ 4.8 (มูลค่าประมาณ 25 ล้านล้านเยน)
แม้ว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมกระเตื้องต่อเนื่องจากระดับต่ำสุดในช่วงไตรมาสแรกปี 2552 จนเดือนเมษายนปี 2553 อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 90 ของช่วงก่อนวิกฤตการรณ์การเงินปลายปี 2551 สภาพการจ้างงานที่ดีขึ้น และการใช้จ่ายผู้บริโภคเพิ่มขึ้น แต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มประสบภาวะเงินฝืดต่อไป ทั้งนี้ แม้เดือนพฤษภาคม นี้จะมีสัญญาน ที่ราคาวัตถุดิบ และสินค้าจากผู้ผลิต ซึ่งวัดโดยดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index) เดือนพฤษภาคม 2553 ขยับตัวสูงขึ้นจากเดือนที่แล้ว ร้อยละ 0.1 เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 17 เดือน แต่บริษัทญี่ปุ่นยังไม่สามารถผลักภาระต้นทุนไปยังผู้บริโภคได้ ดัชนีราคาผู้บริโภคที่ไม่รวมอาหารสด (core Consumer Price Index) ยังลงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14
ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าดัชนีราคาผู้ผลิตปีงบประมาณนี้ (เมษายน 2553 - มีนาคม 2554) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ขณะที่คาดว่า core CPI จะลดลงร้อยละ 0.5
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่น เป็นที่คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาสต่อไปของปี 2553 ขยายตัวในอัตราต่ำกว่าไตรมาสแรก โดยนักเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชน 10 ราย คาดไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ว่า real GDP ไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้จะขยายตัวในอัตราเท่ากัน คือ ร้อยละ 1.8 ต่อปี และคาดว่า GDP ปีงบประมาณ 2553 (เมษายน 2553 - มีนาคม 2554) จะขยายตัวร้อยละ 2.5 ขณะที่ Nikkei Digital Media Inc. ได้ประมาณการโดยใช้ฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจ ว่า real GDP ญี่ปุ่นปีงบประมาณ 2553 จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.2
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
ที่มา: http://www.depthai.go.th