สศอ. จัดตั้ง “เครือข่ายพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา” ตอบโจทย์ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ผู้ประกอบการ และนักวิจัยสร้างงานวิจัยเพิ่มมูลค่าภาคอุตสาหกรรมได้จริง

ข่าวทั่วไป Thursday February 12, 2015 16:56 —สำนักโฆษก

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จัดตั้งเครือข่ายวิจัยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางฐานข้อมูลงานวิจัยอุตสาหกรรมยาง ประสานความร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์ผลงานวิจัย ให้คำปรึกษาแนะนำ และจับคู่ผู้ประกอบการและนักวิจัย เพื่อประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมยางในเชิงพาณิชย์ หวังสร้างเป็นโมเดลเครือข่ายให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย นำไปใช้ได้จริง

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สศอ. เล็งเห็นว่า ความร่วมมืองานวิจัยระหว่างภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา จึงมีแนวคิดที่จะสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานวิจัยขึ้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม สามารถนำไปใช้ได้ในเชิงพาณิชย์ สศอ. จึงได้ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราภายใต้เครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานวิจัย ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2556 ปี 2557 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2558

บทบาทของเครือข่ายฯ หลักๆ จะเป็นเรื่อง การกำหนดโจทย์วิจัยที่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราต้องการช่วยพัฒนาข้อเสนอโครงการ จัดหานักวิจัยและแหล่งทุนวิจัย และการสนับสนุนทางด้านบริการเทคนิค เช่น การวิเคราะห์และทดสอบ การให้คำปรึกษา การให้บริการด้านข้อมูลข่าวสาร และความรู้ด้านการผลิตผลิตภัณฑ์ยางรวมถึงการฝึกอบรมบุคลากร โดยกิจกรรมในการส่งเสริมความร่วมมือกันภายในเครือข่ายจะประกอบด้วยการสัมมนาวิชาการ การพบปะหารือแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ การฝึกอบรมบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งกิจกรรมภายในเครือข่ายจะทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และนำไปสู่การร่วมมือกันสร้างสรรค์งานวิจัยที่ตรงกับความต้องการของตลาดและนำไปใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์

ผลการดำเนินงานปี 2556 – 2557 ที่ผ่านมานั้น การดำเนินการหลักๆ จะเน้นไปในเรื่องของการจัดทำฐานข้อมูลเว็บไซต์ของเครือข่ายฯ โดยเฉพาะข้อมูลเรื่องผลงานการวิจัยว่าที่ผ่านมามีนักวิจัยคนใดทำการวิจัยในหัวข้อใดมาแล้วบ้าง และเน้นเรื่องการพัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายฯ มีการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างสมาชิก ซึ่งปัจจุบันเครือข่ายฯ มีสมาชิกจำนวน 173 ราย แบ่งเป็น นักวิจัยด้านยาง 72 ราย นักวิจัยด้านไม้ยางพารา 6 ราย ผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์ยางในกลุ่มต่างๆ 81 ราย ผู้ประกอบการด้านไม้ยางพารา 14 ราย มีการจัดหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นตามความต้องการของสมาชิกเครือข่ายฯ ซึ่งเป็นการฝึกอบรมเทคโนโลยียางในด้านต่างๆ มีการจัดสัมมนาในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ในปี 2556 – 2557 เครือข่ายยังได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนา โดยมีโครงการวิจัยนำร่อง ได้แก่ 1) งานศึกษาวิจัยเทคโนโลยีการผลิตยางล้อตันทนน้ำมันสำหรับรถฟอร์คลิฟท์ ซึ่งใช้ในการขนถ่ายสินค้าภายในโรงงาน หรือโกดังเก็บสินค้า 2) งานศึกษาวิจัย เรื่อง การปรับปรุงคุณภาพยางล้อตันขาว (non-marking solid tire) 3) งานศึกษาวิจัยเทคโนโลยีการวัดความเข้มข้นของน้ำยาป้องกันรักษาเนื้อไม้สำหรับผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา และ 4) งานศึกษาวิจัยเทคโนโลยีการรักษาสีขาวของไม้ยางพาราสำหรับผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา

นายอุดม กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดำเนินงานในปี 2558 สศอ. จะปรับการพัฒนาเครือข่ายฯ ให้สามารถตอบสนองทุกภาคส่วนให้เกิดประโยชน์ได้มากขึ้น โดยการเน้นการจัดกิจกรรมที่จะทำให้เกิดการพบปะหารือกันของสมาชิกของเครือข่ายฯ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง และเน้นการสร้างประโยชน์จากฐานข้อมูลที่มีอยู่ด้วยการจับคู่งานวิจัย หรือผู้วิจัย กับผู้ประกอบการที่มีความสนใจในงานวิจัยชิ้นนั้นๆ นอกจากนี้ยังมีบริการการช่วยให้คำปรึกษา และคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ส่วนในเรื่องภารกิจเดิมที่ดำเนินการในปีที่ผ่านมา ก็จะยังคงทำอยู่ แต่จะมีการพัฒนาให้เป็นประโยชน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสำรวจความต้องการด้านการวิจัยและพัฒนาของผู้ประกอบการ การเพิ่มข้อมูลงานวิจัยในฐานข้อมูล การจัดโครงการอบรม หรือสัมมนา ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ จะสามารถทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทางด้านความรู้และเทคโนโลยีจากนักวิจัยและแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น และจะทำให้เกิดการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องและได้ประโยชน์อย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาไปสู่การสร้างโมเดลเครือข่ายนำร่องให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้าง และหากประสบผลสำเร็จจะขยายโมเดลนี้ไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ