แห่บูชาพญาแถนประเพณีบุญบั้งไฟยโสธร

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 3, 2010 00:00 —องค์การสะพานปลา

ตามตำนานบุญบั้งไฟเล่าว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าถือชาติกำเนิดเป็นพญาคางคก ได้อาศัยอยู่ใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ในมืองพันทุมวดี ด้วยเหตุใดไม่แจ้งพญาแถน เทพเจ้าแห่งฝนโกรธเคืองโลกมนุษย์ จึงแกล้งไม่ให้ฝนตกนานถึง 7 เดือน ทำให้มวลมนุษย์ลำบาก พืชและสัตว์พากันล้มตาย พวกที่รอดตายพากันมารวมตัวใต้ต้นโพธิ์ใหญ่กับพญาคางคก หารือหาวิธีปราบพญาแถน ครั้งแรกให้พญานาคยกทัพไปรบกับพญาแถน แต่พ่ายแพ้ จึงให้พญาต่อแตนยกทัพไปปราบก็พ่ายแพ้อีกเช่นกัน
ในที่สุดพญาคางคกก็ขออาสาไปรบกับพญาแถน วางแผนให้พญาปลวกก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงเมืองพญาแถน เพื่อเป็นเส้นทางให้มอด แมงป่อง ตะขาบเดินทาง สำหรับมอดให้ไปกัดเจาะด้ามอาวุธที่ทำด้วยไม้ทุกชนิด แมงป่องและตะขาบได้ให้ซ่อนตัวอยู่ตามกองฟืนที่ใช้หุงต้มอาหาร และอยู่ตามเสื้อผ้าของไพร่พลพญาแถน จากนั้นกองทัพพญาคางคกก็เดินทางออกรบ มอดทำหน้าที่กัด เจาะด้ามอาวุธ แมงป่องและตะขาบก็กัดต่อยไพร่พลของพญาแถนจนกองทัพระส่ำระสาย ในที่สุดพญาแถนก็ยอมแพ้และตกลงทำสัญญาสงบศึกษกับพญาคางคก 3 ข้อคือ
1.ถ้ามวลมนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อใด ให้พญาแถนสั่งให้ฝนตกในโลกมนุษย์ 2.ถ้าได้ยินเสียงกบ เขียดร้องให้รับรู้ว่าฝนได้ตกลงมาแล้ว 3.ถ้าได้ยินเสียงสนูว่าวหรือเสียงโหวต ให้ฝนหยุดตก เพราะจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าว
การจุดบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อเป็นการแสดงคารวะกับเป็นสัญญาณแจ้งให้เทพารักษ์ได้ทราบว่าใกล้จะถึงฤดูทำไร่ไถนากันแล้ว ขอได้โปรดเมตตาช่วยบันดาลให้ฝนตกลงมายังภาคพื้นดิน
ทั้งนี้ บั้งไฟแบ่งเป็นหลายชนิด เช่น บั้งไฟแบบมีฟาง เป็นแบบมาตรฐาน มีการตกแต่งให้สวยงาม เวลาจุดจะพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าได้สูงมาก บั้งไฟแบบไม่มีหาง เรียกว่าบั้งไฟกล่องข้าว เหมือนกล่องข้าวเหนียวชนิดมีขาตั้ง หรือรูปร่างคล้ายจรวด บั้งไฟตะไล รูปร่างกลม โดยใช้ไม้ไผ่มาทำเป็นวงกลมรอบหัวท้าย เวลาขึ้นสู่ท้องฟ้าจะหมุนพุ่งไปโดยทางขวาง บั้งไฟม้า เป็นบั้งไฟจุดตามทิศทางที่กำหนด โดยใช้เส้นลวดเป็นเส้นนำตรงไปยังเป้าหมายที่กำหนด เป็นบั้งไฟที่ทำจากไม้ไผ่ 1 ปล้อง ทางภาคกลางและภาคเหนือเรียกว่าลูกหนู โดยทั่วไปเรียกว่าไฟม้า เพราะนิยมทำรูปม้าติดข้างบน เวลาจุดเหมือนม้ากำลังวิ่ง บั้งไฟตื้อ หรือบั้งไฟกระแตนั่งตอ เป็นบั้งไฟขนาดเล็ก มีหางสั้น ใช้จุดเป็นชนวนในการจุดบั้งไฟใหญ่ บั้งไฟแสน เป็นบั้งไฟขนาดใหญ่บรรจุดินปืนตั้งแต่ 120 กก.ขึ้นไป การทำต้องอาศัยความชำนาญพิเศษ เพราะอันตราย ก่อนจะทำจึงต้องมีการบวงสรวงให้ถูกต้อง
จังหวัดยโสธรมีหมายกำหนดการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟประจำปี 2553 ขึ้น ระหว่างวันที่ 3-9 พฤษภาคมนี้ ภายในงานมีมหกรรมอาหาร มหกรรมสินค้าโอท็อป ชมกระบวนการทำบั้งไฟ การเซิ้งบั้งไฟ การประกวดนางฟ้าจำแลง การละเล่นแบบโบราณ การแข่งขันชกมวย ประกวดโชว์บั้งไฟสวยงาม ประกวดธิดาบั้งไฟโก้ ชมขบวนแห่บั้งไฟโบราณ ขบวนแห่มเหศักดิ์
โดยวันที่ 9 พ.ค. เวลา 08.00 น. จะมีพิธีจุดบั้งไฟเสี่ยงทาย การจุดบั้งไฟโบราณทุกประเภทและการแข่งขันบั้งไฟแฟนซี บั้งไฟขึ้นสูง เวลา 10.00 น. จุดบั้งไฟริวเซจากญี่ปุ่น บั้งไฟจากลาวและเวียดนาม
ทางจังหวัดยโสธรจึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจไปร่วมงานกันได้ ซึ่งนอกจะได้ชมประเพณีที่สืบทอดติดต่อกันมายาวนานแล้ว ใน จ.ยโสธร ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ วัดมหาธาตุ ที่อยู่คู่ จ.ยโสธร มาตั้งแต่เริ่มสร้างเมือง มีพระพุทธรูปสำคัญคือพระพุทธบุษยรัตน์ พระธาตุพระอานนท์ และหอไตรกลางน้ำ พระธาตุกู่จาน เมืองโบราณดงเมืองเตย โบสถ์คริสต์บ้ายซ่งแย้ สวนสาธารณะพญาแถน ภูถ้ำพระ หมู่บ้านหมอนขิด บ้านทุ่งนางโอก บ้านนาสะไมย์ที่มีชื่อเสียงด้านจักสานไม้ไผ่ เครื่องใช้ในครัวเรือน
ส่วนของฝาก ของที่ระลึกก็มีอยู่มากมายและมีชื่อเสียง โดยเฉพาะงานหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น หมอนขวานหลากหลายรูปแบบ ผ้าลายขิด เกวียนจำลอง กระติบข้าว เครื่องจักสานบั้งไฟจำลอง ของกินก็มีปลาส้มที่มีทั้งปลาตะเพียน ปลาสวาย ไปจนถึงข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ข้าวกล้องอินทรีย์ ที่ผู้ไปเยือนจะเลือกได้ตามใจชอบ จึงไม่ควรพลาดงานนี้ที่ 1 ปีมีแค่ครั้งเดียว.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ