มข. จัดยิ่งใหญ่ ครั้งแรกใน 50 ปี ประชุมวิชาการวิจัยนานาชาติและโชว์ผลงานด้านการวิจัย

ข่าวทั่วไป Monday January 26, 2015 14:26 —สำนักโฆษก

มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันที่ 22-23 มกราคม 2558 หัวข้อ “International Conference on “Research for Social Devotion” In Commemoration of the 50th Anniversary of Khon Kaen University, Thailand” โดยมี ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมทั้งบรรยายในหัวข้อ “Sciences and Technology for Social Devotion in 21st Century” (วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการอุทิศ เพื่อสังคม ในศตวรรษที่ 21) และ ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ บรรยายในหัวข้อ “Social Devotion of the University” และ รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงานฯ ณ อาคารพจน์ สารสิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558

การจัดงานในครั้งนี้ เน้นประโยชน์สำคัญเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมของนักวิจัยทุกระดับ มีการประมวลจัดกลุ่มผลงานวิจัยตามสาขาหลัก ได้แก่ วิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์กายภาพ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ และตามประเด็นการวิจัย ทั้งการวิจัยพื้นฐาน การวิจัยประยุกต์ การวิจัยชุมชน นวัตกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยี สิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ พร้อมกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านวิชาการและการวิจัย ในภาคีของภาครัฐในชุมชนและเอกชน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยในภูมิภาคทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งศิษย์เก่าได้มานำเสนอผลงานวิจัยที่ทำขึ้น และมีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์ต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย และต่อโลก

มีการจัดแสดงนิทรรศการและการนำเสนอผลงานทางวิชาการกว่า 212 ผลงาน แบ่งเป็นภาคบรรยาย 99 ผลงาน ภาคโปสเตอร์ 113 ผลงาน จากผลงานวิจัยทั่วโลกที่จะมานำเสนอ และนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมจาก 39 กลุ่มวิจัย และ 31 ศูนย์วิจัยของนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกมาเผยแพร่กว่า 50 ผลงาน โดยแยกออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกการวิจัยเพื่อแก้โจทย์ปัญหา ทั้งปัญหาเรื้อรัง และปัญหาเร่งด่วนของท้องถิ่น อีกกลุ่มเป็นงานวิจัยพื้นฐาน ซึ่งทำการวิจัยขึ้นเพื่อให้ทราบถึงความรู้เบื้องต้น อันจะนำมาซึ่งความรู้เพื่อใช้วินิจฉัยแก้ปัญหาใหญ่ที่ยุ่งยาก ซับซ้อนได้ ยกตัวอย่างจากการวิจัยพื้นฐาน “โรคธาลัสซีเมีย” ผลิตน้ำยาตรวจธาลัสซีเมีย มีราคาถูกและได้ผลเป็นอย่างดี ผลงานของ รศ.สุพรรณ ฟู่เจริญ คณะเทคนิคการแพทย์ ซึ่งทำการวิจัยมาหลายปี โดยได้มีการวิจัยต่อเนื่องกระทั่งพบว่าโรคธาลัสซีเมียของประชาชนในภาคอีสานนั้นเป็นชนิดที่ไม่เหมือนที่พบในโลก

นอกจากนั้นยังมีวิทยากรหลักจากต่างประเทศ อาทิ นายโนโบรุ ชอนนีฮารา (Mr.Noboru Sonehara) ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งให้ความสนใจในเรื่องข้อมูลจำนวนมหาศาล ที่ตรงประเด็นกับอีคอมเมิร์ช ไมโคร อีโคโนมิคส์ ที่เกิดขึ้น ไมโครอิเล็คทรอนิกส์ในด้านการบริหารจัดการ จะพูดในเรื่องการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ใช้ในสังคมไทยได้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในงาน และ “หุ่นยนต์มนุษย์ในศตวรรษที่ 21” จาก Prof.Volker Graefe ศาสตราจารย์ระดับโลกทางด้านระบบจักรกลอัจฉริยะที่สามารถตอบสนองอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์จากมหาวิทยาลัยไฟรบูร์ก ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เคยพัฒนาและสร้งหุ่นยนต์แรดซึ่งทำหน้าที่เป็นไกด์นำเที่ยวในพิพิธภัณฑ์เยอรมัน กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี โดยสามารถเคลื่อนไหวและตอบโต้กับมนุษย์ได้ นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการพัฒนาหุ่นยนต์ โดยระบบประมวลผลหรือสมองของหุ่นยนต์ตัวนี้มีอัลกอริทึมที่วิเคราะห์ความน่าจะเป็นเพื่อใช้ในการนำทางหุ่นยนต์ให้เคลื่อนที่หลบหลีกสิ่งกีดขว้างได้อย่างอัตโนมัติ เป็นพื้นฐานไปสู่การพัฒนาระบบประมวลผลหรือสมองของหุ่นยนต์ในรุ่นต่อไป

ผู้เผยแพร่ข่าว : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

ถ่ายภาพ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์/นางสาวพจนพร แสงสว่าง กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ