ยกระดับ"ตุ่ม"พื้นบ้านจากภาชนะสู่ของตกแต่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 1, 2010 00:00 —องค์การสะพานปลา

ในอดีตผู้คนทางแถบอีสานมักจะนำ "ตุ่ม" ซึ่งเป็นภาชนะใส่น้ำดื่มมาตั้งไว้บริเวณหน้าบ้าน เพื่อให้ผู้สัญจรไปมาสามารถตักน้ำดื่มแก้กระหาย นับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของวิถีชีวิตแบบไทยๆ สมัยก่อน แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป ตุ่มจึงค่อยๆ หายไปจากสังคมไทยในที่สุด
"ทุกวันนี้ไม่มีแล้วตุ่มน้ำ ส่วนใหญ่เขาใช้ตู้เย็นและกระติกน้ำแข็งแทน เวลาไปขายตุ่มแล้วมีคนพูดว่า เลิกใช้ตุ่มแล้ว เราก็รู้สึกอาย และเกือบจะถอดใจเลิกอาชีพนี้" นางกุล กุมพล ชาวบ้านหมู่บ้านหัวบึง ตำบลดอนช้าง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น บอกเล่าความรู้สึกครั้งเมื่อขายตุ่ม หรือหม้อดิน ซึ่งเป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่ยึดเป็นอาชีพมายาวนานกว่า 50 ปี
จากสาเหตุดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการลงพื้นที่ศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนาเครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำอีสาน กรณีศึกษาจังหวัดขอนแก่นที่หมู่บ้านหัวบึง ของ ผศ.ธนสิทธิ์ จันทะรี และคณะวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยทีมนักวิจัยได้นำเอาความรู้ทางด้านการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์มาถ่ายทอดพัฒนาองค์ความรู้ และต่อยอดภูมิปัญญาของชาวบ้านให้สามารถปรับตัวอยู่ได้ในยุคปัจจุบัน
ตามประวัติบรรพบุรุษชาวบ้านหัวบึง ได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดนครราชสีมา เป็นกลุ่มคนที่มีฝีมือในการปั้นหมอดิน ตุ่มใส่น้ำและเครื่องปั้นดินเผา โดยอาชีพนี้ได้สืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน กว่า 200 ปี แต่น่าเสียดายที่อาชีพนี้ไม่ได้รับการสานต่อจากลูกหลานรุ่นใหม่ เนื่องจากผู้คนไม่นิยมใช้
ผศ.ธนสิทธิ์ จันทะรี หัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า ได้มีการศึกษาในภาพรวมเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำอีสาน โดยแบ่งออกเป็น 4 เรื่องคือ การออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำอีสาน ซึ่งจากเดิมชาวบ้านจะมีการออกแบบเป็นแค่หม้อดินและตุ่มน้ำเท่านั้น ซึ่งทีมนักวิจัยได้เข้ามาเพิ่มความรู้ให้ชาวบ้าน สามารถออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ตกแต่งบ้านและสวน รวมถึงสามารถใช้ในธุรกิจสปาได้ เช่น เก้าอี้สตูล อ่างน้ำ แจกัน โมบาย โคมไฟ อ่างบัว กระถาง ไหน้ำผุด กระถางแขวนมีโมบาย และชุดอโรมา โดยใช้วิธีการผลิตแบบดั้งเดิมของชาวบ้านและเน้นความเรียบง่าย
ส่วนเรื่องที่ 2 การพัฒนากระบวนการการผลิตเครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำอีสาน ความน่าสนใจของเรื่องนี้อยู่ที่นักวิจัยได้ถ่ายทอดความรู้ใหม่ๆ ให้แก่ชาวบ้านในเรื่องของการขึ้นรูป ซึ่งใช้วิธีการตี การขึ้นรูปแบบดินเส้น และการขึ้นรูปด้วยดินแผ่น การตกแต่งชิ้นงานด้วยการกดประทับให้เกิดลวดลาย โดยใช้ไม้ที่แกะลวดลายและใช้วิธีการขดเส้นดินให้เป็นลวดลาย กระบวนการเผา ได้ออกแบบเตาเผาที่ใช้วิธีการเผาแบบเดิมแต่สามารถเผาได้ทุกฤดูกาล ด้วยการสร้างโรงเรือนและเตาเผาขนาด 2x2x0.8 เมตร ก่อด้วยอิฐขนาด 1x1x0.84 เมตร เผาด้วยฟางข้าว อุณหภูมิประมาณ 800 องศา
เรื่องที่ 3 การพัฒนาสูตรดินปั้นและเคลือบเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำอีสาน โดยทดลองหาสูตรดินด้วยวิธี Biaxial Blend หรือ Line Blend ได้สูตรดินปั้นที่เหมาะสมคือ สูตรที่ 6 มีส่วนผสมของดินเหนียว 60% และดินเชื้อ (Grog) 40% ผลการทดลองหาสูตรเคลือบด้วยวิธี Biaxial Blend และวิธี Triaxial Blend โดยใช้วัตถุดิบคือ บอแร็กฟริตและเลดซิลิเกตฟริตผสมกับดินบ้านหัวบึงและขี้เถ้าฟางข้าว
และเรื่องที่ 4 การออกแบบบรรจุภัณฑ์และการทดสอบตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยออกแบบตราสินค้า พัฒนาบรรจุภัณฑ์ในการขนส่ง และการส่งเสริมการตลาดภายใต้แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่ในท้องถิ่น เน้นเอกลักษณ์เฉพาะตนส่งเสริมภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ใหม่ควบคู่กับการอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิม
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ธนสิทธิ์ จันทะรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร. 0-4336-2046 ในวันและเวลาราชการ.
///////////////

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ