นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดการศึกษาหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 57

ข่าวทั่วไป Thursday November 20, 2014 16:57 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรี หวังการบรรยายในหัวข้อ “บทบาทของภาครัฐ เอกชน และการเมืองในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ” จะเป็นประโยชน์กับนักศึกษา วปอ. สำหรับเป็นแนวทางการศึกษาครั้งนี้ ทั้งเรื่องการเขียนยุทธศาสตร์ชาติ การศึกษาวิจัย และความมั่นคง

วันนี้ (19พ.ย.57) เวลา 09.30 น. ณ ห้องบรรยายรวม วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการศึกษาหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 57 ประจำปี 2557 – 2558 และบรรยายในหัวข้อ “บทบาทของภาครัฐ เอกชน และการเมืองในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ” จัดโดย วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงของประเทศ มีหน้าที่จัดการศึกษาหลักสูตรเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ และการป้องกันราชอาณาจักรให้แก่ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน พนักงาน องค์การของรัฐ รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งเอกชน ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการวางแผน การจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติ ให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ตลอดจนให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างนักศึกษาจากส่วนราชการและองค์กรต่าง ๆ ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ในการประสานงานระหว่างกัน โดยฝึกปฏิบัติการวางแผนและนโยบายระดับชาติและการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ โดยมี นักศึกษาฯ จากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งข้าราชการ พนักงาน รัฐวิสาหกิจ นักธุรกิจภาคเอกชน และนักการเมืองที่มีบทบาทสำคัญต่อประเทศ จำนวน 288 คน และมีนักศึกษาจากมิตรประเทศ จำนวน 4 คน ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย และเวียดนาม เข้าร่วมพิธี

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดการศึกษาหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 57 ประจำปี 2557 – 2558 และบรรยายในหัวข้อ “บทบาทของภาครัฐ เอกชน และการเมืองในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ” ว่า วันนี้มาพบกันในฐานะที่ทุกคนจะมาร่วมเข้ารับการศึกษาหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 57 ประจำปี 2557 – 2558 ซึ่งถือว่ามีความสำคัญ โดยมีมิตรประเทศจาก 4 ประเทศ (ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย และเวียดนาม) เข้ามาร่วมรับการศึกษาครั้งนี้ด้วย ซึ่งจากที่ได้มีโอกาสพบปะกับผู้นำประเทศทั้ง 4 ประเทศดังกล่าวก็มีความใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน รวมทั้งมีความเข้าใจถึงสถานการณ์ของประเทศไทยเป็นอย่างดี และพร้อมที่จะร่วมกันในการพัฒนาประเทศของประชาคมอาเซียนต่อไปในอนาคต

สำหรับการพบปะพูดคุยกับนักศึกษาฯ ในวันนี้ เพื่อที่จะใช้โอกาสในการสร้างความเข้าใจกับทุกคนว่าประเทศไทยและอาเซียนจะเดินหน้าไปอย่างไร โดยมีประเด็นเรื่องความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ตลอดจนความมั่นคงในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้นักศึกษาฯ ทุกคนซึ่งมาจากหลายภาคส่วนถือว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ในการที่จะมาร่วมมือกันสังเคราะห์เพื่อนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรม มีผลสัมฤทธิ์ และประสิทธิผลให้ได้

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเรื่องความมั่นคงว่า เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หรือฝ่ายความมั่นคงเท่านั้น โดยเฉพาะการเฝ้าระวัง หรือแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสื่อมวลชนด้วยที่จะต้องช่วยกันในเรื่องนี้ ในการที่จะสร้างสังคมให้มีความปรองดองและสามัคคีกัน ขณะเดียวกันเรื่องความมั่นคงจะต้องมองให้ครบและครอบคลุมหลายมิติ ในการที่จะสร้างศักยภาพของแต่ละหน่วยงาน ประเทศ สังคม และประชาคม ให้เข้มแข็ง ซึ่งเรื่องความมั่นคงประกอบด้วยหลายเรื่อง ทั้งความมั่นคงทางการทหาร ด้านเศรษฐกิจ พลังงาน สังคม กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเรื่องของความมั่นคงมีองค์ประกอบและเชื่อมโยงกัน โดยความมั่นคงของการทหาร คือ การสร้างพลังหน้าที่ที่มีตัวตนและไม่มีตัวตน ซึ่งในส่วนที่มีตัวตนคือ มีกำลังทหาร ยุทโธปกรณ์ มีการฝึกการทหารที่แข็งแรง ขณะที่ความมั่นคงไม่มีตัวตนทางทหารก็คือ ขวัญกำลังใจในการสู้รบ ดังนั้นจะต้องไม่บ่อนทำลายขวัญกำลังใจในการสู้รบของทหาร เพราะการรบมีหลายแบบทั้งวิธีรับและรุก ต้น การดำเนินการในพื้นที่ภาคพิเศษ การปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ ฯลฯ ซึ่งหากทุกคนไม่เข้าใจบริบทเหล่านี้ก็จะทำให้เกิดการวิเคราะห์วิจารณ์ต่าง ๆ ในทางที่ไม่ถูกต้องได้ เพราะฉะนั้นขอให้แยกแยะและรู้ว่าทางทหารมียุทธวิธีและหลักการที่จะต้องปฏิบัติ โดยมีการปฏิบัติเป็นไปตามหลักสากลและระหว่างประเทศด้วย อย่างไรก็ตามการใช้ยุทธวิธีต่าง ๆ ดังกล่าว โดยเฉพาะการใช้กำลัง ต้องมีความระมัดระวัง และจำเป็นต้องดูแลปัญหาภายในประเทศให้เป็นกิจการภายในของแต่ละประเทศ และเป็นไปตามหลักการของอาเซียน ดังนั้นต้องมีการเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพกำลังของกองทัพทุกประเทศให้เข้มแข็ง รวมทั้งการสร้างขวัญกำลังใจ เพื่อไม่ให้มีความขัดแย้งเพราะเป็นอำนาจการรบที่ไม่มีตัวตนซึ่งทุกคนเกรงใจว่าประเทศนี้มีความเข้มแข็งและแข็งแรง ทำให้มีอำนาจในการลงทุนเท่าเทียมกันในอาเซียน และสามารถที่จะเพิ่มศักยภาพในการเจรจาต่อรองกันด้วยดี และไม่มีการรบหรือรุกรานกัน ส่วนในด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีหน้าที่ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในประเทศ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมด้วย ทั้ง กอ.รมน. พลเรือน ข้าราชการ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงานว่า ทำอย่างไรจะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงได้ด้วยตนเอง ทั้งในเรื่องด้านการผลิต การใช้ และการแจกจ่าย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยซื้อพลังงานจากภายนอกประเทศเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซ เพื่อนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศ ขณะที่แหล่งพลังงานภายในประเทศก็มีอยู่อย่างจำกัด แต่อย่างไรก็ตามการให้สัมปทานในเรื่องนี้จะมีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องดูแลอย่างใกล้ชิดโดยคำนึงและยึดผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับเป็นที่ตั้ง พร้อมขอให้มีการสนับสนุนส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนให้มากขึ้น เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม ฯลฯ แทนการใช้พลังงานจากน้ำมัน ก๊าซ ให้น้อยลง เป็นต้น

อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องความมั่นคงทางด้านการศึกษา ว่า เป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญ การที่นักศึกษาฯ ทุกคนมาอยู่ตรงนี้จะต้องระดมความคิดกันให้ได้ เพื่อนำความรู้ และประสบการณ์ ที่แต่ละบุคคลมีนำมาสังเคราะห์ เพื่อที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้

ส่วนความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้การที่หลายประเทศทั่วโลกมีความขัดแย้งกัน มีต้นเหตุเกิดจากความยากจน ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น จึงทำให้เกิดผู้นำในการที่จะเปลี่ยนแปลงในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลทุกประเทศที่จะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้น ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจะต้องดำเนินการทั้ง 2 ทาง คือ เรื่องทางการทหารควบคู่กับความมั่นคง การลดความเหลื่อมล้ำและการแก้ไขปัญหาความยากจน ขณะที่การแก้ไขปัญหา “พื้นที่อ้างสิทธิ์” จะมีคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนจากทุกประเทศที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิจารณาและเจรจากันในเรื่องนี้

นอกจากนี้ ปัจจุบันความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ ประชาคมทั่วโลกได้มีการรวมตัวกัน เพื่อให้เป็นเศรษฐกิจเดียวกันและมีความแข็งแรง ตลอดจนมีการใช้จ่ายเงินสกุลเดียวกัน ซึ่งในอนาคตประชาคมอาเซียนก็กำลังผลักดันในเรื่องนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตามการที่จะมีการเปิดประเทศไทยในประชาคมอาเซียนก็ขอให้คำนึงถึงความพร้อมเรื่องเหล่านี้ด้วย รวมทั้งเรื่องของความเสี่ยงหรือวิกฤตและโอกาสว่าประเทศมีมากน้อยเพียงใด ทั้งในเรื่องของอาชีพ รายได้ ทั้งนี้หากไม่มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวก็จะทำให้เกิดวิกฤตและปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด แรงงานต่างด้าว การก่อการร้าย ฯลฯ ซึ่งต้องระวังในเรื่องนี้เช่นกัน โดยเฉาะการอนุมัติการใช้วีซ่าต่าง ๆ เป็นต้น

รวมทั้งจะต้องมีการดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย ในการที่จะทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรสูงขึ้น ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่จะส่งผลกระทบต่อการผลิตพืชผลทางการเกษตร ซึ่งเรื่องนี้ขอฝากให้นักศึกษาฯ ได้ช่วยกันศึกษาและคิดวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วย เพราะหากไม่ช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้จะทำให้ผู้มีอาชีพเกษตรกรออกจากอาชีพดังกล่าวนี้ไปหมดในที่สุด ดังนั้นต้องมีการสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เข้มแข็งและให้ประชาคมโลกรู้ว่าต้องดูแลเรา รวมถึงในเรื่องของการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมทั้งระบบ ทั้งทางน้ำ บก และอากาศ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยก็จะมีการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมภายในประเทศให้ได้ก่อน โดยเริ่มจากเส้นทางที่มีความจำเป็น หรือเส้นทางที่ยังไม่สมบูรณ์เป็นลำดับแรก เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงอย่างครบวงจรในประเทศ และเชื่อมโยงไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนประเทศอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ตามการใช้เงินในการดำเนินการเรื่องเส้นทางคมนาคมต่าง ๆ จะดำเนินการโดยไม่ให้เกิดหนี้สาธารณะ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่ประเทศไทยมีปัญหาอยู่ในปัจจุบันก็คือการไม่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน การใช้จ่ายงบประมาณ การบริหารราชการแผ่นดิน และการเข้าสู่ประชาธิปไตย ซึ่งเรื่องนี้ต้องปฏิรูปกันต่อไปตามที่ได้กำหนดและวางแผนไว้ โดยวันนี้ทุกอย่างกำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรียืนยันการที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินก็เพื่อมาปรับเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นและมีความยั่งยืนสู่อนาคต รวมทั้งให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ถึงแม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างหรือมีความขัดแย้ง เพื่อวางพื้นฐานของประเทศสู่อนาคตให้ได้

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวฝากนักศึกษาฯ ในเรื่องของการนำค่านิยม 12 ประการ ไปปฏิบัติ และขอให้ทุกคนสามัคคีและช่วยกันทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าสามารถเดินไปข้างหน้าได้ ซึ่งหวังว่าการบรรยายในหัวข้อ “บทบาทของภาครัฐ เอกชน และการเมืองในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ” จะเป็นประโยชน์กับนักศึกษาฯ ทุกคน สำหรับเป็นแนวทางการศึกษาครั้งนี้ ทั้งเรื่องการเขียนยุทธศาสตร์ชาติ การศึกษาวิจัย ความมั่นคง ฯลฯ อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวขอให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนทันกับปัญหาและสถานการณ์ คิดให้กว้างและมองไปข้างหน้า เป็นต้น

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ