ชาสมุนไพรน้ำพุร้อนตำรับบำรุงสุขภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 23, 2010 00:00 —องค์การสะพานปลา

เมื่อไม่นานมานี้ หากใครไปเที่ยวแหล่งน้ำพุร้อน อย่างน้ำพุร้อนป่าตึงที่เชียงราย น้ำพุร้อนฝางที่เชียงใหม่ หรือน้ำพุร้อนพรรั้งที่ระนอง ก็คงจะได้แวะซื้อของฝาก ของที่ระลึก และผลิตภัณฑ์ติดไม้ติดมือกลับบ้าน ซึ่งบรรดาผลิตภัณฑ์เหล่านั้นท่านทราบหรือไม่ว่า แต่ละชิ้นล้วนใช้วัตถุดิบที่อยู่รอบน้ำพุร้อนแหล่งนั้นๆ ทั้งสิ้น ที่น่าสนใจและนักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด คือชาสมุนไพร
แน่นอนว่าชาสมุนไพรที่ไหนๆ ก็มีขาย แต่ชาสมุนไพรที่เป็นเอกลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยวในตำรับเฉพาะตัวละก็ ท่านสามารถพบเห็นได้ที่แหล่งน้ำพุร้อนในแต่ละที่เท่านั้น ถามว่าทำไมถึงจำเพาะเจาะจงเฉพาะแหล่งน้ำพุร้อน แล้วชาสมุนไพรตำรับที่ว่ามีความพิเศษอย่างไร
ดร.ไฉน น้อยแสง หัวหน้าแผนกวิจัย วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี ผู้พัฒนาตำรับชาดังกล่าว เปิดเผยว่า โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ สถาบันการแพทย์แผนไทยจึงได้จัดทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทสมุนไพรสู่ตลาดสากลอย่างยั่งยืน เพื่อผลักดันให้มีการพัฒนาคุณภาพสมุนไพรตำรับ นำไปสร้างมูลค่าเพื่อผลผลิตทางการเกษตร สร้างรายได้ให้กับประเทศ สู่การดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรสมุนไพรอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติเด่นในแหล่งน้ำพุร้อน ให้เป็นผลิตภัณฑ์เด่นประจำแหล่งน้ำพุร้อน แหล่งที่จะนำร่องในการพัฒนามีทั้งสิ้น 8 แห่ง แบ่งเป็นภาคเหนือ 3 แห่ง ได้แก่ น้ำพุร้อนป่าตึง (เชียงราย) น้ำพุร้อนฝาง (เชียงใหม่) และน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน (ลำปาง) ภาคใต้ 4 แห่ง ได้แก่ น้ำพุร้อนบ้านพรรั้ง (ระนอง) น้ำพุร้อนท่าสะท้อน (สุราษฎร์ธานี) น้ำพุร้อนบ้านน้ำร้อน (กระบี่) และวนอุทยานบ่อน้ำพุร้อนกันตัง (ตรัง)
ดร.ไฉนเล่าว่า ได้พัฒนาชาสมุนไพรขึ้นมา 8 ตำรับ แต่ละตำรับจะเลือกวัตถุดิบที่มีอยู่ในแหล่งน้ำพุร้อนนั้นๆ เป็นหลัก เช่น ชาชงสมุนไพรน้ำพุร้อนภาคเหนือ ได้แก่ ชาชงตำรับปัญจขันธ์ ชาชงตำรับมะตูม ชาชงตำรับมะขามป้อม และชาชงตำรับขิง ส่วนแหล่งน้ำพุร้อนภาคใต้ ได้แก่ ชาชงบำรุงร่างกาย ชาชงตำรับชุมเห็ดเทศ ชาชงตำรับใบบัวบก และชาชงตำรับส้มแขก
ส่วนประกอบของแต่ละตำรับยังประกอบด้วยสมุนไพรที่ล้วนเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และกว่าจะออกมาเป็นชาแต่ละอย่างล้วนผ่านขั้นตอนการศึกษาเปรียบเทียบสรรพคุณการออกฤทธิ์ยาหลากหลายขั้นตอน จนกระทั่งได้ตำรับชาที่มีคุณภาพต่อร่างกาย และรสชาติที่ละมุนละไมถูกใจผู้ที่นิยมดื่มชาอย่างยิ่ง
ตัวอย่างชาชงมะตูมซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญ คือมะตูม มีสรรพคุณแก้ลม บำรุงธาตุ แก้ปวดศีรษะ ตาลาย ลดความดันโลหิตสูง, เตยหอม แก้โรคเบาหวาน ใช้บำรุงหัวใจ กลิ่นหอมเย็นชื่นใจ ดื่มทำให้ชุ่มคอ แก้อ่อนเพลีย ดับพิษไข้ใช้ชูกำลัง, ชะเอมเทศ รากหรือเหง้ามีสารรีซิร์ริซิน สารไฟโตรเอสโตรเจนและฟลาโวนอยด์ ทำให้ชุ่มคอ เพิ่มการหลั่งของน้ำลายและเสมหะ ช่วยลดการระคายเคือง เมื่อทำการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของชาชงตำรับมะตูมแล้ว พบว่าการตั้งตำรับชาชงเพื่อสุขภาพ ใช้วิธีผสมสมุนไพรแต่ละชนิดที่มีสี กลิ่นและรสชาติที่เข้ากันได้ ในอัตราส่วนเตยหอม : มะตูม : ชะเอมเทศ (0.1:1.6:0.3) พบว่าฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของชาชงมะตูม 1 แก้ว (2 กรัม/น้ำ 100 มิลลิลิตร) เท่ากับ 91.04+-5.10 เมื่อแสดงเป็นปริมาณที่เที่ยบเท่ากับสารมาตรฐานกรดแกลลิกและกรดแอสคอร์บิกที่ระดับความเข้มข้น 7.65+-0.60 และ 8.38+-0.68
จะเห็นว่าการออกมาเป็นชาแต่ละตำรับต้องผ่านกระบวนการทดสอบอย่างละเอียด รอบคอบ เพื่อผู้บริโภค ดังนั้น หากนักท่องเที่ยวท่านใดที่แวะไปเที่ยวน้ำพุร้อนทั้ง 7 แห่ง อย่าลืมอุดหนุนผลิตภัณฑ์ชาชงเพื่อสมุนไพรกลับไปพิสูจน์คุณภาพด้วยตัวคุณเอง
ส่วนท่านใดที่ไม่ได้ไปเที่ยวน้ำพุร้อน หากต้องการชาสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ขณะนี้ทั้ง 8 ตำรับสามารถหาซื้อได้ที่วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หรือหากอยากทราบรายละเอียดก็สามารถสอบถามได้ที่ โทร.08-1342-7484.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ