"ช้างทอง" ต้นแบบความสำเร็จของร้านอาหารไทย ในมณฑลฟูเจี้ยน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 24, 2010 13:51 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ถ้าหากชาวจีนในมณฑลฟูเจี้ยนตามหัวเมืองใหญ่ๆและเมืองสำคัญๆทางเศรษฐกิจเช่น เมือง เซี่ยเหมิน ฟูโจว สือซือ จะพูดถึงและเลือกรับประทานอาหารไทย คงจะเป็นร้านอื่นใดไม่ได้นอกจาก “ร้านช้างทอง” ที่คนจีนรู้จักกันในชื่อ จินเซี่ยงวาน ถึงแม้เว่าปัจจุบันร้านจะช้างทองจะขยายสาขาไปเปิดตามเมืองต่างๆกว่า 7 สาขา โดยเฉพาะบนเกาะเซี่ยเหมินมีถึง 4 สาขา เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าซึ่งบ่อยครั้งที่ลูกค้าอยากรับประทานแต่ไม่ได้โทรจองที่นั่งจึงต้องรับบัตรคิวรอ

ก่อนที่จะกล่าวถึงความสำเร็จของร้านช้างทองในวันนี้ ต้องชื่นชมในวิสัยทัศน์และวิธีการดำเนินธุรกิจของกลุ่มเจ้าของกิจการ “ร้านช้างทอง” ไม่ใช่ร้านอาหารไทยร้านแรกในเซี่ยเหมินแต่ก็เรียกได้ว่าเป็นร้านอาหารไทยที่ประสบความสำเร็จที่สุดในมณฑลฟูเจี้ยน ร้านช้างทองสาขาแรกเริ่มเปิดดำเนินกิจการเมื่อปี พ.ศ.2548 เป็นการร่วมลงทุนของคน 5 คนที่ไม่เคยทำร้านอาหารมาก่อน แต่นื่องจากมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจอื่นในประเทศจีนมานานประกอบกับทุกคนชอบรับประทานอาหารไทย แต่การที่จะหาร้านอาหารไทยรับประทานในสมัยนั้นยังไม่สะดวกและถึงมีก็รสชาดไม่ถูกใจ ดังนั้นทั้ง 5 คน จึงเห็นพ้องต้องกันที่จะทดลองเปิดร้านอาหารไทยขึ้น โดยในตอนแรกตั้งใจแบบสนุกๆ เป็นร้านอาหารไว้รองรับมิตรสหายในวงการธุรกิจเท่านั้นเพราะหุ้นส่วนต่างมีธุรกิจอื่นที่ต้องดูแล ไม่นึกว่าจะได้รับการยอมรับอย่างดีจากชาวเซี่ยเหมินและนักท่องเที่ยวเมืองอื่นๆ จนทำให้ต้องหันมาบริหารอย่างจริงจังและขยายกิจการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็น 7 สาขาในปัจจุบัน และคาดว่าจะเปิดเพิ่มอีก 2 สาขาภายในสิ้นปีนี้อีกด้วย

ในช่วง 5 ปีที่กิจการของร้านช้างทองได้รุ่งเรืองเจริญเติบโต อาหารไทยได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในมณฑลฟูเจี้ยน จึงมีร้านอาหารไทยมาเปิดเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าร้านอาหารไทยที่เปิดในจีนจะประสบความสำเร็จทุกร้านไป นักธุรกิจทั้งชาวไทย ชาวจีนรวมถึงชาวต่างชาติหลายรายได้เปิดร้านอาหารขึ้นมาแข่งขัน แต่สุดท้ายก็ต้องทยอยปิดตัวลง คงเหลือแต่ร้านช้างทองที่ยังยืดหยัดและขยายตัวต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง ในปัจจุบันยังได้เริ่มขยายธุรกิจแบบเฟรนไชส์ ให้กับผู้สนใจเมืองอื่นๆ ค่าเฟรนไชส์แรกเริ่มตั้งไว้ที่ 350,000 หยวน ในปัจจุบันขยับเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 หยวน โดยตั้งเป้าว่าจะขยายให้ครบทุกมณฑลทั่วประเทศจีน แต่คงเป็นโครงการระยะยาวในอนาคตเนื่องจากยังต้องสั่งสมประสบการณ์และเตรียมพร้อมในด้านการบริหารงานและบุคคลากรให้มีประสิทธิภาพ โดยในช่วงนี้จะพิจารณาขายเฟรนไชส์ให้กับนักธุรกิจเมืองข้างเคียงในมณฑลฟูเจี้ยนและเจียงซีไปก่อน ถ้าหากระยะทางห่างกันไม่มากจึงจะสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง การจัดส่งสินค้าและวัตถุดิบต่างๆค่อนข้างสะดวก ซึ่งคาดว่าครึ่งปีนี้จนถึงปี 2554 จะมีร้านช้างทองสาขาใหม่ๆ เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 สาขา

เกณฑ์การคัดเลือกผู้ซื้อเฟรนไชส์ เถ้าแก่ร้านช้างทองบอกว่าได้ปฏิเสธผู้ที่สนใจซื้อเฟรนไชส์ไปแล้วหลายราย เนื่องจากคุณสมบัติไม่ตรงตามที่ร้านตั้งไว้คือ 1.ต้องเป็นบุคคลทีเคยทำธุรกิจในท้องที่มาก่อนถึงแม้จะไม่ใช่ธุรกิจร้านอาหารก็ตามเพราะประสบการณ์ในการทำธุรกิจจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำธุรกิจร้านอาหารด้วยและที่สำคัญคนที่ทำธุรกิจในท้องที่ย่อมมีความสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลจีน เพราะทราบกันดีว่าการสร้างความสัมพันธ์เป็นปัจจัยหลักสำหรับการทำธุรกิจในจีน 2.ทำเลที่ตั้ง ต้องเป็นย่านที่เจริญ ย่านธุรกิจ หรือย่านที่อยู่อาศัยที่มีผู้คนจำนวนมาก ซึ่งทำเลแบบนี้ในปัจจุบันอัตราค่าเช่าค่อนข้างสูงและมีราคาไม่ต่ำกว่า 50,000 หยวนต่อเดือน

คนไทยที่มีโอกาสไปลองรับประทานอาหารไทยที่ร้านช้างทองจะพบว่าอาหารไทยที่นี่รสชาดจะถูกปรับแต่งไปบ้าง ไม่เหมือนอาหารไทยแท้ๆที่เราคุ้นเคยเสียทีเดียว แต่ยังอร่อยและคงความเป็นอาหารไทยที่จะเห็นได้จากสมุนไพรไทยเช่นข่า ตะไคร้ มะนาวและอื่นๆ ที่มาพร้อมในจานอาหาร โดยเจ้าของกิจการก็ยอมรับว่ามีการปรับรสชาดอาหารให้ถูกปากผู้บริโภคท้องถิ่น เพราะชาวจีนไม่นิยมทานอาหารรสจัดจึงต้องลดรสเผ็ด เปรี้ยว ลง แต่ย้ำว่าเครื่องปรุงทั้งหมดต้องใช้ของไทย เพราะทราบดีว่าหัวใจของอาหารไทยเครื่องปรุงและสมุนไพรเครื่องแกงของไทยที่ของชาติใดก็ไม่สามารถนำมาทด แทนได้

ความสำเร็จของร้านช้างทองนอกจากจะมาจากอาหารรสอร่อยแบบไทยที่ควบคุมการปรุงรสด้วยพ่อครัวคนไทยที่จะมีประจำอยู่เกือบทุกสาขา และมีการตกแต่งร้านแบบไทย ของประดับตกแต่งภายในร้านเกือบทุกชิ้น ผ่านการคัดเลือกโดยเจ้าของร้านที่เดินทางไปเลือกซื้อด้วยตัวเองที่เมืองไทยเสมอแล้วนั้น ความสำเร็จยังอยู่ที่ความตั้งใจของเจ้าของกิจการอีกด้วย ซึ่งหุ้นส่วนทั้ง 5 คนของร้านช้างทองคงไม่หยุดไว้แต่เพียงธุรกิจร้านอาหารไทยเท่านั้น ยังมีแนวความคิดที่จะขยายธุรกิจนำเข้าสินค้าอาหาร หรือไม่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะตั้งโรงงานผลิตอาหารไทยพร้อมรับประทานวางจำหน่ายในตลาดจีนต่อไปในอนาคตอีกด้วย เพราะทุกคนมั่นใจว่าอาหารไทย สินค้าไทย เป็นที่ยอมรับและต้องการของผู้บริโภคชาวจีน

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ