สรรพสามิตจัดประชุมวิชาการภาษีรถยนต์ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

ข่าวทั่วไป Thursday November 20, 2014 17:28 —สำนักโฆษก

วันนี้ 20 พฤศจิกายน 2557 นายสรร วิเทศพงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม The Director – General Meeting of ASEAN Member Countries on Automobile Taxation ซึ่งกรมสรรพสามิตเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างวันที่ 20 – 21 พฤศจิกายน 2557 โดยมีนายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตให้การต้อนรับ ณ โรงแรมเลอ เมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่

นายสรร วิเทศพงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สินค้ารถยนต์เป็นสินค้าหลักที่กระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิต โดยในปีงบประมาณ 2557 จัดเก็บได้ 93,000 ล้านบาท ความร่วมมือด้านนโยบายภาษีสรรพสามิตโดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนจึงมีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางและนโยบายการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ รวมถึงทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวต่อว่าการจัดประชุม The Director – General Meeting of ASEAN Member Countries on Automobile Taxation มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือด้านนโยบายภาษีสรรพสามิตโดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งการประชุมในครั้งนี้กรมสรรพสามิตในฐานะเจ้าภาพในการจัดประชุมได้เชิญอธิบดีที่กำกับดูแลงานด้านภาษีสรรพสามิตจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย พม่า ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และบรูไน รวมถึงเชิญผู้แทนส่วนราชการและองค์กรภาคเอกชนภายในประเทศที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมศุลกากร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมเพื่อเป็นเกียรติในการจัดงานครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) คือมุ่งให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และการอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน อันจะช่วยสนับสนุนให้ภูมิภาคอาเซียนมีความเจริญมั่งคั่งและสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้ ซึ่งปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนมีประชากรรวมกว่า 625 ล้านคน นับเป็นภูมิภาคขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

1. มุ่งให้เกิดการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของ สินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมภายในปี 2015

2. มุ่งทำให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว (single market and production base)

3. ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียนเพื่อลดช่องว่างการพัฒนาและช่วยให้ประเทศเหล่านี้เข้าร่วมกระบวนการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน

4. ส่งเสริมความร่วมมือด้านนโยบายการเงินและเศรษฐกิจมหภาค, ตลาดการเงินและตลาดทุน, ภาษีศุลกากรและภาษีสรรพสามิต, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการคมนาคม

อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวต่อว่า นโยบายภาษีสรรพสามิตรถยนต์นอกจากจะส่งผลต่อราคาขายปลีกรถยนต์แล้ว ยังเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์และพฤติกรรมของผู้บริโภคในการเลือกใช้รถยนต์ที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ การจัดเก็บภาษีตามความจุของกระบอกสูบ การจัดเก็บภาษีตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการจัดเก็บภาษีตามอัตราการประหยัดพลังงาน

เนื่องจากในอดีต เทคโนโลยีในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไม่มีความซับซ้อน ประเทศไทยจึงจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์โดยใช้ฐานในการคำนวณยึดตามความจุของกระบอกสูบซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงความฟุ่มเฟือย (Luxury) อันเป็นไปตามหลักพื้นฐานของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต แต่ปัจจุบันการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามความจุของกระบอกสูบนั้นไม่สามารถสะท้อนอัตราการประหยัดพลังงาน และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกหรือ CO2 ได้เท่าที่ควร ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2555 อนุมัติในหลักการการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ โดยพิจารณาจากอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)แทนการจัดเก็บภาษีตามปริมาณความจุของกระบอกสูบ สาเหตุที่มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตาม CO2 เนื่องจากมีความต้องการที่จะผลักดันให้เกิดการผลิตรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ปริมาณการปล่อย CO2 ลดลง เพื่อเป็นการประหยัดพลังงานและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุสำคัญของสภาวะโลกร้อน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป โดยมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

1. การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

2. การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

3. ความปลอดภัยของรถยนต์

4. การใช้พลังงานทดแทน

5. ประสิทธิภาพในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

นอกจากนี้ ปัจจุบันกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิตของไทยโดยคำนวณอัตราภาษีสรรพสามิตจากฐานราคาขายปลีก (Retail Sales Price: RSP) แทนการคำนวณจากฐานราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม (ex-factory) สำหรับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ และคำนวณตามฐานราคา C.I.F สำหรับสินค้านำเข้า เนื่องจากราคาขายปลีกเป็นราคาที่ผู้ประกอบการกำหนดขึ้นเองตามกลไกตลาด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพในการบริหารงานด้านการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตโดยรวม

ทั้งนี้ การปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิตของไทยจะช่วยให้การเปิดเสรีทางการค้าของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอีกทางหนึ่งด้วย

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมสรรพสามิต

โทร/โทรสาร 0 2241 4778

www.excise.go.th

ที่มา : กระทรวงการคลัง

ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ