ปส. เปิดบ้านต้อนรับ ดร.พิเชฐฯ เยี่ยมชมและติดตามผลการปฏิบัติราชการของสำนักงานฯ

ข่าวทั่วไป Friday February 6, 2015 16:43 —สำนักโฆษก

6 กุมภาพันธ์ 2558 ณ สำนักงานปรมาณูเพื่อนสันติ (ปส.) ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะ ให้เกียรติเข้าเยี่ยมชมและติดตามผลการปฏิบัติราชการของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) โดยมี ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อนสันติ และคณะผู้บริหาร ปส. ให้การต้อนรับและรายงานผลการปฏิบัติราชการของสำนักงานปรมาณูเพื่อนสันติ

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เป็นส่วนราชการ สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหนึ่งในองค์กรที่เป็นเลิศด้านการกำกับการใช้พลังงานปรมาณูในอาเซียน ในการพัฒนากฎหมาย และเสนอแนะนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานปรมาณู ที่นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ทั้งคอยกำกับดูแลความปลอดภัยจากการใช้พลังงานปรมาณูให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถและความเข้มแข็งในการวิจัยและพัฒนาด้านกำกับดูแลความปลอดภัยจากพลังงานปรมาณู พร้อมกับประสานงานและดำเนินการด้านพันธกรณีความตกลงระหว่างประเทศด้านพลังงานปรมาณู และเผยแพร่ความรู้สร้างการมีส่วนร่วมด้านความปลอดภัยจากการใช้พลังงานงานปรมาณูให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ ปส.มีประเด็นยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1. การผลักดันนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานปรมาณูของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 2. การพัฒนาสมรรถนะและประสิทธิภาพระบบกำกับดูแลความปลอดภัยจากพลังงานปรมาณู ยุทธศาสตร์ที่ 3. เสริมสร้างการบริหารจัดการและการบริการที่ดีขององค์กร ยุทธศาสตร์ที่ 4. การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ และการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 5. การส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และการสร้างความตระหนักเชิงรุกด้านพลังงานปรมาณู

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ปส. เป็นหน่วยงานที่เป็น Regulator โดยมีงานวิจัยและพัฒนาที่แยกออกจากกันไม่ได้ ซึ่งงานวิจัยและการพัฒนาจะต้องมีความก้าวล้ำ ในด้านของพระราชบัญญัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ ปส. เป็นนโยบายที่ควรผลักดันบนพื้นฐานความสมบูรณ์และถูกต้อง จึงควรนำเข้าคณะกรรมการบริหารงานของ ปส. ให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ บทบาทของ ปส. ถือว่าเป็นองค์กรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศในการกำกับดูแลความปลอดภัยจากพลังงานปรมาณู ซึ่งสิ่งที่ต่างประเทศให้ความสนใจคือ climate change โรคระบาด การก่อการร้าย และ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ ปส.

นอกจากนี้ องค์กรจะดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรเป็นสำคัญ จึงควรมีการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพ มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรกับประเทศอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เนื่องจากมีภารกิจที่ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์รังสีในด้านอาหาร ด้านการแพทย์ การตรวจสอบด้านความปลอดภัยต่างๆ การเฝ้าระวัง การควบคุม การนำเข้า ฯลฯ โดยรัฐบาลจะให้การสนับสนุนการดำเนินการทุกด้านอย่างเต็มที่ต่อไป

ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อนสันติ กล่าวถึงการดำเนินการและนโยบายที่กำลังผลักดันว่า ปส. กำลังดำเนินการผลักดันนโยบายแผนและพัฒนายุทธศาสตร์ของประเทศจากโครงการต่างๆ อาทิเช่น โครงการอาคารปฏิบัติการด้านนิวเคลียร์ โครงการพัฒนามาตรวัดรังสีทางชีววิทยาของประเทศ โครงการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ทางนิวเคลียร์และรังสี โครงการส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยจากพลังงานปรมาณูในอาเซียน พร้อมกับจะขยายแหล่งการเรียนรู้จากโครงการสร้างความตระด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ การส่งเสริมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับนิวเคลียร์ และมีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์และรังสีแห่งชาติ และนโยบาย 3 S ที่ ปส.ต้องการผลักดันให้ประสบความสำเร็จนั้น คือ safety security และ safeguard

ในส่วนของการดำเนินงานที่ยังเป็นปัญหาและอุปสรรคของ ปส. คือ ยังมีปัญหาและอุปสรรคในด้านกฎหมายด้านพลังงานปรมาณูที่ล้าสมัย ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ไม่มีนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานปรมาณูของประเทศเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างมีระบบ การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในเขตจตุจักรระหว่าง ปส. กับ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องภายใน และการบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนอกกระทรวงที่ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน และการมีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย (Research Reactor) ตัวใหม่ ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งสำคัญที่ควรจะมีการส่งเสริมเพื่อผลประโยชน์ในระยะยาวที่อยากให้รัฐบาลพิจารณาซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งที่คุ้มกับการลงทุนไม่น้อย ดังนั้น จึงควรส่งเสริมรวมถึงถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ให้กับประชาชน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับพลังงานดังกล่าว ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการต่อยอดความรู้ทางด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป

นอกจากนี้ ท่านรัฐมนตรีและคณะ ได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการเฝ้าระวังภัยทางรังสี ชมห้องปฏิบัติการวัดรังสีมาตรฐานทุติยภูมิ พร้อมกับชมรถปฏิบัติการเฝ้าระวังภัยทางรังสีและรถปฏิบัติการระงับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี

ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์

ภาพข่าวโดย : นางสุนิสา ภาคเพียร นางวงษ์ และ นายรัฐพล หงสไกร

ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์

ภาพข่าวโดย : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand

http://www.most.go.th/main/index.php/organization-news/4330-2015-02-06-08-46-17.html#sthash.s1VZDgGn.dpuf

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ