“ จักรมณฑ์ ” เผยภาพรวมการออกใบอนุญาตหลังรับตำแหน่งไฟเขียวกว่า 6,307 ฉบับ เดินหน้าสร้างเศรษฐกิจไทยยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Monday December 22, 2014 16:50 —สำนักโฆษก

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงภาพรวมการออกใบอนุญาตต่างๆ ของกระทรวงอุตสาหกรรม ในรอบ 3 เดือน ภายหลังเข้ารับตำแหน่งว่า ได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวก และลดปัญหาข้อร้องเรียนของภาคเอกชน โดยการเร่งรัดการออกใบอนุญาตต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดการลงทุนการผลิตและการจ้างงานที่ยั่งยืน โดยได้ลดขั้นตอนและระยะเวลาการออกใบอนุญาตต่างๆ ลง

ทั้งนี้ หน่วยงานอนุญาตภายใต้การกำกับของกระทรวงฯ ได้แก่ 1.กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)2.กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) 3.สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และ 4.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้มีการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย

กรอ. ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา หลังการลดขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตโรงงานจากเดิม 90 วันเป็น 30 วัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นมานั้น มีอนุญาตประกอบกิจการและขยายกิจการ 1,297 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 135,757 ล้านบาท เงินทุนเพิ่มขึ้น 3.27 % จำนวนโรงงานเพิ่มขึ้น 9.22%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ( ปี 2556 มีจำนวน 1,171 โรงงาน เงินลงทุน 131,453 ล้านบาท) และมีการจ้างงานช่วง 3 เดือน จำนวน 56,261 คน ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบข้อมูล การประกอบกิจการใหม่และขยายโรงงาน มกราคม – 16 ธันวาคม 2557 กับ มกราคม – ธันวาคม 2556 ปี 2557 เงินลงทุน 546,601 ล้านบาท และปี 2556 เงินลงทุน 497,872 ล้านบาท สูงขึ้น 9.78% แสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนมีความมั่นใจในเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ภาคเอกชนตัดสินใจลงทุนขยายกิจการ เพื่อเป็นการเตรียมตัวรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2558 ยอดการอนุญาตประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการจะเติบโตประมาณ 5%

กพร. ในรอบ 3 เดือน ได้มีการออกอนุญาตสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ แบ่งเป็น ประทานบัตร,การต่ออายุประทานบัตร ,การโอนประทานบัตร,อาชญาบัตรพิเศษ,และอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ รวมทั้งสิ้น 109 แปลง มูลค่าการลงทุน 1,982 ล้านบาท มีมูลค่าแหล่งแร่ของประทานบัตร 16,152 ล้านบาท สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 313,422 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีคำขอสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ที่ผ่านการพิจารณาตาม พ.ร.บ.แร่ รวม 140 แปลง ซึ่งมีบางส่วนที่ต้องพิจารณาในประเด็นการบริหารทรัพยากรแร่ โดยในปี 2558 คาดว่าจะมีการอนุญาตคำขอประทานบัตร โอนประทานบัตร,อาชญาบัตรพิเศษ และอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ รวมทั้งสิ้น 200 แปลง

สมอ. การออกใบอนุญาตของ สมอ.มีทั้งสิ้น 3 ประเภท คือ ใบอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ใบอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และใบรับรองระบบงาน ซึ่ง สมอ.ได้อนุญาตให้แสดงเครื่องหมาย มอก.กับสินค้าที่มีคุณภาพตามประเภท และคุณลักษณะของสินค้า จำนวน 2 เครื่องหมาย คือ เครื่องหมายมาตรฐานทั่วไป และเครื่องหมายมาตรฐานบังคับ โดยมีกระบวนการใน 2 รูปแบบ คือ 1) ในระยะเวลา 43 วัน กรณีผู้ยื่นยังไม่มีผลตรวจประเมินระบบควบคุมคุณภาพ และผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ และ 2) ในระยะเวลา 26 วัน กรณีมีผลการตรวจประเมินระบบควบคุมคุณภาพตามข้อบังคับของ สมอ.และมีการใช้ใบรับรองการบริหารงานคุณภาพตาม มอก.9001 หรือ ISO 9001 จากหน่วยงานที่ สมอ.ยอมรับ

ทั้งนี้ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีการออกใบอนุญาตรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐาน มอก.จำนวน 1,876 ฉบับ และ สมอ.ยังอนุญาตให้ผู้ผลิตชุมชนแสดงเครื่องหมาย มผช.จำนวน 2,939 ฉบับ

กนอ. ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มียอดการขออนุญาตแจ้งเริ่มประกอบกิจการและขยายโรงงาน รวม 86 โรงงาน เงินลงทุนประมาณ 19,300 ล้านบาท การจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 12,000 คน โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ยังเป็นสัญชาติญี่ปุ่นที่ให้ความสนใจเข้ามาประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม ถึงร้อยละ 50 ตามมาด้วยนักลงทุนไทยร้อยละ 30 โดยอุตสาหกรรมหลักที่เข้ามาประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม ยังคงเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์/ชิ้นส่วนยานยนต์ ทั้งนี้ ประเมินว่า ในปี 2558 ยอดการขออนุญาตประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการจะเติบโตขึ้นจากปี 2557 ประมาณ 5-10 %

“จะเห็นได้ว่าในช่วงปี 2557 หน่วยงานพิจารณาอนุญาตทั้ง 4 หน่วยงาน ได้มีการปรับปรุงกฎหมาย/ระเบียบ เพื่อลดอุปสรรคและเอื้ออำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาต อาทิ ระยะเวลาและขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) จากเดิม 90 วัน เหลือเพียง 30 วัน ในส่วนของ กพร.ที่ได้ปฏิรูประบบการอนุญาตและกำกับดูแลการทำเหมืองแร่ จากเดิม 97 วันเหลือ 45 วัน และ ในส่วนของ สมอ.ก็ได้ปรับขั้นตอนการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ให้มีเวลาลดลงเหลือ 43 วัน และ 26 วัน ตามลำดับ” นายจักรมณฑ์ กล่าว

ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นกระทรวงนำร่องในการดำเนินการจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนเพื่ออำนวยความสะดวกในการขออนุญาตให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ ตามร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ…... ที่กำหนดให้ทุกส่วนราชการจัดทำ “คู่มือบริการสำหรับประชาชน” และ “คู่มือสำหรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่” ทั้งนี้ เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ และเพื่อเป็นมาตรฐานการให้บริการ ตลอดจนช่วยอำนวยความสะดวกในการขออนุญาตต่างๆ

กระทรวงอุตสาหกรรม มีงานอนุญาตทั้งสิ้น 231 เรื่องภายใต้ 8 พ.ร.บ.ที่ดูแลและได้ตั้งคณะทำงานฯ เพื่อจัดทำบัญชีรายการคู่มือและรายงานการอนุญาตตาม พ.ร.บ.ต่างๆ รวมทั้งได้สั่งการให้หน่วยงานอนุญาตเร่งจัดทำคู่มือบริการสำหรับประชาชน เพื่อชี้แจงขั้นตอน ระยะเวลา การพิจารณาการอนุญาตของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้การพิจารณาอนุญาตต่างๆ เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส และเกิดความเป็นธรรมภายใต้มาตรฐานเดียวกันให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้จัดกิจกรรมเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2558 เพิ่มเติมจากโครงการเดิมซึ่งมีอยู่แล้ว 5 กิจกรรม ภายใต้ชื่อ“อุตสาหกรรมคืนความสุขประชาชน” ที่ประกอบไปด้วย 1.คาราวานรถสินค้าราคาโรงงาน 2.การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน 3.กิจกรรมส่งแรงใจให้ทหารผู้กล้า 4.กิจกรรม “นิคมอุตสาหกรรมส่งความสุขให้ชุมชน”และ 5.การจัดงานแฟร์ทั่วไทย รวม 6 แห่ง โดยล่าสุดได้เพิ่มอีก 1 กิจกรรม คือ โครงการคืนความสุขให้น้องด้วยอุปกรณ์ช่วยพ่นยา เพื่อผู้ป่วยเด็กโรคหอบหืด (Thai Kid’s Spacer) ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อทดแทนการนำเข้าและเป็นการผลิตมอบให้กับเด็กด้อยโอกาส ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเตรียมมอบให้กับชมรมโรคหอบหืด โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จำนวน 1,000 ชุด ในวันที่ 24 ธันวาคมนี้ และนำไปแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาลชุมชนต่อไป.

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ