รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะของสนช.

ข่าวกฏหมายและประกาศ Saturday May 26, 2007 11:11 —สำนักโฆษก

วันนี้ เวลา 08.00 น. ณ บ้านพิษณุโลก พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ใน รายการ "เปิดบ้านพิษณุโลก" ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ เป็นครั้งที่สาม โดยมีนายสัญญา คุณากร เป็นผู้ดำเนินรายการ
พิธีกร สวัสดีครับ ท่านผู้ชมที่เคารพทุกๆ ท่าน ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รายการพิเศษ "เปิดบ้านพิษณุโลก" ครั้งที่ 3 วันนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราได้ต้อนรับทั้งท่านผู้ชมที่ชมการถ่ายทอดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 และท่านที่ฟังเสียงทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ มีผม สัญญา คุณากร เป็นผู้ดำเนินรายการ ผมเชื่อว่ามาถึงวันนี้ ท่านผู้ชมที่ได้ชมรายการครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 คงจะทราบแนวความคิดของรายการนี้ว่า เป็นโอกาส เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เราได้มีโอกาสได้ใกล้ชิด ได้รู้จักวิธีคิดของผู้ที่บริหารประเทศของเราในขณะนี้คือ ท่านนายกรัฐมนตรี เป็นความตั้งใจว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรานั้น แน่นอนว่าท่านมีบทบาทอย่างยิ่ง รายการนี้คงไม่ใช่รายการที่จะมาเชิดชูเกียรติท่าน หรือเป็นรายการที่มาถล่มท่านแต่อย่างใด แต่ทั้งหมดนั้นจะเกิดขึ้นจากความสงสัย ความอยากรู้ สิ่งต่างๆ ที่มากระทบต่อประชาชน และผู้ที่รับผิดชอบคือนายกรัฐมนตรี ท่านทำอย่างไร ท่านคิดอย่างไร ตอนนี้ท่านนั่งอยู่ตรงนี้แล้วครับ ขอต้อนรับท่าน พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี สวัสดีครับ
นายกรัฐมนตรี สวัสดีครับ
การแถลงผลงานรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
พิธีกร ขออนุญาตเรียนท่านผู้ชมก่อน วันนี้ที่ผมมานั่งกับท่านนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นวันรุ่งขึ้นหลังจากที่ท่านได้แถลงผลงานของรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผลงานในรอบ 6 เดือน วันนี้เป็นวันรุ่งขึ้น เมื่อคืนนี้ (24 พ.ค.) ท่านอยู่ถึงเที่ยงคืนใช่ไหมครับ
นายกรัฐมนตรี ครับ เที่ยงคืนกว่านิดหน่อย
พิธีกร ท่านนอนกี่โมงครับ
นายกรัฐมนตรี ไปถึงบ้าน อาบน้ำ นอนประมาณตีหนึ่งพอดี
พิธีกร นอนด้วยความรู้สึก ได้ทำ ได้เล่า หรือว่าสิ่งที่เขาสะท้อนกลับมาทำให้นอนไม่หลับ หรืออะไรขนาดไหน
นายกรัฐมนตรี ในส่วนของผมคงเรียนได้ว่า ประเมินท่าทีของผู้ที่ได้อภิปรายประมาณสัก 50 กว่าท่าน ประเมินในภาพรวม แล้วก็ได้สรุปประเด็นที่ถือว่ามีความสำคัญที่รัฐบาล คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จะได้นำไปปรับแก้ไขกันต่อไป นั่นก็เป็นสิ่งที่ถือได้ว่าในภาพรวม ทางสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ ที่ได้เปิดอภิปรายนั้น ได้ให้ข้อสังเกต ได้ให้ข้อคิดเห็น ที่เป็นในลักษณะที่จะพูดได้ว่าเป็นข้อเสนอ เป็นสิ่งที่อยากจะให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติ ซึ่งเราได้รวบรวมไว้
พิธีกร หลายท่านได้พูดอย่างหนึ่งที่ชัดเจนว่า รัฐบาลทุกรัฐบาลมีอายุที่ยาวกว่านี้คือ 4 ปี โดยปกติรัฐบาลของท่านมี 1 ปี ตอนนี้เพิ่งทำไป 6 เดือน จริงๆ แล้ว 6 เดือน เขาประเมินลำบาก เพราะเป็นช่วงเวลาของการเริ่มต้นเท่านั้นเอง แต่ถ้าจะถามว่าสมมติท่านให้คะแนนตนเองจากเสียงสะท้อนของ สนช. ทุกท่าน เขามองว่าท่านผ่านหรือไม่ครับ
นายกรัฐมนตรี ส่วนใหญ่คิดว่าท่านเข้าใจ เหมือนอย่างที่คุณสัญญาฯ ว่า ห้วงเวลา 6 เดือน จะให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เป็นเรื่องที่ลำบาก แม้แต่รัฐบาลซึ่งมีการเตรียมการอย่างดีแล้ว หมายถึงว่าเป็นพรรคการเมือง เตรียมที่จะเข้ามาบริหารใน 1 ปีก็ยังลำบาก ที่เข้ามาคือว่าเข้ามาแบบฉุกเฉิน มาจาก 50 พ่อ 50 แม่ แล้วมารวมอยู่ด้วยกัน แล้วทำงานด้วยกัน แต่อาศัยตรงที่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทุกๆ คน ได้มีส่วนทำงานอยู่แล้ว เกือบจะเรียกว่าไม่ต้องมานับหนึ่งใหม่ เราอาจจะมานับสิบ ทำให้ห้วงเวลาที่เราทำงานนั้น ลดลงไปได้
พิธีกร แปลว่าท่านประเมินว่า ส่วนใหญ่ทาง สนช. เข้าใจและมองว่าน่าจะสอบผ่าน คราวนี้สิ่งไหนที่ท่านรู้สึกว่าข้อแนะนำต่างๆ จากสมาชิกของ สนช. เป็นเรื่องที่ท่านรู้สึกว่าต้องเพิ่ม เรื่องนี้เรายังทำไม่ดีนัก เรื่องนี้อาจจะตรงกับมุมมองหลายๆ คน นี่อ่านจากสื่ออย่างเดียวว่ารัฐบาลไปทำอะไร รัฐบาลช้า รัฐบาลอย่างนั้นอย่างนี้ สิ่งนี้ตรงกับสิ่งที่ท่านเป็นอยู่หรือไม่ หรือว่าท่านได้เรื่องอะไรที่ต้องไปแก้ไข
นายกรัฐมนตรี ตรงครับ ตรงในเรื่องที่ว่าเราต้องเร่งรัดในเรื่องของการที่จะลงไปพบปะกับพี่น้องประชาชนให้มากยิ่งขึ้น รับฟังปัญหาเพื่อที่จะนำมาปรับแก้ เพราะว่าในช่วงขณะนี้ ถ้าจะพูดถึงในหลักการแล้ว ก็คือ ได้วางแนวทางในการทำงาน จัดระบบงบประมาณที่จะลงไปสู่ระดับท้องถิ่นแล้ว ขณะนี้เราก็ควรจะลงไปดูว่า สิ่งที่เราได้วางลงไปนั้น เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ หมายถึงว่าลงไปถึงหรือไม่ ผู้คนมีความเข้าใจหรือไม่ว่าจะช่วยกันทำงานอย่างไร ไม่ใช่นำเงินไปกองแล้วทุกคนมาหยิบไป ไม่ใช่อย่างนั้น ช่วยกันดู บริหาร ทำให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างไร ชุมชนมีการจัดการในลักษณะที่เราเรียกว่า เป็นกรรมการหมู่บ้านหรือไม่ ถ้าเผื่อลักษณะอย่างนี้แล้ว จะส่งผลสะท้อนในหลายเรื่อง จากที่เราพูดถึงเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่าเราจะแนะนำลงไปอย่างไร ที่จะให้ชุมชนเริ่มเข้ามามีส่วนร่วม แน่นอนว่าเป็นผลประโยชน์ของเขา เป็นสิ่งที่เขาจะต้องเผชิญอยู่ เป็นปัญหาของเขา เขาต้องหาทางแก้ แต่สิ่งนี้เองจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาจะดูว่าคนในหมู่บ้านของเขา ใครที่มีคุณภาพ ใครที่มีศักยภาพ ที่จะมาช่วยกันบริหารได้ จะเป็นผู้นำชุมชนที่เกิดขึ้นจากการที่เรานำนโยบายและงบประมาณลงไป ไม่ได้หมายความว่าจะมีแนวทางอย่างเดียวแล้วสำเร็จ ไม่ได้ จะต้องมีงบประมาณให้เขาเริ่มทำ เริ่มคิด แล้วก็จะส่งผลมาเอง ไปสู่ระบบ การเมืองที่เริ่มมีความเข้มแข็งที่ชุมชน ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่การคิดเอง ทำเอง เพื่อแก้ไขปัญหาของเขาเอง
พิธีกร ถ้าผมมองเป็นรูปธรรมง่ายๆ สิ่งที่ท่านได้จาก สนช. จากการแถลงผลงานของงท่าน ทำให้ชัดเจนขึ้นมาอย่างหนึ่งว่า ท่านและคณะรัฐมนตรีของท่านกำลังรับปากกับประชาชนว่า ท่านจะเร่งรัดเรื่องต่างๆ ลงไปเร่งรัดจริง ลงไปสัมผัสมากขึ้น เพราะคนมีความรู้สึกว่าท่านไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ท่านไม่จำเป็นต้องลงไปสัมผัสกับประชาชน เพราะไม่ต้องขอเสียง ไม่ต้องขอคะแนนใดๆ แต่ตอนนี้ท่านกำลังจะบอกว่า สนช. บอกให้ท่านแก้ไข ลงไปรับฟังปัญหาจริงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น ขนาดไหน ต่อไปจะเห็นรัฐมนตรีของท่านและตัวท่านลุยลงไปเอง ไม่ใช่ปล่อยให้ขับเคลื่อนตามระบบอย่างเดียว
นายกรัฐมนตรี ในส่วนตัวของผม ผมลงไปทุกภาคแล้ว ผมรู้ว่าประเด็นปัญหาอยู่ตรงไหน เพราะการทำงานในช่วงที่ผ่านมาเมื่อได้มอบนโยบาย จัดสรรงบประมาณลงไปแล้ว ผมก็ลงไปกำกับ ดูแล เรื่องของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาในเรื่องของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัด ชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในเรื่องของงบอยู่ดีมีสุข งบที่จะลงไปถึงชุมชน ซึ่งผมก็ได้บอกว่ามีปัญหา งบที่ลงไปสู่ ศอ.บต. ไม่มีปัญหาลงไปแล้ว ใน 6 จังหวัดของอันดามัน ไปดูมาแล้วปัญหามีอะไรในเรื่องที่สืบต่อเนื่องมาจากภัยสึนามิที่ผ่านมา เราจะแก้อย่างไร รับฟังมาหมดแล้ว
พิธีกร ถ้ามีคนบอกว่าด้วยระบบของการเลือกตั้ง ถ้างบไม่ถึงชาวบ้านเขามีที่บอก เขามีที่ร้องเรียนว่าข้าราชการบางท่าน หน่วยงานนี้ยังทำงานไม่เต็มที่ ไปไม่ถึงจริงๆ แต่ด้วยระบบของท่าน ท่านมีอะไรเป็นหน่วยงานที่บอกให้ท่านรู้ว่าไปไม่ถึง ส่งออกไปแล้วแต่กระจายไม่ถึงอย่างนี้ครับ
นายกรัฐมนตรี หน่วยท้องถิ่นจะเป็นคนบ่นขึ้นมาเอง เพราะว่าประชาชนจะบอกว่าเงินลงไปไม่ถึง หน่วยก็จะต้องบอกขึ้นมา เพราะเรามีหลายหน่วยที่ทำงานด้วยกัน ในส่วนขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ก็เป็นส่วนหนึ่ง ในส่วนของทางจังหวัดก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ส่วนของชุมชน ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะมีผู้นำชุมชนซึ่งเป็นชาวบ้าน อาจจะเรียกว่าปราชญ์ชาวบ้าน จะมีกลุ่มของเขา ซึ่งมีการจัดตั้งอยู่แล้ว กลุ่มเหล่านี้ก็จะเป็นคนส่งสัญญาณมาผ่านทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่าเป็นไปแล้วอย่างไร แค่ไหน มีปัญหาหรือไม่ จะมาจากทุกส่วน กลไกเหล่านี้ยังทำงานได้
พิธีกร ภาพรวมจาก สนช. เมื่อวานนี้ ท่านต้องแก้อะไรเป็นพิเศษ ท่านจะลงไปเร่งรัด คนของท่านจะเข้าไปใกล้ชิดกับผู้คนมากขึ้น รับฟังเรื่องชัดเจนมากขึ้น มีอะไรที่ท่านจะต้องแก้ไขอีก
นายกรัฐมนตรี ในเรื่องอื่นๆ ผมคิดว่าในช่วงนี้คงไม่มีอะไรมากไปกว่าที่จะลงไปรับฟัง ลงไปปรับแก้สิ่งที่น่าจะเป็นปัญหา เป็นอุปสรรค สิ่งนั้นสิ่งเดียว และก็เร่งรัดให้ดำเนินการไปอย่างรวดเร็ว
พิธีกร จะมีการเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีหรือไม่ หมายถึงว่ามีการลาออกไป 1 ท่าน จะเพิ่มหรือจะแก้ไขอะไร อย่างไรไหม
นายกรัฐมนตรี ในขณะนี้กำลังปรึกษากันอยู่ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ที่จะหาคนมาเพิ่มเติม มีทางเลือก คงรอการหารือร่วมกัน เพราะว่าในส่วนของผมเองทำงานในระบบของการหารือมากกว่าที่จะตัดสินใจด้วยตนเองทั้งหมด ผมฟังท่านรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ท่านว่า มีความเห็นอย่างไรบ้าง
ประเมินสถานการณ์วันตัดสินคดียุบพรรค (30 พ.ค.)
พิธีกร ท่านผู้ชมครับ นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (24 พ.ค.) ท่านที่ชมอยู่อาจจะชมในวันเสาร์ พอดีที่เราสัมภาษณ์อยู่เป็นวันศุกร์ จึงถามเรื่องเหตุการณ์เมื่อวานนี้ แต่เรากำลังจะถามต่อไปถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต คือ วันที่ 30 พฤษภาคม 2550 นี้ จะมีการประกาศผลการตัดสินคดีจากตุลาการรัฐธรรมนูญเรื่องยุบพรรคการเมือง ว่ากันว่าจะเกิดเป็นวิกฤติที่ยิ่งใหญ่ เพราะยังมาไม่ถึง แต่ก็มีข่าวว่าท่านจะไม่อยู่ ท่านจะไปประเทศจีน มีคนบอกว่าทำไมท่านนายกรัฐมนตรีไม่อยู่ ไม่รอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น ท่านมองเรื่องนี้อย่างไร จะเป็นวิกฤติหรือไม่ และรัฐบาลได้เตรียมอะไรกันบ้าง
นายกรัฐมนตรี ในส่วนของรัฐบาลได้ประสานงานกับส่วนราชการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของฝ่ายความมั่นคง คือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ได้มีการประสานกันมานานแล้วว่า ในช่วงเวลาตรงนี้จะทำอย่างไร ในภาพรวมทาง กอ.รมน. จะดูแล ในส่วนย่อยๆ ที่ผมได้มีโอกาสเข้ามาเกี่ยวข้อง คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้พูดจากับรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่า ช่วงเวลาเหล่านี้ขอให้ช่วยกันดูแลในเรื่องของความสงบให้เข้มงวดมากขึ้น นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่าจากการทำงานในทุกๆ ด้าน การที่จะพยายามสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนว่า เมื่อมาถึงจุดที่กระบวนการยุติธรรมจะได้ใช้อำนาจของกระบวนการยุติธรรมแล้ว เราก็ควรจะยึดถือคำตัดสินของศาล คำวินิจฉัยของศาล ถ้าเราไม่มีอะไรที่เป็นตัวยึดเลย คือในชีวิตเรา เราคิดว่าเอาตัวของเราเป็นผู้เลือก ก็ไม่มีอะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยว สังคมก็ไม่เป็นสังคม ถ้าเราจะถามว่าความยุติธรรมอยู่ตรงไหน ถ้าเราไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลแล้ว ผมก็ตอบไม่ได้ว่าเราจะตอบว่าความยุติธรรมอยู่ตรงไหน
พิธีกร ผมเชื่อว่าหลายๆ สื่อที่วิจารณ์ท่านในทางลบก็มาจากความรู้สึกบางส่วน เช่น คมช. เป็นองค์กรใหม่ รัฐบาลที่ผ่านมา ไม่มี แต่ คมช. ทำงานร่วมกับรัฐบาล เขาก็จะบอกว่าเรื่องทุกเรื่องนายกรัฐมนตรีต้องรู้ ต้องรับผิดชอบ แต่ท่านจะบอกว่าเรื่องแบบนี้ถ้าเกิดความไม่สงบใดๆ ก็เป็นหน้าที่ของ คมช. ของ กอ.รมน. ต่างๆ นาๆ และสองคือท่านไม่อยู่ ในแง่ความรู้สึก จะไม่เป็นในทางลบหรือครับว่า กำลังจะมีวิกฤติแต่ท่านนายกรัฐมนตรีไม่อยู่
นายกรัฐมนตรี ลำบากนิดหนึ่งตรงที่ว่า คุณสัญญาฯ ใช้คำว่า คมช. กับ กอ.รมน. ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลเดียวกัน แต่ถ้าเราแยกว่าหน้าที่ของเขา ถ้าเขามาทำหน้าที่ทางด้าน กอ.รมน. เขาจะเป็น ผู้ใต้บังคับบัญชาของผม เขาจะต้องรับคำสั่งจากผม และต้องปฏิบัติในการดูแล
พิธีกร ไม่แปลกหรือครับว่า คมช. ถอดถอนท่านได้ แต่พอไปเป็น กอ.รมน. ท่านสั่งได้
นายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าชีวิตในบ้านคนเหมือนกัน พอเข้าไปบ้านเราก็ต้องฟังภรรยา แต่ออกมาข้างนอกเราเป็นอีกคนหนึ่ง เพราะเราต้องตัดสินใจเอง เรื่องในบ้านเราก็ต้องยกให้ เป็นหน้าที่ที่แบ่งกันอย่างชัดเจน ถ้าเราคิดว่าเราจะใหญ่แต่เพียงผู้เดียว โดยที่ไม่ฟังคนอื่นบ้าง ไม่แบ่งมอบหน้าที่ให้กับคนอื่นบ้าง ผมคิดว่าเราคงไม่ได้อยู่ในสังคมเดียว ถ้าบอกว่านายกรัฐมนตรีชี้ทุกอย่าง ผมว่าไม่ใช่ ผมว่าแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่เรียกว่าเป็นเผด็จการ เพราะว่าการทำงานจริงๆ แล้ว นายกรัฐมนตรีจะต้องปรึกษาหารือกับคณะรัฐมนตรี แล้วออกมาเป็นแนวทาง ถ้ายิ่งเป็นมติคณะรัฐมนตรีได้ หมายถึงว่าทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องไปทางนี้ นั่นคือสิ่งที่ผมอยากจะเสนอว่าในการทำงานของเรา ถ้าเราอยากจะเป็นสังคมประชาธิปไตย อยากจะเป็นสังคมที่ฟังความเห็นซึ่งกันและกัน เราก็ต้องเปิดใจ และรับความคิดเห็นของคนอื่นด้วย ไม่อย่างนั้น เราก็คงต้องตัดสินใจเองทั้งหมด อย่างนี้ผมเอาอย่างนี้
พิธีกร ผมกำลังรู้สึกว่า ท่านนายกรัฐมนตรีกำลังจะบอกว่า ภาพเดิมที่เรามีต่อนายกรัฐมนตรีหลายท่านที่ผ่านมา เราอาจจะมีความรู้สึกว่า ประเทศเราจะดี จะร้าย นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบ ทิศทางแบบนี้จะดีเมื่อบ้านเมืองดี ก็จะเกิดวีรบุรุษขึ้น แต่วิธีแบบของท่านคือนายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบคนเดียวต่อทั้งประเทศ คณะรัฐมนตรีอาจจะขวางนายกรัฐมนตรีได้ คมช. อาจจะไม่เห็นด้วยกับท่านก็ได้ นี่คือวิถีประชาธิปไตยแบบที่เราดำเนินอยู่ในกรณีนี้ ถูกหรือไม่ ถ้าใครกำลังเข้าใจผิดว่านายกรัฐมนตรีต้องรู้ทุกเรื่อง ต้องทำได้ทุกเรื่อง ต้องรับผิดชอบทุกเรื่อง ไม่ใช่
นายกรัฐมนตรี รู้ แต่ว่าอาจจะลึกซึ้งไม่เท่ากับผู้ที่รับผิดชอบจริงๆ ทุกเรื่อง ถ้าจะถามผมว่ารู้ในเรื่องของการที่จะรักษาเรื่องเสถียรภาพของเงินบาทหรือไม่ ตอบว่ารู้ แต่ผมไม่รู้ลึกซึ้งเท่ากับท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผมจะไปตอบแทนท่านผู้ว่าการฯ ผมตอบไม่ได้ หรือจะให้ผมบอกเรื่องของงบประมาณ ผมก็พอรู้ว่าเราจัดอย่างไร แต่ถ้าให้รู้ลึกซึ้งเหมือนอย่างผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผมทำไม่ได้
พิธีกร หรือลงไปสั่งว่าจะทำแบบนี้ ไม่ได้
นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ครับ
พิธีกร แต่แบบนี้ทำให้ท่านต้องกล้ำกลืนภาพลบที่คนบอกว่า ไปถามนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีก็บอกว่าให้ไปถามคนนั้น เรื่องนี้ผมไม่ได้รับผิดชอบ คนนั้นรับผิดชอบ อย่างนี้ท่านก็ต้องกล้ำกลืนสิครับ ผมจะบอกว่าระบบนี้ไม่ใช่ไม่ดี แต่ท่านจะไม่มีภาพลักษณ์ของการเป็นฮีโร่คนเดียว
นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ เราต้องทำงานร่วมกัน ผมคิดว่าระบบของคณะรัฐมนตรีเป็นการทำงานร่วมกัน และผมอยากให้เป็นการทำงานในลักษณะเช่นนี้ ความรับผิดชอบขั้นสุดท้ายมาอยู่ที่ตัวผม การรับผิดชอบจะต้องเป็นขั้นๆ
พิธีกร แล้วมีเอกภาพหรือไม่
นายกรัฐมนตรี ต้องมีสิ ต้องมีเอกภาพ เพราะว่าเมื่อผ่านตามขั้นตอน จะต้องมีการตรวจสอบว่าตรงนี้เป็นไปตามแนวทางที่เราได้กำหนดเป็นหลักการไว้หรือไม่ หรือว่าเป็นนโยบายหรือไม่ เมื่อถึงตรงนั้นแล้ว ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้อง เราจะแก้ไข แก้อย่างไร ก็นำเข้าที่ประชุม หารือกัน จะออกมาเป็นมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่ ไม่เป็นไร ถ้าทุกคนเห็นว่าตรงนี้ เป็นแบบนี้ดีกว่า เราก็ไปทางนั้น
พิธีกร สุดท้ายท่านและคณะรัฐมนตรีมองเรื่องวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ ที่สื่อหลายสื่อวิเคราะห์ว่าจะมีวิกฤติ รัฐบาลมองว่าอย่างไร
นายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าต้องมีคนไม่พอใจ มีคนที่ออกมาแสดงออก แต่ผมคิดว่าไม่มากมาย ไม่ได้ออกมาเป็นแสนๆ คน นั่นเป็นลักษณะที่ผมมีความรู้สึก ยังไม่ถึงกับประเมิน เพราะผมมีโอกาสพูดคุยกับพี่น้องประชาชน ทั้งในต่างจังหวัดและในกรุงเทพมหานครพอสมควร ส่วนใหญ่มีวิจารณญาณว่าเราควรที่จะฟังคำวินิจฉัยของศาล
พิธีกร ท่านก็เลยคิดว่าอยู่ในระดับที่จะเรียกว่า กอ.รมน. ควบคุมได้ ท่านสามารถไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศได้
นายกรัฐมนตรี เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมได้เตรียมการไว้แล้ว เตรียมการไว้ว่าถ้ามีความจำเป็น เราจะกลับมาก่อน ผมอธิบายได้อย่างนี้ว่าวันที่มีความสำคัญ คือวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2550 ที่ผมจะไปพบทั้งท่านประธานาธิบดี และท่านนายกรัฐมนตรี พบกับประธานสภาของจีน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเพราะเราต้องมีความตกลงร่วมกัน ซึ่งจะได้ข้อยุติประมาณ 3 เรื่องใหญ่ๆ ส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการร่วมมือกัน สิ่งที่ผมจะไปพูดเพิ่มเติมคงเป็นเรื่องที่เราอยากจะให้มีการเปิดเส้นทางคมนาคมทางรถไฟเพิ่มเติม จากมณฑลยูนนานลงมาทางตอนเหนือของประเทศไทย ผ่านประเทศลาว ซึ่งเป็นเพียงแนวคิดที่ต้องไปหารือกันก่อน และต้องมีการพูดกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา คือประเทศลาว ว่าเขาเห็นด้วยหรือไม่ ร่วมมือกันหรือไม่ ในขณะนี้มีเส้นทางรถไฟแล้ว และเรากำลังจะสร้างสะพานแห่งที่ 4 ที่เชียงของ ที่จะเชื่อมเส้นทางรถยนต์ที่ผ่านประเทศลาว และไปเข้าที่มณฑลยูนนาน นี่ก็เป็นส่วนที่จะได้มีการหารือเพิ่มเติม สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่พูดกันถึงอนาคต แต่ว่ามีความจำเป็น ถ้าเราไม่วางแนว ไม่คิดล่วงหน้า เราจะก้าวไม่ทันเขา
พิธีกร นี่เป็นกำหนดการที่มีมาล่วงหน้า และถ้าผิดจากกำหนดนี้ก็อาจจะเลยไปไกลหรือไม่
นายกรัฐมนตรี ในส่วนของประเทศจีน เดิมพูดกันว่าน่าจะพบกันปลายเดือนพฤษภาคม 2550 ซึ่งผู้ใหญ่ของเขาจะอยู่ในประเทศพร้อมกันทั้งสองท่าน คือประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีที่จะอยู่พร้อมกัน ซึ่งมีโอกาสน้อย เพราะเป็นประเทศใหญ่ ต้องเดินทางไปที่นั่นที่นี่ตลอดเวลา นี่เป็นโอกาสอันหนึ่งที่ผมถือว่าทั้งประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ประธานสภาของจีน ได้ให้เกียรติกับผมเป็นอย่างยิ่ง ที่จะให้เข้าพบระดับที่เรียกว่าเป็นระดับผู้นำของประเทศจีนได้ทั้งหมด
พิธีกร มีเรื่องอื่นอีกด้วยหรือไม่ การเมืองในประเทศของเราจากมุมมองของจีนเอง มีหรือไม่ครับ
นายกรัฐมนตรี ในส่วนของประเทศจีน จะไม่ได้มองในเรื่องการเมืองในประเทศไทยเลย เพราะจีนถือหลักการอย่างชัดเจนว่าจะไม่แทรกแซงในเรื่องทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้าน
พิธีกร ขออภัยที่ผมถามเรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดนิดหนึ่ง เพราะผมเชื่อว่าถ้าหากท่านผู้ชม หรือใครก็ตาม หรือสื่อที่มีความรู้สึกสงสัยว่า ทำไมนายกรัฐมนตรีต้องไม่อยู่ ต้องชั่งน้ำหนักว่าท่านไม่อยู่เพราะต้องไปทำอะไร และท่านมองว่าในประเทศของเรา ณ วันนั้นจะเป็นอย่างไร
นายกรัฐมนตรี หรือถ้ามีอะไร ก็ใช้เวลาบินประมาณ 4 ชั่วโมง กลับมาถึงกรุงเทพมหานคร
พิธีกร ช่วงหน้า เราจะกลับมาคุยกันต่อ และผมจะไม่ถามเรื่องว่าเหตุการณ์นี้ท่านคิดอะไร ทำอะไร ถึงไหน แต่ผมกำลังจะถามเรื่องสำคัญ คือเรื่องที่ท่านใช้เป็นนโยบายของรัฐบาลในการประกาศนโยบายแรกๆ คือการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในประเทศ มีหลายคนบอกว่าผ่านมา 6-7 เดือน เป็นอย่างนั้นหรือไม่ บางคนบอกว่าไม่เห็นเป็นเลย จะถามท่านนายกรัฐมนตรีว่าสมานฉันท์ในความคิดของท่าน เริ่มต้นจากอะไร และปัจจุบันเป็นอย่างไร มีคนบอกว่าสมานฉันท์กับโจรเป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้หรือไม่ว่าท่านคิดผิดตั้งแต่ต้น เดี๋ยวช่วงหน้าท่านจะกลับมาตอบครับ
แนวคิดสมานฉันท์ของนายกรัฐมนตรี
พิธีกร ท่านผู้ชมครับ กลับมาพบกับช่วงที่สอง ช่วงสุดท้ายของรายการ "เปิดบ้านพิษณุโลก" ครั้งที่ 3 โอกาสที่เราจะได้เปิดใจท่านนายกรัฐมนตรี ผมอยากจะเรียนกับท่านผู้ชมว่าเพื่อให้โอกาสนี้เป็นประโยชน์มากที่สุด เราน่าจะไม่รู้แค่ว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทำอะไร แต่เราอยากจะรู้ว่าท่านคิดอะไรต่อกรณีต่างๆ หรือแนวความคิดเริ่มต้นในการบริหารประเทศของท่าน รวมทั้งผมเชื่อว่าผมไม่ควรจะเป็นคนที่มีสิทธิพิเศษในการถามท่านคนเดียว เราจะพยายามและตั้งใจ และทำได้แล้ว คือนำจดหมายจากท่านผู้ชมที่ส่งไปที่ตู้ ปณ. 1111 หรือสื่อต่างๆ ที่รัฐบาลเปิดช่องทางให้ อยากให้ท่านนายกรัฐมนตรีตอบเอง ถ้าทำทุกครั้งได้วันละฉบับ สองฉบับ ก็เป็นโอกาสที่ดีที่ประชาชนมีโอกาสได้ถามนายกรัฐมนตรีด้วยตัวท่านเอง
คำถามที่ผมจะถามต่อไปนี้เป็นเรื่องของแนวความคิดสมานฉันท์ ผมเชื่อว่าไม่มีใครปฏิเสธว่าสมานฉันท์เป็นเรื่องดี เป็นเรื่องที่ชาติของเราต้องการ แต่ผมกำลังสงสัยว่าสมานฉันท์ของผม ของประชาชน กับของท่านนายกรัฐมนตรี ตรงกันหรือไม่ เพราะมีคนบอกว่า ท่านบอกเริ่มต้นดีหมด แต่หนทางที่เดินมา 6-7 เดือน สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ดี แตกเป็น 2 ฝ่ายชัดเจน ไม่นับเฉพาะภาคใต้ แนวความคิดของผู้คนในสังคมแตกเป็น 2 ฝ่ายว่า ฝ่ายนี้ถูก หรือฝ่ายนี้ถูกรังแก หรือฝ่ายนี้ผิด โกงกินบ้านเมืองจนต้องมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าคนทั่วไปบอกว่าท่านสมานจนไม่ต้องหาว่าใครผิด จนทุกวันนี้ไม่มีใครรู้แล้วว่าใครถูก ใครผิด มีคนบอกว่าท่านผิดด้วยซ้ำที่ไปรังแกเขา อย่างนี้ท่านจะบอกว่าอย่างไร อะไรคือสมานฉันท์ ท่านเริ่มต้นอย่างไรครับ
นายกรัฐมนตรี แนวคิดในเรื่องของการแก้ไขปัญหาของชาติเรา เริ่มต้นมานานแล้ว ผมคิดว่าคำว่า "สมานฉันท์" ไม่ได้เป็นคำพูดที่ผมใช้ ผมจะใช้คำว่า "การแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี" แต่ว่าแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยวิธีการสมานฉันท์ เป็นสิ่งที่ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีคือ นายอานันท์ ปันยารชุน ได้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง แล้วได้ศึกษาแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาทางภาคใต้เสนอต่อรัฐบาลของคุณทักษิณ ชินวัตร แต่ว่าไม่ได้มีการดำเนินการ ในความคิดของผมเอง สิ่งที่ได้มีการศึกษา ได้มีการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่างที่ รัฐบาลปัจจุบันได้นำมาใช้ เป็นผลงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ที่คุณอานันท์ฯ เป็นประธาน เราได้รับสิ่งนี้มาสานต่อ ทำให้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ แนวคิดในเรื่องของการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีนั้น ไม่ได้มีอะไรที่ลึกซึ้งหรือว่าแยบยลใดๆ ทั้งสิ้น คงเป็นแนวทางพระราชทานที่ว่า "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างนั้น แต่ว่าทำอย่างไรที่เราจะสร้างความเข้าใจให้ได้ สิ่งนี้เป็นส่วนที่สำคัญ ในบางโอกาสการที่จะทำความเข้าใจนั้น อยู่ที่สภาพบรรยากาศโดย ส่วนรวมด้วย ว่าเหตุการณ์นั้นจะเข้าใจกันได้ง่ายหรือไม่ ถ้ามีเงื่อนไขซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ในอดีต ซึ่งทำให้เขาเกิดความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรม เขาเป็นพลเมืองชั้นสอง เขาถูกกดดัน เราไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่เขา สิ่งเหล่านี้ถ้าเราค่อยๆ แก้ ค่อยๆ สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น ความเข้าใจก็จะเริ่มมา
พิธีกร นั่นคือเหตุผลเริ่มต้น ตอนที่ท่านเริ่มรับตำแหน่ง ท่านไปขอโทษพี่น้องชาวใต้ ด้วยความรู้สึกว่าความจริงแล้วเริ่มจากความอยุติธรรมที่เขาได้รับในอดีตถูกไหมครับ
นายกรัฐมนตรี เป็นส่วนหนึ่ง ถ้าหากว่าเราที่เป็นคนพุทธเข้าใจ คือมีธรรมเนียมที่คล้ายๆ กันระหว่างคนพุทธกับคนมุสลิม คือเวลาที่เราจะออกไปบวช เราจะถือดอกไม้ธูปเทียนไปขอขมา ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ทำอะไรผิดเลย แต่เราก็ไปขอขมา ธรรมเนียมของมุสลิมก็เหมือนกัน เวลาที่เขาออกจากฤดูถือศีลอด ที่เขาอดอาหารในช่วงกลางวันมา 1 เดือน เมื่อสิ้นสุดนั้น ธรรมเนียมของเขาคือจะขอโทษกัน แล้วก็จะเป็นช่วงเวลาให้อภัยซึ่งกันและกัน เป็นธรรมเนียม หมายถึงว่าผมเข้าใจว่าธรรมเนียมของเขาเป็นอย่างไร เมื่อไปถึงแล้วเราควรจะปฏิบัติตามแนวทางของเขาอย่างไร ไม่ได้หมายถึงว่า เราจะแสดงสิ่งอื่นใด เราแสดงความเข้าใจว่าธรรมเนียมของเขา วิธีการที่จะเข้าถึง จะต้องเริ่มต้นจากการขออภัย และเขาก็ให้อภัย นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะจบสิ้นแค่นั้น เป็นการแสดงออกให้เห็นว่าผมรู้ว่าวิธีการ แนวทางของคนมุสลิมเป็นอย่างไร เรามาร่วมมือกันไหมที่จะแก้ไขปัญหา
พิธีกร แนวทางสมานฉันท์ที่ท่านพูด เริ่มต้นจากคณะกรรมการของคุณอานันท์ฯ ชุดนั้น และเป็นนโยบายที่ท่านใช้กับปัญหาภาคใต้ คือใช้สันติวิธี ไม่สนับสนุนความรุนแรงใดๆ ทั้งปวง แต่กรณี 4 ข้อที่ คมช. ทำการรัฐประหาร หนึ่งในนั้นคือประเทศแตกแยก แนวทางสมานฉันท์ไม่ได้ถูกใช้ในระบบของทั้งประเทศแบบนี้ใช่ไหมครับ
นายกรัฐมนตรี ในส่วนของทั่วไปในประเทศ ผมคิดว่าเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความแตกแยก หรือว่าเหตุที่ทำให้เกิดความแตกแยก ค่อนข้างชัดเจน ถ้าเราพูดกันถึงตัวบุคคล ก็คงลงไปได้ชัดเจนว่า ถ้าหากว่าไม่มีตัวบุคคลคนนี้เหตุก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นเรื่องของการซุกหุ้นอะไรต่างๆ มันก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างนี้ แต่ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุคือตัวบุคคล และทำให้มีปัญหาทั่วไป เพราะว่าเป็นการปฏิบัติของบุคคลคนนั้น ซึ่งบังเอิญเข้ามามีอำนาจในการบริหารเสียด้วย จึงทำให้ปัญหานั้นขยายตัว ถ้าเรามาพิจารณาเหตุ มันต่างกันเยอะ
พิธีกร กรณีภาคใต้กับกรณีการแตกแยกของคนไทย คนละกรณี
นายกรัฐมนตรี เหตุต่างกันเยอะ อันนี้จับง่าย เหตุอยู่ที่ตัวบุคคล ทางนั้นเป็นเรื่องของวัฒนธรรม เป็นเรื่องของเชื้อชาติ เป็นเรื่องของความรู้สึกลึกๆ ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของประวัติศาสตร์ ค่อนข้างจะลึกลงไปในความคิดของคนส่วนใหญ่มากกว่าเหตุเกิดในสังคมของไทย
พิธีกร แปลว่าถ้าใครเข้าใจว่า รัฐบาลชุดนี้ โดยท่านใช้วิธีการสมานฉันท์กับทั้งภาคใต้ กับกรณีรัฐบาลที่แล้ว การเอาผิดเรื่องต่างๆ ไม่จริง ไม่ถูกต้องแล้ว เป็นการเข้าใจผิด
นายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าแนวทางในการแก้ไขปัญหา อาจจะมองในภาพกว้างในเชิงนโยบาย คือการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี จะบอกว่าถูกหรือผิด ผมคิดว่าเราคงไม่สามารถจะชี้ได้ เว้นเสียแต่ว่าเมื่อเราเดินไปถึงแล้ว เราจะเห็นว่าแนวทางนี้อาจจะใช้เวลา อาจจะใช้ความอดทน แต่ว่าการสูญเสียน้อยกว่า เป็นแนวทางที่มีการสูญเสียน้อยกว่า นั่นจะเป็นแนวทางที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด
พิธีกร ในผู้คนที่รู้สึกว่า ท่านบอกมี 2 เรื่อง คนละเหตุกันเลย เหตุทางภาคใต้นี่เหตุเยอะมาก หลายๆ เรื่องรวมอยู่ในนั้น เหตุทางทั้งประเทศที่แบ่งแยกเป็น 2 กลุ่ม 2 กลุ่มที่มีความเชื่อว่าผมศรัทธาในรัฐบาลชุดที่แล้ว กับผมศรัทธาในรัฐบาลชุดนี้ แยกเป็น 2 กลุ่มค่อยๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
นายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าความศรัทธาในรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของความแตกแยกในแผ่นดินไทย ความศรัทธาในรัฐบาลชุดนี้อาจจะไม่ได้มีมากมายอะไร อย่างที่ปรากฏอยู่ทั่วไป ผมยอมรับในการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ แต่สิ่งที่ผมอยากจะเสนอให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้เข้าใจคือ การแก้ไขปัญหาทางการเมืองหรือการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี เป็นแนวทางเดียวกัน การเมืองคือการทำให้ผลประโยชน์ลงตัว ไม่ว่ามาก ไม่ว่าน้อย แต่ว่าลงตัว เช่นเดียวกัน การแก้ไขปัญหาทางสันติวิธีคือการที่จะทำให้ความขัดแย้งลงตัว ไม่เกิดความขัดแย้งกันต่อไป เช่นเดียวกัน ถ้ามองในแง่ผลประโยชน์กับมองในแง่ของความขัดแย้ง
พิธีกร ถ้าคนบอกว่าฟังท่านพูด เห็นด้วยทั้งหมด ทำให้ลงตัว ความขัดแย้งหมดไป แต่ 6 เดือนผ่านมา เขาบอกว่าไม่เห็นลงตัว กับความขัดแย้งเพิ่มขึ้น กลุ่มที่ต่อต้าน สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่เห็นด้วย มากขึ้น เพิ่มวิธีการเคลื่อนไหว ผมสงสัยว่าคนที่อยู่ตรงกลาง คนที่ยังเลือกไม่ถูกว่าประเทศเราเปลี่ยนไปเป็นอย่างนี้ดีแล้ว หรือที่เปลี่ยนมาอย่างนี้ ผิดหมดเลย กลุ่มที่แล้วเขาทำถูกแล้ว คนตรงกลางจะฟังอย่างไร หาไม่เจอว่าอะไรถูก อะไรผิด
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ