เผยนักประดิษฐ์ดีเด่นเป็นประโยชน์ (2) (ต่อจากฉบับที่แล้ว)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 12, 2010 00:00 —องค์การสะพานปลา

ถังนึ่งก้อนวัสดุเพาะเห็ด
เป็นสิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน เพราะในปัจจุบันการนึ่งก้อนวัสดุเพาะเห็ดยังมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงสูง เนื่องจากการออกแบบถังนึ่งมีขนาดไม่เหมาะสมกับฟาร์มขนาดเล็ก คณะนักศึกษาจึงทดลองสร้างถังนึ่งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา โดยมีจุดประสงค์นำไปส่งเสริมการประกอบอาชีพเพาะเห็ด และเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาสูญเสียเชื้อเพลิง ส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นกลับมาใช้ประโยชน์
คุณสมบัติของถังนึ่งก้อนวัสดุเพาะเห็ด คือเป็นถังนึ่งที่อาศัยการอบฆ่าเชื้อด้วยไอน้ำ ถังนึ่งชุดนี้ประกอบด้วยเตาต้มน้ำร้อน และท่อไอน้ำร้อนประกอบอยู่ในถังใบเดียวกัน โดยมีท่อไอน้ำร้อนเชื่อมติดกับถังต้ม โดยอาศัยหน้าแปลนปะกบกันแล้วยึดด้วยนอต นอกจากนั้น ภายในถังบรรจุตะแกรงบรรจุก้อนวัสดุเพาะเห็ดได้ 5 ชั้น ชั้นละ 10 ก้อน รวม 95 ก้อน พร้อมฝาปิด 1 ชุด 4 ใบบรรจุได้ 380 ก้อน
ถังนี้มีขั้นตอนการทำงานรวมทั้งกระบวนการผลิตคือ นำถังที่มีเตาต้มน้ำร้อนเติมน้ำลงไปในถังประมาณ 60 ลิตร จุดไฟต้มน้ำให้เดือดและมีไอน้ำพุ่งออกมา จากนั้นนำตะแกรงปิดฝาให้แน่น นึ่งก้อนวัสดุเพาะเห็ดนาน 1-1.5 ชั่วโมง โดยกำหนดให้ความร้อนอย่างสม่ำเสมอ
สิ่งประดิษฐดังกล่าวนี้สามารถต่อยอดในภาคอุตสาหกรรมได้ และยังส่งเสริมการประกอบอาชีพเพาะเห็ดให้กับผู้ที่สนใจ สร้างรายได้ให้กับครอบครัว โดยอุปกรณ์นี้ใช้งบประมาณเพียง 17,000 บาทเท่านั้น ผู้ใดสนใจติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่ อาจารย์อรรณพ นันทขว้าง โทร.0-5397-6225
ถ้วยรองน้ำยางพาราจากธรรมชาติ
เป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ จ.ระยอง ที่มีแนวคิดว่า "ถ้วยรองน้ำยางพารา" เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อกระบวนการเก็บน้ำยางพาราเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันปริมาณการใช้ถ้วยรองน้ำยางพาราในสวนยางมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และถ้วยรองน้ำยางพาราที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีอายุการใช้งานได้ไม่นาน
กลุ่มนักเรียนจึงมีแนวคิดในการทำ "ถ้วยรองยางพารา" จากธรรมชาติ โดยการใช้น้ำยางพารา แป้งมันสำปะหลัง ดินขาวและกาวใน (กาวโพลิไวนิล แอลกอฮอล์) มาเป็นตัวผสม จากการทดลองสูตรที่ทำถ้วยรองน้ำยางพาราที่ดีที่สุดคือ ดินขาว แป้งมันสำปะหลัง กาวใส และน้ำยางพารา
ถ้วยรองน้ำยางพาราที่ได้จะมีคุณสมบัติที่ดีคือ มีน้ำหนักเหมาะสม คุณภาพแข็งแรง เมื่อรองรับน้ำยางพาราแล้ว น้ำยางไม่ติดที่ถ้วย ทำให้มีอายุการใช้งานที่นาน และเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อหมดอายุการใช้งานสามารถนำไปใช้เป็นกระถางเพาะชำแทนการใช้ถุงพลาสติก เพราะสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ
วิธีการทำถ้วยรองน้ำยางพารา เริ่มต้นด้วยการเตรียมดินขาวชนิด S400 จำนวน 50 กรัม แป้งมันสำปะหลัง 50 กรัม กาวใส 50 มิลลิลิตร และน้ำยางพารา 100 มิลลิลิตร นำทั้งหมดมาผสมกันให้ทั่ว นวดให้เข้ากัน ใช้วาสลินทาที่ถ้วยรองน้ำยางพาราพลาสติกแล้วนำมาอัดขึ้นรูป จากนั้นนำไปอบด้วยเตาอบ 12-15 ชั่วโมง ส่วนผสมดังกล่าวทำให้ได้ถ้วยรองน้ำยางพาราที่แข็งแรง สามารถใช้รองรับน้ำยางพาราจากต้นยางได้อย่างดี และน้ำยางไม่ติดถ้วย จึงคาดหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อชาวสวนยางพาราอย่างมาก
เครื่องปลูกอ้อยแบบจานผานหมุน
เป็นสิ่งประดิษฐ์ของสมพร ขุริลัง เกษตรบ้านหนองบัวระเหว ต.หนองบัวระเหว อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ที่เริ่มประดิษฐ์คิดค้นมาตั้งแต่ปี 2543 โดยเครื่องนี้สามารถปรับเลื่อนเพิ่มเติม ปรับองศา ปรับระยะความถี่ห่างของแนวร่องปลูกอ้อยได้ตามต้องการ สามารถทำการปลูกอ้อยได้ทุกสภาพพื้นที่ มีลักษณะแบบร่องปลูกอ้อยเดี่ยว 2 ช่อง ป้อนต้นอ้อย และลักษณะร่องแฝด 4 ช่องป้อนต้นอ้อย
ลักษณะเด่นของเครื่องปลูกอ้อยนี้ จะมีชุดจานผานหมุน ชุดล้อขับช่วยให้เบาแรงของเครื่องยนต์ขณะทำการลากเมื่อทำการปลูกอ้อย รวมทั้งชุดล้อขับช่วยรับน้ำหนักของตัวเครื่อง ในขณะชุดล้อขับหมุนทำให้เฟืองที่ยึดติดแกนพลาสติกหมุนตาม ส่งกำลังผ่านโซ่ไปยังเฟืองบังคับคมมีด ซึ่งยึดที่แกนเพลากล่องป้อนอ้อย เดือยที่ขอบชุดล้อขับช่วยเพิ่มแรงให้กับคมใบมีดให้มีประสิทธิภาพในการตัดต้นอ้อยได้ดียิ่งขึ้น
ชุดจานผานหมุนสามารถเปิดหน้าดินได้ความลึกของร่องปลูกอ้อย 25-30 ซม. ช่วยให้ต้นอ้อยทนต่อภาวะความแห้งแล้งได้ดีกว่าเครื่องปลูกอ้อยแบบใบหัวหมู ซึ่งเปิดหน้าดินได้ความลึกของร่องปลูกอ้อยไม่ถึง 20 ซม. ทำให้ต้นอ้อยไม่ทนต่อภาวะความแห้งแล้ง รวมทั้งสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เนื่องจากเครื่องปลูกอ้อยลักษณะแบบใบหัวหมูมีน้ำหนักมากในขณะทำการลากเมื่อทำการปลูกอ้อย
เครื่องปลูกอ้อยชนิดนี้สามารถนำไปชักร่องคัดคูปลูกมันสำปะหลังได้ เพียงถอดชุดจากผานกลบท่อนอ้อย กลบปุ๋ยเคมี และชุดล้อกดหน้าดินเท่านั้น
จากการเปรียบเทียบในแปลงปลูกอ้อยระหว่างเครื่องปลูกอ้อยลักษณะแบบจานผานหมุนแบบร่องเดียว 2 ช่องป้อนต้นอ้อย ขนาดความกว้างของร่องปลูกอ้อย 2 เมตร ความกว้างของร่อง 30 ซม. อัตราการงอกของต้นอ้อย 25-30 วัน งอกต่อเนื่องไม่ขาดตอน ขนาดความลึกของร่องอ้อย 25-30 ซม. และเครื่องปลูกอ้อยลักษณะแบบจานผานหมุนแบบร่องแฝด 4 ช่องป้อนต้นอ้อย ขนาดความยาวของร่องปลูกอ้อย 2 เมตร ความกว้างของร่อง 90 ซม. เว้นช่องระหว่างกลาง 40 ซม. อัตราการงอกของต้นอ้อย 55-60 ต้น งอกอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน ขนาดความลึกของร่อง 20-25 ซม. เพิ่มผลผลิตอัตราต่อไร่มายิ่งขึ้น
เครื่องปลูกอ้อยลักษณะแบบจานหมุนประกอบด้วยชุดจานผานหมุนแยกเป็นชุดๆ สามารถปรับเลื่อน พร้อมปรับองศาได้ ยึดเข้ากับชุดโครงผานชักร่อง ส่วนด้านหน้าชุดโครงผานชักร่องนำไปเกาะเกี่ยวที่รูสลัก แขนยกซ้าย ขวา และแขนกลาง ซึ่งมีอยู่ส่วนด้านหลังรถแทร็กเตอร์ เครื่องปลูกอ้อยยกขึ้นหรือวางลงทันทีเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้ขับขี่ที่มือยกด้านนอกรถแทร็กเตอร์ ขณะที่การลากเพื่อทำการปลูกอ้อย ชุดจานผานแต่ละชุดถูกขับให้หมุนพลิกดินขึ้นพร้อมกลบไปตลอดแนวอย่างต่อเนื่อง
ในขณะเดียวกันชุดล้อขับที่ยึดติดด้านล่าง ส่วนหน้าของชุดโครงผานชักร่องถูกขับให้หมุนไปพร้อมๆ กัน ทำให้เฟืองที่ยึดติดปลายแกนเพลาล้อหมุนตาม ส่งกำลังขึ้นไปที่เฟืองรับกำลังหน้า พร้อมถ่ายกำลังไปที่เฟืองยึดติดแกนเพลาชุดกล่องป้อนอ้อยให้หมุน ทำให้เฟืองที่ยึดติดแกนเพลาหมุนตามบังคับใบมีด ลูกยางลำเลียงต้อนอ้อยหมุนเพื่อทำการตัดต้นอ้อยเป็นท่อนๆ พร้อมทำให้เฟืองที่ยึดติดแกนเพลากล่องป้อนอ้อยอีกด้านหนึ่งหมุนตาม ส่งกำลังไปที่เฟืองที่ยึดติดแกนเพลาเกลียวโรยปุ๋ย ใช้โซ่เชื่อมโยงหากัน
หลังจากต้นอ้อยถูกตัดเป็นท่อนๆ ลงไปสู่ร่องพร้อมปุ๋ยเคมี ชุดจานผานกลบท่อนอ้อยกลบปุ๋ยเคมี ชุดล้อกดหน้าดินถูกขับให้หมุนไปพร้อมๆ กัน ไม่ติดขัดเมื่อสะดุดรากไม้ ตอไม้ใต้ดิน ก้อนหิน สามารถปลูกได้ในทุกสภาพพื้นที่ ทำให้ลดต้นทุนในการปลูกอ้อย และได้รับผลผลิต คือต้นอ้อยอัตราต่อไร่มากยิ่งขึ้น ผู้ใดสนใจต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ สมพร ขุริลัง โทร.08-7252-0642
เครื่องหั่นมันสำปะหลัง
เป็นสิ่งประดิษฐ์ของคณะนักเรียนจากโรงเรียนภูมิซรอลวิทยา อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ที่มีแนวคิดว่า จากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม มีสินค้าเพื่อการส่งออกมากมาย และที่สำคัญมันสำปะหลังเป็นสินค้าเกษตรอีกประเภทหนึ่งที่ส่งออกสู่ต่างประเทศ สร้างรายได้ให้ประเทศจำนวนมาก และปัจจุบันมีความต้องการมากขึ้นตามไปด้วย
จากการที่ราคาของมันสำปะหลังแห้งมีราคาสูงกว่าราคามันสำหลังสด แต่เนื่องจากหัวมันหลังเก็บเกี่ยวมาแล้วมีการเสื่อมคุณภาพเร็วมาก ดังนั้น เมื่อขุดหัวมันสำปะหลังมาแล้วเกษตรกรจึงต้องรีบนำส่งโรงงานเพื่อแปรสภาพทันที ส่งผลให้เกษตรกรต้องจำหน่ายหัวมันในราคาที่ต่ำ เกษตรกรบางรายต้องการจำหน่ายในราคาที่สูง ต้องแปรสภาพหั่นแล้วนำไปตากแห้ง ซึ่งขั้นตอนนี้ไม่ควรเกิน 4 วัน เพราะจะทำให้มีโอกาสที่หัวมันสำปะหลังมีการเน่าเสีย และเปอร์เซ็นต์แป้งจะลดลงตามไปด้วย
การทำให้หัวมันสำปะหลังแห้งก่อนนำไปจำหน่ายในโรงงาน เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้วิธีหั่นหรือสับให้มีขนาดที่เล็กลง จากนั้นนำไปตากให้แห้ง ซึ่งกระบวนการนี้ต้องใช้มีดสับเป็นเวลานาน และเสียพลังงานในการทำงาน และขนาดของมันสำปะหลังที่สับก็มีความบางและขนาดที่แตกต่างกัน ทำให้หัวมันสำปะหลังแห้งมีคุณภาพที่แตกต่างกัน
ดังนั้น กลุ่มผู้ประดิษฐ์เครื่องหั่นมั่นสำปะหลังจึงคิดเครื่องกลที่ช่วยในการหั่นให้เกษตรกรได้รับความสะดวกมากขึ้น และยังช่วยเพิ่มคุณภาพให้กับหัวมันสำปะหลัง ทั้งยังประหยัดเวลา แรงงาน และสะดวก รวดเร็ว มีความปลอดภัย ที่สำคัญสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อีกทางหนึ่งด้วย.
ประภาส ทรงหงษา รายงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ