มข.วิจัยพริกสดปลอดภัยส่งไปตลาดโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 8, 2010 00:00 —องค์การสะพานปลา

มข.ประสบผลสำเร็จงานวิจัยการพัฒนาเครือข่ายห่วงโซ่อาหารพริกสดปลอดภัย พัฒนาผลผลิตเกษตร เพิ่มขีดความสามารถส่งออกรับการค้าเสรี
นายวีระ ภาคอุทัย ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยถึงงานวิจัยเรื่อง "การขยายและการพัฒนาเครือข่ายการจัดการห่วงโซ่อุปทานพริกสดปลอดภัย" ว่า งานวิจัยดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรให้สามารถส่งออกได้ในยุคเปิดการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ซึ่งให้ความสำคัญกับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี เพื่อให้ผลผลิตได้มาตรฐานปลอดภัย (Good Agricultural Practice : GAP) โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ดำเนินงานศึกษาเพื่อหาแนวทางสร้างขีดความสามารถในการผลิต "พริกสด" ในพื้นที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ โดยทำการวิเคราะห์หารูปแบบการจัดการผลผลิต เครือข่ายและช่องทางตลาดที่เหมาะสม พร้อมทั้งขยายและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเครือข่ายผู้ผลิตพริกในพื้นที่ ตลอดจนสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพริกปลอดภัย ภายใต้ระบบ GAP เพื่อเป็นการยกระดับผลผลิตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ทั้งสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคอีกด้วย
โดยพริกเป็นพืชเกษตรที่สร้างรายได้เชื่อมโยงระดับคุณภาพชีวิต ตั้งแต่พื้นที่ชุมชนเล็กๆ ไปจนถึงขั้นการส่งออก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 474,717 ไร่ต่อปี ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีแหล่งที่ปลูกอยู่ในแถบจังหวัดนครราชสีมา รองลงมาคือ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกประมาณ 53,463 ไร่ ผลผลิตส่วนใหญ่มุ่งส่งออกไปต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น
สำหรับขั้นตอนการวิจัยเริ่มจากการอบรมวางแผนควบคุมความเสี่ยง เพื่อให้ผลผลิตมีความปลอดภัย ได้คุณภาพ วิเคราะห์หารูปแบบขั้นตอนในการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพริกปลอดภัย ภายใต้ระบบ GAP ให้เกษตรกรปรับปรุงดินให้ปลอดเชื้อโรคและสารพิษตกค้าง ใช้น้ำจากแหล่งที่สะอาดปราศจากสารพิษ ทำปุ๋ยหมักชีวภาพใช้เอง ใช้สารเคมีตามคำแนะนำอย่างถูกต้อง สำรวจศัตรูพืชและใช้วิธีป้องกันกำจัดอย่างถูกต้อง เก็บเกี่ยวผลผลิตถูกวิธีและตามกำหนดเวลา ขนย้ายและเก็บรักษาผลผลิตให้สะอาดและปลอดภัย โดยมีการจดบันทึกการปฏิบัติทุกขั้นตอนเพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ เป็นการยกระดับด้านปริมาณและคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เมื่อสิ้นสุดโครงการวิจัย พบว่าเกษตรกรเข้าใจความต้องการของตลาด เห็นถึงความสำคัญการผลิตในระบบปลอดภัย (GAP)
นายวีระกล่าวด้วยว่า การวิจัยพัฒนาเครือข่ายห่วงโซ่ฯ นอกจากช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าเกษตรตอบสนองความต้องการกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างปลอดภัย ยังเป็นการยกระดับให้มีคุณภาพมาตรฐาน สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ในยุคการค้าเสรี (FTA) ซึ่งวัดได้จากการเกิดเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพริกปลอดภัยเพิ่มขึ้นรวม 271 ราย ได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q จำนวน 141 ราย (52 เปอร์เซ็นต์) เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารผลิตพริกปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน GAP เพิ่มขึ้นไร่ละ 50 กิโลกรัม สามารถขายพริกสดสายพันธุ์ลูกผสมในช่วงฤดูแล้ง ได้ราคาที่สูงกว่าพริกทั่วไปประมาณกิโลกรัมละ 3-8 บาท ที่สำคัญตลาดแถบอเมริกา ยุโรป และเอเชียหลายประเทศต่างให้ความสนใจพริกสดคุณภาพจากพื้นที่จังหวัดชัยภูมิมากขึ้น.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ