นายกรัฐมนตรีหวังเวทีรับฟังความคิดเห็นในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมฯ จะทำให้เกิดความเข้าใจ และถือเป็นเวทีสุดท้ายที่จะได้ข้อสรุปจากทุกฝ่าย

ข่าวทั่วไป Monday February 16, 2015 17:35 —สำนักโฆษก

วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2558) เวลา 12.30 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินมาตรวจดูความเรียบร้อยการปรับปรุงโรงอาหารที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พร้อมร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับสื่อมวลชนฯ และให้สัมภาษณ์ถึงการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ในวันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 ว่า ที่ผ่านมามีการส่งตัวแทนรัฐบาลเข้าร่วมรับฟัง เพราะถือเป็นเวทีของรัฐบาล สำหรับเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่จัดขึ้น ส่วนเหตุผลในการเลื่อนเปิดสัมปทานจากเดิมวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ออกไปก่อนนั้น เพื่อต้องการฟังผลการหารือในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นี้ก่อนว่า จะมีความคิดเห็นกันอย่างไร เพื่อให้ทุกภาคส่วนเกิดความเข้าใจ อีกทั้งจะได้มีเวลาในการอนุมัติสัมปทาน ที่สำคัญคือมีความห่วงใยว่าในระยะยาว 5-10 ปี ข้างหน้า จะทำอย่างไร เมื่อแปลงสัมปทานปิโตรเลียมที่มีอยู่นี้หมดแล้ว และไม่สามารถแปลงอย่างอื่นมาทดแทนได้ จะทำอย่างไร เพราะหากลงทุนใหม่จะต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมการถึง 4-5 ปี

พร้อมกล่าวชี้แจงว่า หากให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการเรื่องนี้ จะล่าช้าเกินไป เพราะ วันนี้ประเทศต่าง ๆ ได้เตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านได้มีการใช้พลังงานในประเทศมากขึ้น เช่น พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(Joint Development Area :JDA) ซึ่งปีนี้ตัดออกไป 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทำให้พลังงานตรงนั้นของประเทศหายไป จึงต้องสั่งซื้อเพิ่มจากต่างประเทศ ซึ่งแพงกว่าผลิตในประเทศ ที่ราคาอยู่ที่ 200 บาทต่อ 1 ล้านบีทียู หากซื้อจากต่างประเทศ ราคาจะอยู่ที่ 300-400 บาทต่อ 1 ล้านบีทียู หากจะซื้อก็สามารถทำได้ แต่ต้องให้พลังงานที่มีราคาแพงมาผสมกับราคาถูก ถ้าราคาถูกมีน้อยก็ต้องซื้อแพง เมื่อเอามาจำหน่ายก็มีราคาแพงอยู่ดี

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ข้อสรุปทั้งหมดต้องรอฟังการหารือในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ แต่ทั้งนี้ทุกอย่างต้องมีกฎหมาย ซึ่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ยังมีอยู่ ในเรื่องการจัดหาแหล่งพลังงาน เป็นหน้าที่ของกระทรวงพลังงาน ไม่ใช่หน้าที่ของนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีเป็นเพียงผู้รับทราบในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยกระทรวงพลังงานสามารถดำเนินการตาม พ.ร.บ.ได้ทันที หากไม่ทำจะมีความผิดหรือไม่นั้น ต้องไปหารือกัน

พร้อมกล่าวว่า การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมฯ จะทำให้เกิดความเข้าใจ และให้ถือว่าเป็นเวทีสุดท้าย ต้องให้กำลังใจทุกคนว่า ต้องทำให้สำเร็จ และอยากให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมรับฟัง และช่วยกันทำให้ได้ ต้องหาจุดให้ได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เอาตัวเลขมาชี้แจงและต้องตอบคำถามกันให้ได้ ฝ่ายรัฐบาลก็ติดขัดเรื่อง พ.ร.บ. จึงทำให้ถอยไม่ได้ ก็ต้องไปดูว่าจะถอยหรือจะแก้อย่างไร โดยปัญหามีอยู่ 2 อย่างคือ 1. กฎหมายว่าอย่างไร 2. ถ้าในช่วง 5-10 ปี ข้างหน้าพลังงานหายไปแล้ว จะจัดหาพลังงานใดมาทดแทน แล้วถ้าหาไม่ทัน ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ