คำแถลงข่าว ผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี

ข่าวทั่วไป Thursday October 2, 2014 16:40 —สำนักโฆษก

วันนี้ (๒ ตุลาคม ๒๕๕๗) เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายมิโนะรุ คิอุชิ ผู้แทนพิเศษของนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมนำหนังสือจากนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เชิญนายกรัฐมนตรีเยือนญี่ปุ่นมามอบให้ สรุปการสนทนาดังนี้

๑. นายกรัฐมตรีญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความสัมพันธ์ไทย - ญี่ปุ่น ที่เป็นมิตรประเทศกันมายาวนานกว่า ๑๒๐ ปี ญี่ปุ่นหวังว่า นายกรัฐมนตรีจะสามารถเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นได้ในอนาคตอันใกล้ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นก็จะรอให้การต้อนรับอย่างเต็มที่

๒. นายกรัฐมนตรีขอบคุณฝ่ายญี่ปุ่นที่แสดงความเข้าใจสถานการณ์ในไทยและชื่นชมที่ไทยมีความชัดเจนในเรื่องการเดินหน้ากลับคืนสู่ประชาธิปไตยตามโร้ดแมบของรัฐบาล ซึ่งผู้แทนพิเศษญี่ปุ่นย้ำว่า ตนเข้าใจดีถึงความจำเป็นที่ไทยจะต้องรักษาเสถียรภาพภายในประเทศก่อน และสนับสนุนให้ไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาตามขั้นตอนเพื่อนำประเทศสู่ประชาธิปไตยตามเป้าหมาย ในการนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นได้ขอให้รัฐบาลไทยดูแลการลงทุนและธุรกิจของญี่ปุ่นในไทย นอกจากนั้น ยังได้แสดงความสนใจที่จะร่วมมือกับรัฐบาลไทยในโครงการพัฒนารถไฟ ดาวเทียม และการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งมีแนวทางและเงื่อนไขการลงทุนที่ตรงกับความต้องการของรัฐบาลไทยด้วย

๓. นายกรัฐมนตรีย้ำจะสนับสนุนการลงทุนของญี่ปุ่นอย่างดีที่สุดและขอให้นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม การใช้วัตถุดิบภายในประเทศ โอกาสการพัฒนาคน และความเท่าเทียมของสองประเทศ ขอให้ญี่ปุ่นใช้ประโยชน์จากที่ไทยเป็นศูนย์กลางการเจริญเติบโตของภูมิภาค โดยเฉพาะการเชื่อมโยง การพัฒนาบุคลากรและอาชีวศึกษา รวมทั้งโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจและท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งผู้แทนพิเศษญี่ปุ่นได้ย้ำว่า รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการผลักดันและร่วมมือในลักษณะไตรภาคีกับไทยและเมียนมาร์ต่อไป เพราะญี่ปุ่นเห็นว่า โครงการทวายจะเป็นประโยชน์ต่ออนุภูมิภาค

๔. นายกรัฐมนตรียังได้ย้ำว่า ไทยจะร่วมมือทางเศรษฐกิจกับญี่ปุ่นในทุก ๆ มิติ โดยขอให้

ทั้งสองฝ่ายหารือกันต่อไปเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ด้วย รวมทั้งในเรื่องของการสนับสนุนไทยด้านการวิจัยและพัฒนา

๕. นอกจากนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นยังร้องขอให้ไทยพิจารณายกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าอาหารที่มา

จากพื้นที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารกำมันตรังสีจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่จังหวัดฟุกุชิมาและพื้นที่ใกล้เคียงเมื่อปี ๒๕๕๔ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็รับจะพิจารณาอย่างรอบคอบ

กองเอเชียตะวันออก ๔

กรมเอเชียตะวันออก

๒ ตุลาคม ๒๕๕๗

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ