กระทรวงวิทยาศาสตร์ไทย – ลาว จับมือพัฒนา วทน. บนความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วม

ข่าวทั่วไป Wednesday November 26, 2014 16:54 —สำนักโฆษก

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งราชอาณาจักรไทย จับมือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ครอบคลุม 14 สาขา เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ บนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกัน

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยถึงการเดินทางไปร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ว่า ปัจจุบันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนา วทน. เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ขณะเดียวกันยังเร่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือกันภายในกลุ่ม เพื่อก้าวไปสู่จุดหมายด้วยกัน ล่าสุดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ของไทย และ สปป. ลาว จึงได้ตกลงที่จะร่วมมือกันแบบทวิภาคีในการเสริมสร้างและพัฒนาด้าน วทน. ของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น บนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกัน ครอบคลุมใน 14 สาขา ได้แก่ (1) เทคโนโลยีชีวภาพและความหลากหลายทางชีวภาพ (2) พลังงานหมุนเวียน (3) เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (4) ดาราศาสตร์ (5) เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน (6) เทคโนโลยีอวกาศการสำรวจระยะไกลและระบบภูมิสารสนเทศ (7) มาตรวิทยา มาตรฐานทดสอบคุณภาพ (8) สร้างความตระหนักด้าน วทน. (9) นโยบาย วทน (10) การส่งเสริมนวัตกรรมสำหรับ SMEs (11) อุทยานวิทยาศาสตร์ (12) การจัดการทรัพยากรน้ำ (13) เทคโนโลยีนิวเคลียร์ ความปลอดภัยและความมั่นคง (14) สาขาอื่นๆ ที่เห็นพ้องร่วมกัน

โดยในบางสาขาได้มีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การจัดการทรัพยากรน้ำ ที่สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) ได้ร่วมมือกับ กรมเทคโนโลยีและนวัตกรรม สปป.ลาว ติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ เพื่อติดตามปริมาณน้ำและสภาพภูมิอากาศในลุ่มน้ำสำคัญของ สปป.ลาว จำนวน 5 สถานี ได้แก่ (1) ปากแม่น้ำงึม (2) ปากแม่น้ำอุ (3) ปากแม่น้ำกระดิ่ง (4) ปากแม่น้ำเซบั้งไฟ (5) เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ซึ่งผลจากโครงการนี้ทำให้ประเทศไทยและ สปป.ลาว ได้รับประโยชน์ในการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศเชิงพื้นที่ได้แม่นยำขึ้น นอกจากนั้น สสนก. ยังได้ร่วมถ่ายทอดตัวอย่างความสำเร็จของการจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริที่มีตัวอย่างความสำเร็จมากกว่า 36 ตัวอย่าง จาก 25 ชุมชน ตามสภาพพื้นที่ต่าง ๆ ให้ทาง สปป.ลาว เพื่อนำไปใช้ปรับใช้ให้เหมาะสมกับภูมิสังคม ซึ่งทั้ง 25 ชุมชนตัวอย่าง ล้วนนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำชุมชนทั้งสิ้น

ด้านการสร้างความตระหนักด้าน วทน. ทางองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ก็เคยนำกิจกรรมคาราวานวิทยาศาสตร์เดินทางมาจัดแสดง ณ สปป.ลาว เพื่อให้เยาวชนลาวได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เคลื่อนที่ ซึ่งประกอบด้วยนิทรรศการวิทยาศาสตร์เคลื่อนที่ กิจกรรมการแสดงทางวิทยาศาสตร์ กิจกรรมเกมและการประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อฝึกทักษะกระบวนการคิด รวมทั้งการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ผ่านการทดลอง โดยเน้นการนำเสนอความรู้ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลิน และส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนสนใจและเรียนวิทยาศาสตร์อย่างเข้าใจและมีเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

รมว.วท. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การเยือน สปป.ลาว ครั้งนี้ ยังเป็นโอกาสอันดีที่ได้พบปะพูดคุยกับนักธุรกิจไทยใน สปป.ลาว เพื่อร่วมหาแนวทางในการนำ วทน. ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่ พร้อมรับโจทย์ที่เป็นปัญหาต่าง ๆ ไปหาวิธีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อจูงใจให้เอกชนสนใจมามีส่วนร่วมในการลงทุนวิจัยและพัฒนา วทน. อย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งในที่สุดแล้วผลประโยชน์ที่ได้จะตกแก่สังคมโดยรวม

ทั้งนี้ พิธีลงนามความร่วมมือฯ ดังกล่าวมีขึ้นในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 โดยมีนายกรัฐมนตรี 2 ประเทศเป็นสักขีพยาน พร้อมกับการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือด้าน ว. และ ท. ไทย-ลาว ครั้งที่ 6 ในวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2557 ณ สปป.ลาว

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ