รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ฯ สร้างความร่วมมือกับญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday October 14, 2014 17:56 —สำนักโฆษก

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะ ได้เดินทางไปร่วมการประชุม the 11th Annual Meeting of Science and Technology in Society หรือ STS Forum และการประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างวันที่ 2-7 ตุลาคม 2557 ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

ในโอกาสดังกล่าว ในวันที่ 3 ตุลาคม 2557 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และคณะ ได้เดินทางไปหารือกับ ผู้บริหารของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมอุบัติใหม่ หรือ มิไรกัน (Miraikan National Museum of Emerging Science and Innovation) ณ กรุงโตเกียว เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการความก้าวหน้านวัตกรรมด้านการสำรวจทางมหาสมุทร เทคโนโลยีอวกาศ พันธุวิศวกรรม หุ่นยนต์ ข้อมูลเกี่ยวกับโลก ในการนี้ได้เชิญให้พิพิธภัณฑ์มิไรกันนำผลงานมาจัดแสดงนิทรรศการในประเทศไทยและแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ฯ ด้านต่างๆ

หลังจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และคณะ ได้เดินทางไปยัง สถาบันวิจัยฮอนด้า (Honda Research Institute) ณ เมืองไซตามะ เพื่อเยี่ยมชมการสาธิตความก้าวหน้าในการพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ ซึ่งเน้นการวิจัยด้าน Intelligence Science และ Nano Science ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับการพัฒนายานยนต์อนาคตของฮอนด้า เช่น voice interface, robot audition, human-machine interface, enzyme เป็นต้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้หารือกับผู้บริหารสถาบันวิจัยฮอนด้า ในการสร้างความร่วมมือพัฒนาบุคลากรวิจัย การร่วมวิจัย และการสนับสนุนให้นักวิจัยจากหน่วยงานภาครัฐของไทยไปทำวิจัยร่วมกับฮอนด้า

          ในวันที่ 4 ตุลาคม 2557 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เดินทางไปยังสถานเอกอัครราชทูต  ณ กรุงโตเกียว เพื่อพบปะกับนักเรียนทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่กำลังศึกษาอยู่ใกล้เคียงกรุงโตเกียว  นายธนาธิป อุปัติศฤงค์ เอกอัครราชทูต และ นางสาวพรพิศ สมวงษ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการศึกษา)   ให้การต้อนรับและร่วมการประชุม    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้กล่าวถึง สถานภาพการพัฒนาและนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ให้นักศึกษาทราบ และเน้นว่า นักเรียนทุนด้านวิทยาศาสตร์ฯเป็นทรัพยากรที่มีค่าและเป็นความหวังในการพัฒนาของประเทศ ขอให้แสวงหาประสบการณ์ในการทำการวิจัยและทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่นที่มีความร่วมมือกับประเทศไทย แสวงหาโอกาสในการกลับไปฝึกงานกับหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อให้เข้าใจว่าจะทำงานวิจัยค้นคว้าสนับสนุนได้อย่างไร  รวมถึงในระยะยาวควรรวมตัวเป็นเครือข่ายในกลุ่มนักเรียนทุนในสาขาเดียวกันเพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยในโครงการขนาดใหญ่ นักเรียนทุนฯที่มาประชุม ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และให้พันธสัญญาในการนำความรู้ความสามารถกลับไปพัฒนาประเทศ จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯได้เดินทางไปยังกรุงเกียวโตเพื่อร่วมการประชุม STS forum การประชุม STS Forum เป็นการประชุมสำคัญที่เป็นศูนย์รวมของนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และผู้กำหนดนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากทั่วโลก ในวันที่ 5 ตุลาคม 2557    ก่อนการเปิดการประชุม  ดร.พิเชฐ  ดุรงคเวโรจน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้รับเชิญเข้าร่วมรับประทานอาหารเช้ากับ นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่นร่วมกับรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์จากประเทศอื่นๆ โดยระหว่างการรับประทานอาหารเช้า ดร.พิเชฐ  ดุรงคเวโรจน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้การสนับสนุนประเทศไทย และแจ้งว่ารัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทย

ต่อมาในช่วงพิธีเปิดการประชุม STS Forum ในโอกาสดังกล่าว ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้รับเชิญขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ ร่วมกับ นายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ รัฐมนตรีและผู้นำองค์กรด้านวิทยาศาสตร์จากประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และประเทศญี่ปุ่น โดยสาระสำคัญของสุนทรพจน์ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯกล่าวเน้นต่อที่ประชุมคือ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับข้อท้าทายระดับโลกและท้องถิ่น ดังเช่นประเทศอื่นๆ และต้องสร้างพันธมิตรในการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหากับประเทศอื่นๆ และความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยสามารถนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ อาทิ การทำวิจัยและพัฒนายาเพื่อต่อต้านโรคมาเลเรียและโรคไข้เลือดออก การพัฒนาทางเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวทนน้ำท่วม การพัฒนาระบบโทรมาตรเพื่อการบริหารจัดการน้ำและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความแห้งแล้ง สิ่งที่ประเทศไทยเรียนรู้คือ ตรรกะ กระบวนการคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์มีความสำคัญกับระบบการบริหารที่มีประสิทธิภาพและความโปร่งใส และการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ควรจำกัดขอบเขตอยู่แค่บทบาทของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกร ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯจึงเน้นการสร้างความร่วมมือโดยการทำงานข้ามกระทรวง การสร้างพันธมิตรระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน การกระจายการพัฒนาไปยังประชาชนอยู่ห่างไกล ภายใต้การบริหารของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและยุทธศาสตร์การปฏิรูปวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างโปร่งใส เพื่อยกระดับรายได้ของประเทศ เพิ่มการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเป็นร้อยละ 1 ของ GDP เพื่อส่งเสริมการวิจัยในภาคเอกชนและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์ เช่น การศึกษาวิทยาศาสตร์ การเรียนรู้ที่จะบูรณาการการทำงานในระดับอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัย การส่งเสริมนักวิจัยภาครัฐไปทำวิจัยในภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น การพัฒนาระบบราง การบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาพลังงานสะอาด เป็นต้น และการอำนวยความสะดวกและสร้างสิ่งจูงใจเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ทันสมัย ที่สนับสนุนการสร้างโรงงานต้นแบบ ศูนย์ความเป็นเลิศ ห้องปฏิบัติการทดสอบ และอุทยานวิทยาศาสตร์หรืออุทยานอุตสาหกรรมและวิจัย

ในช่วงการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง สถาบัน Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ประเทศญี่ปุ่น กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยที่ผ่านมา AIST กับหน่วยงานกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ประเทศไทยมีความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานทดแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีการพบปะกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษา วัฒนธรรม การกีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Ministry of Education, Culture, Sports, Science and Technology: MEXT) เพื่อหารือแนวทางการสร้างความร่วมมือด้าน เทคโนโลยีวัสดุ อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ รวมถึง การสนับสนุนการผลิตของผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทยด้วยการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านอุทยานนวัตกรรมของไทย และได้มีการพบปะกับประธานของ Japan Science and Technology Agency (JST) ซึ่งมีความร่วมมือกับ สวทช. โดยสาระสำคัญในการหารือได้แก่ แนวทางร่วมกันพัฒนา ด้านโครงข่ายข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) การให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการวิจัยและพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมผู้มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์ การสร้างความร่วมมือผ่านกลไกการทูตทางวิทยาศาสตร์ (Science Diplomacy) และการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นใช้ประโยชน์จากอุทยานนวัตกรรมของไทย ในเวลาต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในหัวข้อ Promoting Openness and Transparency in Science, Technology and Innovation Policy ร่วมกับรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์จากประเทศต่างๆ ด้วย

ในวันที่ 6 ตุลาคม 2557 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯและคณะ รวมทั้งผู้แทนสถานกงสุลไทยเมืองโอซากา และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้เดินทางไปยังบริษัทนิเด็ค คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น (Nidec Corporation Japan) เพื่อหารือกับผู้บริหารของบริษัท บริษัทนิเด็คฯ เป็นบริษัทผู้ผลิตมอเตอร์อันดับหนึ่งของโลก ที่มีสาขาการผลิตในประเทศไทย และผลิตภัณฑ์ของบริษัท มีความสำคัญต่อการพัฒนาสินค้าใหม่ๆของโลก อาทิ รถยนต์ หุ่นยนต์ เป็นต้น ผู้บริหารของบริษัทนิเด็คได้หารือถึงแนวทางในการสร้างศูนย์วิจัยของนิเด็ค ในประเทศไทย โดยเน้นว่าปัจจัยที่บริษัทพิจารณาความพร้อมในการสร้างศูนย์วิจัย ได้แก่ การมีอุทยานวิทยาศาสตร์ การสนับสนุนจากรัฐบาล มาตรการสนับสนุนต่างๆ เช่น มาตรการทางภาษีแก่การลงทุนอุตสาหกรรมที่มีการวิจัยและพัฒนา เงินให้เปล่า สำหรับประเทศไทยมีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว และมีการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์บางส่วนอยู่แล้ว บริษัทมีความสนใจในประเทศไทยเนื่องจากเป็นแหล่งการผลิตขนาดใหญ่และต้องการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต (Production Technology) ในประเทศไทย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีหน่วยงานที่มีความพร้อมในการทำงานร่วมกับบริษัทนิเด็ค เช่น สวทช. วว. สถาบันมาตรวิทยา สถาบันซินโครตรอน ฯลฯ รวมถึง มีโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุน เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ รวมถึงสามารถช่วยประสานในการแสวงหานักวิจัยและผลงานวิจัยจากทั้งในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และมหาวิทยาลัยเข้าไปสนับสนุนและทำงานร่วมกับศูนย์วิจัยของนิเด็ค ด้วย

การเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นอกเหนือจากเป็นการขยายความร่วมมือทางด้านนโยบายทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม กับรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ และผู้นำองค์กรจากทั่วโลกแล้ว ยังเป็นโอกาสขยายความร่วมมือกับผู้นำและองค์กรรัฐบาลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่น รวมถึงเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่มีการลงทุนในประเทศไทยให้ขยายฐานการผลิตที่เน้นการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ใช้นวัตกรรมระดับสูง เพิ่มขึ้นด้วย

ข้อมูล : สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศฯ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ