เปิดศักราชกระทรวงวิทย์ฯ หลัง ครม.ไฟเขียวลดหย่อนภาษีส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา ดัน จีดีพี ประเทศ

ข่าวทั่วไป Thursday January 8, 2015 13:53 —สำนักโฆษก

เปิดศักราชกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หลัง ครม.ไฟเขียวลดหย่อนภาษีส่งเสริมวิจัยและพัฒนา ดัน จีดีพี ประเทศ “ดร.พิเชฐ” เชื่อเอกชนมีแรงจูงใจสร้างนวัตกรรมใหม่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ก้าวสู่ AEC ด้วยความพร้อม

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในหลักการ มาตรการเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557 นั้น สาระสำคัญคือการเพิ่มมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก 200% เป็น 300% ซึ่งมาตรการดังกล่าว มีความสำคัญต่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย ประการสำคัญคือ การพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ผลักดันและขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะทำให้ผลงานวิจัยในภาครัฐรองรับความต้องการเชิงพาณิชย์ที่แท้จริงแล้ว ยังเชื่อมโยงการวิจัยกับภาคเอกชนเพื่อให้มีนวัตกรรมในการลดต้นทุนและสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เพื่อการส่งออกและบริโภคภายในประเทศ

มาตรการดังกล่าว ยังเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลด้านการเพิ่มการลงทุนวิจัยและพัฒนาของประเทศโดยรวม ให้ได้ 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และเพิ่มสัดส่วนการวิจัยและพัฒนาของเอกชนเป็น 70% ต่อ 30% ตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าวไว้เสมอว่า การขับเคลื่อนประเทศต้องพึ่งพานวัตกรรมโดยการสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) จากการวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีนักวิจัย 3,000 – 4,000 คน มีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีระบบโครงสร้างพื้นฐานและบริการที่ทันสมัยและมาตรฐานระดับสากล รวมถึงมีหน่วยงานที่สนับสนุนทุนวิจัย ที่ได้สนับสนุนการดำเนินงานของภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง

ดร.พิเชฐฯ กล่าวว่า จากข้อมูลของ สวทช. พบว่าตั้งแต่เริ่มมาตรการยกเว้นภาษีวิจัยและพัฒนา 200% ในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา เริ่มจากปี 2545 มีผู้ขอรับรองโครงการและใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีฯ คิดเป็นมูลค่า 65 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในปี พ.ศ. 2555 นั้นมีผู้ขอรับรองโครงการมีมูลค่าถึง 1,465 ล้านบาท โดยมีมูลค่าโครงการสะสมถึง 5,670 ล้านบาท ทั้งนี้ในภาพรวมของการลงทุนวิจัยในภาคเอกชน จากการสำรวจของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังพบว่าตัวเลขการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจาก 20,684 ล้านบาท เป็น 26,800 ล้านบาท ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี อย่างไรก็ตามยังไม่เพียงพอกับสภาพการแข่งขันทางธุรกิจที่เข้มข้นในปัจจุบัน ดังนั้นเมื่อมีมาตรการยกเว้นภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 300% เชื่อว่าจะเป็นแรงจูงใจให้ภาคเอกชน เพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ทั้งที่เป็นเอกชนรายใหญ่และบริษัทข้ามชาติ ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจเอสเอ็มอีของไทย ที่เป็นซัพพลายเชนของภาคเอกชนดังกล่าว

“มาตรการยกเว้นภาษี 300% นี้ แม้จะมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐ แต่ปริมาณการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ที่เพิ่มขึ้นของภาคเอกชน จะทำให้รัฐสามารถจัดเก็บรายได้ประเภทอื่นได้เพิ่มขึ้น เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอันเกิดจากการขายสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจากข้อมูลของภาคเอกชนพบว่า สร้างรายได้เข้ารัฐมากกว่าภาษีที่รัฐสูญเสียไปหลายเท่าตัว” ดร.พิเชฐ กล่าวย้ำ

ดร.พิเชฐฯ กล่าวว่า จากมาตรการยกเว้นภาษีวิจัยและพัฒนา และมาตรฐาน วทน.อื่น ๆ ที่จะตามมา รวมถึงการส่งเสริมการตั้งศูนย์วิจัยของภาคเอกชน การเพิ่มกำลังคน วทน. ที่รองรับความต้องการของเอกชน ตลอดจนกฎ ระเบียบต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการพัฒนา วทน. มั่นใจว่าจะยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้ความรู้และนวัตกรรมจากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีของเราเอง ซึ่งนอกจากจะเป็นรากฐานของการปฏิรูป วทน. ที่ยั่งยืนแล้ว ยังจะทำให้เราก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ด้วยความพร้อม และมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูง และต่อเนื่องยั่งยืน

นอกจากนี้ ดร.พิเชฐฯ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการ การลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก 200% เป็น 300% ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจของประเทศ โดยรัฐบาลได้เน้นการลงทุนด้านนวัตกรรมมากขึ้นและไม่จำกัดการลงทุนเฉพาะภาครัฐในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่พร้อมสนับสนุนให้ภาคเอกชนลงทุนด้านความรู้ในงานวิจัยจากการใช้เทคโนโลยีของตัวเองมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันค่าแรงในประเทศไทยสูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย จึงจำเป็นต้องใช้นวัตกรรมมาช่วยยกระดับคุณภาพการผลิตของสินค้า การให้บริการที่มีมูลค่าสูงขึ้น เนื่องจากนวัตกรรมใหม่ๆ สามารถยกระดับงานวิจัยที่สร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์ได้ จึงถือเป็นมาตรการที่สำคัญที่จะนำ วทน. มาพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้ รัฐบาลได้คาดหวังว่าภาคเอกชนจะร่วมลงทุนสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้นโดยมีผลทำให้สินค้ามีนวัตกรรมสินค้าใหม่ๆ ใช้อุปโภคบริโภคทั้งในประเทศและส่งออก และสามารถตอบโจทย์ความต้องการนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ มากขึ้นตามไปด้วย ในขณะเดียวกันภาคเอกชนที่ร่วมลงทุนงานวิจัยจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ ดำเนินต่อไปได้ และการเชื่อมโยงของตลาดระหว่างประเทศย่อมดีขึ้นตามลำดับ ถือเป็นการตอบโจทย์และได้ผลประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย แม้นว่ารัฐบาลจะเก็บภาษีได้น้อยในระยะแรก แต่มาตรการนี้จะทำให้ภาคเอกชนมีผลผลิต มีการส่งออกมากขึ้น ภาษีที่รัฐบาลจะได้รับจากสินค้าและบริการของภาคเอกชนก็จะมากขึ้นในภายหลัง ทั้งหมดนี้สามารถสร้างให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วยศักยภาพและขีดความสามารถที่ยั่งยืนต่อไป

ข่าวโดย : ทีมโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ภาพข่าวโดย : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์ และ นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์

เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.วท.

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ