สรุปสถานการณ์การค้าระหว่างไทย-สเปน ช่วง ม.ค.-พ.ค. ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 22, 2010 15:39 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตารางแสดงมูลค่าการค้าไทย-สเปน ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553

                      พ.ค.2553                        ม.ค.-พ.ค.2553
             มูลค่า (Mil.US$)     เพิ่ม/ลด (%)    มูลค่า (Mil.US$)      เพิ่ม/ลด (%)
                               จากเดือนก่อน                      ช่วงเดียวกันปีก่อน
 ส่งออก         79.19             -4.87           416.79           +51.18
 นำเข้า         36.93            -14.07           195.17           +32.64
 การค้ารวม     116.12             -8.00           611.96           +44.73
 ดุลการค้า      +42.26             +4.97          +221.62           +72.40
 ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

ในเดือนพฤษภาคม 2553 ไทยกับสเปนมีมูลค่าการค้ารวม 116.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยเป็นฝ่ายส่งออกไปสเปน 79.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -4.87 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยมีหมวดสินค้าหลักที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่งปรับอากาศและส่วนประกอบ (-37.18%) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-71.72%) และผลิตภัณฑ์ยาง (-40.28%) ขณะที่นำเข้าจากสเปนรวม 36.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯลดลงร้อยละ -14.07 ทั้งนี้ ไทยได้ดุลการค้าเพิ่มขึ้นอีก 42.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในช่วง 5 เดือนแรก ปี 2553 ไทย-สเปน มียอดการค้ารวม 611.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยไทยมียอดส่งออกมาสเปนรวม 416.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.18 ซึ่งสามารถแบ่งโครงสร้างสินค้าส่งออก ได้ดังนี้

ตารางแสดงโครงสร้างสินค้าส่งออกไทยมายังสเปน ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553

ที่      ประเภทสินค้า                  มูลค่า (Mil.USD)     สัดส่วน (%)       เปลี่ยนแปลง (%)
1 เกษตรกรรม(กสิกรรม+ปศุสัตว์+ประมง)         80.6           19.33            +93.66
2 อุตสาหกรรมการเกษตร                     24.1            5.79            -10.30
3 อุตสาหกรรม                            312.1           74.88            +50.77
          รวม                          416.8           100.0            +51.18
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

เมื่อเทียบกับช่วง 5 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา พบว่าประเภทสินค้าเกษตรกรรม มีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 93.66 และสามารถเพิ่มสัดส่วนขึ้นมาเป็นร้อยละ 19.33 อันเนื่องมาจากความต้องการบริโภคสินค้ากุ้งแช่สด/แช่แข็ง และยางพาราเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ประเภทสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรกลับหดตัวลงร้อยละ -10.3 และเหลือสัดส่วนเพียงร้อยละ 5.79 ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนสูงถึง 3 ใน 4 ของสินค้าส่งออกไทยโดยรวม ก็สามารถเติบโตได้ถึงร้อยละ 50.77

หมวดสินค้าหลักดั้งเดิมที่สามารถกลับมาขยายตัวในอัตราสูง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (+110.98%) ยางพารา (+321.19%) และรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (+566.54%) ขณะที่นำเข้าจากสเปน 195.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.64 ทำให้ไทยได้ดุลการค้าจากสเปนสะสม จำนวน 221.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้ร้อยละ 72.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ตารางแสดงมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยมายังสเปน 10 อันดับแรก ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553
ที่   สินค้า                           มูลค่า(Mil.USD)     สัดส่วน (%)      เปลี่ยนแปลง (%)
1 เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ            79.2           19.01           +110.98
2 ยางพารา                              49.6           11.90           +321.19
3 เสื้อผ้าสำเร็จรูป                         48.9           11.74            +18.29
4 รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ             29.3            7.02           +566.54
5 กุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง                      20.0            4.81           +343.17
6 ผลิตภัณฑ์ยาง                            17.0            4.09            +48.13
7 ผลไม้กระป๋องและแปรรูป                   14.4            3.46            +53.51
8 เลนส์                                 14.2            3.40            +29.90
9 เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ         13.1            3.15            +72.41
10 เคมีภัณฑ์                              11.9            2.85            -19.43
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลกที่ผ่อนคลายลง ส่งผลให้สินค้าแทบทุกหมวดของไทยมีอัตราขยายตัวในอัตราเร่ง โดยเฉพาะสินค้าหลักดั้งเดิมของไทยในตลาดนี้ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ยางพารา และรถยนต์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ ต่างมีอัตราเติบโตในระดับสูง นอกจากนั้นยังได้แรงเสริมจากสินค้าหมวดแฟชั่น ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ยังเติบโตได้ดีจึงถือได้ว่าผู้บริโภคเริ่มมีความมั่นใจและกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งสังเกตได้ชัดจากสินค้าประเภทคงทนอาทิเช่น รถยนต์ และเครื่องใช้ฟ้า เป็นต้น เริ่มทำยอดขายได้ดีขึ้นหลังจากที่ผู้บริโภคต้องตัดสินใจระงับหรือเลื่อนเวลาการซื้อออกไปในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมวดรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่ได้รับอานิสงค์จากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาของรัฐบาลโดยการให้เงินสนับสนุนผู้บริโภคเพื่อโอบอุ้มอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ กอปรกับมาตรการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ทำให้ผู้บริโภคต้องเร่งซื้อก่อนถึงกำหนดขึ้นภาษี อย่างไรก็ตาม ในปี 2553 คาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสเปนในภาพรวมยังคงอยู่ในแดนลบ นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค โดยเฉพาะวิกฤติหนี้ของกรีซที่ส่งผลให้รัฐบาลสเปนต้องออกมาตรการลดยอดขาดดุลการคลังของรัฐบาลที่จำเป็นต้องตัดค่าใช้จ่ายของภาครัฐในทุกๆ ด้านจำนวนมากอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันต้องเร่งหารายได้เพิ่มจากการขึ้นภาษี ซึ่งล้วนจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้น ยังคงมีสภาพเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจและการเงินของโลกที่ยังมีความผันผวนและอ่อนไหว

ในช่วงเดียวกันไทยนำเข้าสินค้าจากสเปน เป็นมูลค่า 195.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 32.64 ซึ่งสินค้าส่วนมากเป็นสินค้าที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก โลหะ และสัตว์น้ำสด เป็นต้น รองลงมาเป็นสินค้าประเภททุน ได้แก่ เครื่องจักรต่างๆ และส่วนประกอบ โดยมีรายละเอียดการนำเข้าสินค้า 5 อันดับแรกที่มีมูลค่าสูงสุด ดังนี้

ตารางแสดงมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากสเปน 5 อันดับแรก ช่วง 5 เดือนแรก ปี 2553
         สินค้า                               มูลค่า (Mil.USD)       สัดส่วน (%)    เปลี่ยนแปลง (%)
เคมีภัณฑ์                                          36.2              18.55           +78.57
เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ                          24.6              12.63           +37.39
ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม                        19.2               9.84           +11.35
เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์                          10.9               5.58          +101.98
สัตว์น้ำสดแช่เย็น/แช่แข็ง/แปรรูป/กึ่งสำเร็จรูป               9.9               5.09           -36.01
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของราชอาณาจักรสเปน

สภาวะเศรษฐกิจของสเปน ถือว่ายังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา ซึ่งดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างๆก็เริ่มปรับตัวเป็นบวก รวมทั้งอัตราการว่างงานที่ถึงแม้จะอยู่ในระดับสูงที่สุดของสหภาพยุโรป ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ปัญหาวิกฤติหนี้ของกรีซที่ลุกลามไปทั่วทั้งยุโรป จนรัฐบาลของประเทศสมาชิกต่างๆ ต้องเร่งออกมาตรการรัดเข็มขัดเป็นการด่วนเพื่อปรับลดหนี้สาธารณะ และอัตราขาดดุลการคลังให้กลับไปสู่ระดับไม่เกินร้อยละ 3 ของ GDP ให้ได้ภายในปี 2556 ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนทั้งสิ้น อันจะส่งผลกระทบไปยังประเทศที่เป็นแหล่งส่งออกสินค้าทั่วโลก นอกจากนั้น ค่าเงินยูโรที่ถดถอยลง ยังจะทำให้สินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้นด้วย

ผลกระทบกับการส่งออกของไทย

ถึงแม้สัดส่วนมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสเปน เพียงร้อยละ 0.56 ของการส่งออกของไทย แต่สามารถสร้างดุลการค้าให้ไทยได้จำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งสินค้าหลักได้แก่ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ยานพาหนะและชิ้นส่วน และยางพารา ที่กำลังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นมากจากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน กุ้งสดแช่แข็ง สินค้าแฟชั่น และเครื่องประดับ ก็ล้วนแต่ปรับตัวได้ดีขึ้นทั้งสิ้นแต่ทั้งนี้ จากมาตรการรัดเข็มขัดเพิ่มเติมของรัฐบาล ย่อมส่งผลกระทบไปยังความเชื่อมั่น ของผู้บริโภคทั่วไปไม่มากก็น้อยในการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษว่าผลกระทบจากมาตรการเหล่านั้นของรัฐบาลจะมีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด สินค้าของไทยที่มีอ่อนไหว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งอัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่สินค้าหมวดอาหารคาดว่าจะได้รับผลกระทบน้อยหรือไม่มีผลกระทบเลยหากไม่เกิดเหตุการณ์วิกฤติทางเศรษฐกิจของโลกอื่นๆ อย่างเฉียบพลันเข้ามาแทรกแซงแล้วในปี 2553 สินค้าไทยคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 และจะได้ดุลการค้าไม่ต่ำกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ