ผช.รมว.วท. เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมวิชาการ GEOINFOTECH 2014 และเปิดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยฯ

ข่าวทั่วไป Wednesday November 12, 2014 17:27 —สำนักโฆษก

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 เวลา 09.30 น. นางสาวเสาวณี มุสิแดง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมวิชาการ GEOINFOTECH 2014 และเปิดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ พร้อมด้วย ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) กล่าวรายงานการประชุม รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) ประธานกรรมการ ในคณะนวัตกรรมแห่งชาติ แสดงปาฐกถา ในห้อข้อ “การใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการภาครัฐ”คณะผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงาน ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ และลานอเนกประสงค์ อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

นางสาวเสาวณี กล่าวว่า ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มีภารกิจ บทบาทหน้าที่สำคัญและโดดเด่น ในการให้บริการข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงต่างๆ เป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมพัฒนาและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ แก่หน่วยงานและองค์กรต่างๆไปประยุกต์ใช้ในสาขาต่างๆ และนำไปต่อยอด ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ ได้เร่งรัดพัฒนากำลังคนในการใช้เทคโนโลยี เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ สร้างความตระหนักให้รู้ ให้เข้าใจและรู้ประโยชน์เทคโนโลยีแก่บุคลากรทุกระดับ

นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการสนับสนุนข้อมูล ต่อการพัฒนาประเทศให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ ไปใช้กับการพัฒนาป้องกันและแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะการนำไปใช้ประโยชน์กับชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและยั่งยืน

ปัจจุบัน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้รับบริการข้อมูลดาวเทียมจากสำรวจทรัพยากรดวงต่างๆของประเทศอื่นๆ เป็นผู้ให้บริการข้อมูลดาวเทียมจากการสำรวจทรัพยากรแก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ จะต้องก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ในการพัฒนาขีดความสามารถให้มีความพร้อมในการบริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ตลอดจนการบริการแบบ Total Solutions กล่าวคือ การวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียม พร้อมทั้งให้คำปรึกษา นอกจากนี้ยังมีการแสวงหาพันธมิตรทั้งในและนอกประเทศ เพื่อขยายศักยภาพการดำเนินงานของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ให้มีความหลากหลายและแข็งแกร่งและมีเป้าหมายสูงสุดในการพัฒนาตนเองให้เป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคอาเซียน ในด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศตลอดจน ขยายเครือข่ายด้านต่างๆ ไปสู่ภูมิภาคอาเซียน การประชุมครั้งนี้ จะเป็นเวทีสร้างสรรค์ผลงาน นวัตกรรมใหม่ๆและเปิดกว้างในการนำเสนอผลงานวิจัยและการนำผลงานวิจัยไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวคิดระหว่างบุคคล ส่งผลให้ความสามารถที่มีอยู่ให้เพิ่มพูนมากขึ้นในเชิงลึกและยังเพิ่มมุมมองในเชิงกว้างอีกด้วย ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ส่งผลที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมของโลกในด้านต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะ ภัยพิบัติด้านต่างๆที่หลายประเทศกำลังประสบปัญหาอยู่ ณ ขณะนี้ ในส่วนของประเทศไทยแนวทางและมาตรการต่างๆได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว เช่น การรณรงค์และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนทุกระดับ การสร้างความตระหนักและปลูกฝังจิตสำนึกและแรงจูงใจ ในการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ที่เริ่มต้นตั้งแต่ระดับนักเรียน นักศึกษาและเยาวชน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมไทยโชตและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ มาใช้เพื่อวางแผนและสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างถูกต้องรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจถึงปรากฏการณ์ต่างๆได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น ประกอบกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาส่งเสริม สนับสนุนและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตเพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้ของประชาชน ซึ่งก็สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดงานวันนี้

นางสาวเสาวณี ได้แสดงความชื่นชม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กรมแผนที่ทหาร และสมาคมวิชาชีพทั้ง 6 สมาคม ที่ได้ให้ความสำคัญและเล็งเห็นประโยชน์และคุณค่าในการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มาใช้ในการพัฒนาประเทศ รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาให้ไปสู่ระดับเยาวชน ประชาชนทั่วไป และยืนยันที่จะให้การสนับสนุนงานด้านนี้อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง เพื่อนำพาประเทศไทยของเราให้ก้าวหน้าและมีบทบาทในเวทีโลกต่อไป

ดร.อานนท์ กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ร่วมกับ กรมแผนที่ทหาร, สมาคมสำรวจข้อมูลระยะไกลและสารสนเทศถูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย, สมาคมแผนที่แห่งประเทศไทย, สมาคมธรณีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย,สมาคมการสำรวจและแผนที่, สมาคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย และสมาคมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะไทย จัดงานประชุมการประชุมวิชาการ เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ประจำปี 2557 GEOINFOTECH 2014 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 14 พฤศจิกายน 2557 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ และลานอเนกประสงค์ อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ โดยจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้เผยแพร่ การนำเสนอผลงานวิจัยของนักวิชาการ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา นักเรียน การแสดงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ การแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งสะสมประสบการณ์ อันจะนำไปสู่การเพิ่มคุณภาพชีวิตสร้างรายได้และสร้างงานแก่ประชาชนทุกระดับ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน สำหรับปีนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ได้เพิ่มความเข้มข้นของการจัดงานแบบบูรณาการตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงคุณภาพชีวิตระดับประชาชน เช่น ด้านวิชาการ โดยได้รับเกียรติจากจากท่าน รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ร่วมแสดงปาฐกถา อีกทั้ง เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ ที่ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับงานด้านนี้ คือ Google : GIS Portal และ GIS Application ตลอดจนหัวข้อประเด็นเกี่ยวกับทิศทาง การเชื่อมโยง การขับเคลื่อน ตระหนักถึงความสำคัญ ประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ชาติ ในการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เข้ามาช่วยมนการวางแผน บริหารจัดการด้านต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและอาเซียน อาทิ เช่น ด้านสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมถึงภัยพิบัติ เป็นต้น

ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เป็นผู้สนับสนุนและให้คำปรึกษาแนะนำ พร้อมทั้งจะสนับสนุนส่งเสริมเยาวชนที่ฉายแวว ให้พัฒนาไปสู่สายอาชีพ เนื่องจาก GISTDA มีความพร้อมทุกด้านแบบครบวงจร ในการรองรับ สนับสนุน ผลิตการสร้างบุคลากรพร้อมใช้ด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของประเทศ ที่ยังขาดแคลน ตลอดจน ยกระดับ การเรียนการสอน ในรูปแบบ STEM ต่อไป พิเศษสุดนอกจากผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการฯ จะได้รับทราบข้อมูลความก้าวหน้าทางวิชาการแล้ว ยังได้จัดแสดงและขายสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว หลากหลายชนิด จำนวนกว่า 100 ร้านค้าในราคาถูก เพื่อคืนความสุขให้กับประชาชน อีกด้วย

เขียนข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ

ถ่ายภาพและวีดิโอ : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์, นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์

เผยแพร่ข่าว : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.วท. โทร. 02-3633-3831

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ