พิจารณา (ร่าง) ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู

ข่าวทั่วไป Tuesday February 3, 2015 11:01 —สำนักโฆษก

เลขาธิการสภาการศึกษา (รองศาสตราจารย์ ดร.พินิติ รตะนานุกูล) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครู ครั้งที่ ๑/๒๕๕๘ โดยมีประเด็นสำคัญคือการพิจารณา (ร่าง) ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู

เลขาธิการสภาการศึกษา (รองศาสตราจารย์ ดร.พินิติ รตะนานุกูล) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครู ครั้งที่ ๑/๒๕๕๘ โดยมีประเด็นสำคัญคือการพิจารณา (ร่าง) ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ณ ห้องประชุมศาลาชื่นอารมณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการอภิปรายและวิพากษ์ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู ในหลายประเด็นสำหรับการวางกรอบแนวคิดยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อ “ยกระดับคุณภาพครูให้เป็นครูมืออาชีพมีสมรรถนะเหมาะสมกับการเป็นครูในศตวรรษที่ ๒๑” และให้ความสำคัญต่อทิศทางการผลิตครูทั้งระบบอย่างเหมาะสมกับการต้องการใช้งานครูทั้งสายสามัญและสายอาชีวศึกษา สามารถดึงคนเก่ง คนดี คนมีฝีมือ เข้ามาสู่อาชีพครูเพื่อสร้างเบ้าหลอมเยาวชนที่มีคุณภาพ มีทักษะการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

รองศาสตราจารย์ ดร.พินิติ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครู ได้ให้ความสำคัญต่อการผลิตและพัฒนาครูในระยะยาว ๒๐ ปี จึงต้องวางยุทธศาสตร์และเป้าหมายการดำเนินงานให้ชัดเจน แก้ปัญหาในระบบครูให้ตรงจุด และรับฟังสภาพปัญหาอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะปัญหาสายงานครูที่ยังขาดแคลน เช่น ครูช่างอุตสาหกรรม ครูเกษตรกรรม ครูในสายผลิตและการให้บริการ ฯลฯ โดยเบื้องต้นคณะทำงานของ สกศ. ได้มีข้อสรุปเสนอให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) พิจารณาปรับข้อกำหนดการจัดจ้างครูในสายขาดแคลนตามสมรรถนะ ประสบการณ์ และทักษะ มากกว่าพิจารณาตามวุฒิการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาครูในสายขาดแคลนให้ได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น

นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ หนึ่งในคณะอนุกรรมการฯ แสดงความคิดเห็นว่า สิ่งที่ต้องปฏิรูปการศึกษาเพื่อสร้างกรอบคิดแบบใหม่ให้เด็กรู้จักทักษะการใช้ชีวิต และการประกอบอาชีพ ไม่ใช่รู้จักแต่ท่องจำหรือแค่วิชาการเท่านั้น ประเด็นนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ควรแก้ปัญหาทั้งเรื่องหลักสูตร และแนวคิดการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ทั้งระบบไม่ใช่อิงกับกระแสสังคมมากเกินไป เรื่องการกวดวิชาเพื่อสอบแข่งขันกันจนทำให้พัฒนาการด้านการใช้ชีวิตของเด็กขาดหายไป หากได้ข้อสรุปจะเป็นกรอบที่ทางกระทรวงศึกษาธิการนำเสนอกรอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครูต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ภายในกำหนดวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ และทาง สปช. จะเร่งสรุปยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาได้ภายในวันที่ ๑๐ เมษายนนี้

นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ อนุกรรมการฯ สายสื่อมวลชน แสดงความเห็นและเป็นห่วงว่า สิ่งที่สมควรเร่งปฏิรูปและสร้างจุดร่วมทั้งในการผลิตและพัฒนาครูคือ การสร้างจิตวิญญาณความเป็นครูให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม สำหรับผู้ประกอบอาชีพครูปัจจุบันขาดหายไปทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของอาชีพคนเป็นครู รวมทั้งกระบวนการตั้งกลไกระดับชาติขึ้นมาเพื่อดูแลการผลิตและพัฒนาครู ไม่ควรมีอำนาจหน้าที่ทับซ้อน หรือทำซ้ำกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครูที่ชัดเจนและตรงเป้าหมายมากขึ้น

ข่าวสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

ที่มา: http://www.thaigov.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ