นายกรัฐมนตรี ประกาศนโยบายส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในประเทศ ขอให้หน่วยงานรัฐซื้อนวัตกรรมไทย เพื่อเป็นการส่งเสริมสินค้าไทย และลดการพึ่งพิงต่างประเทศ

ข่าวทั่วไป Saturday February 14, 2015 16:57 —สำนักโฆษก

( 13 กุมภาพันธ์ 2558) เวลา 15.30 น. ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ปทุมธานี : พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานนวัตกรรมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกว่า ๔๐ ผลงาน ที่เกิดจากการวิจัยพัฒนา และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาคเอกชนและชุมชน ทำให้เอกชนสามารถขายสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ในขณะเดียวกันทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ ส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

จากนั้น ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๘ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี โดยที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบนโยบายและมาตรการสำคัญเพื่อส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ ดังนี้

๑. การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน ให้กำหนดเพดานค่าใช้จ่ายของสิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่ภาคเอกชนสามารถนำรายจ่ายวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมมาขอลดหย่อนภาษีได้ ๓ เท่าของรายจ่ายจริง โดยให้กำหนดเพดานเป็น ๓ ขั้น คือ ๑) บริษัทที่มีรายได้ไม่เกิน ๕๐ ล้านบาท สามารถหักรายจ่ายได้ไม่เกินร้อยละ ๖๐ ของรายได้ ๒) รายได้ส่วนที่เกิน ๕๐ ล้านบาท แต่ไม่เกิน ๒๐๐ ล้านบาท หักรายจ่ายเพิ่มเติมอีกได้ไม่เกินร้อยละ ๙ ของรายได้ และ ๓) รายได้ส่วนที่เกิน ๒๐๐ ล้านบาท หักรายจ่ายเพิ่มเติมอีกได้ไม่เกินร้อยละ ๖ ของรายได้

ในการใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าว ได้เห็นชอบให้ใช้รูปแบบ Self Declaration ได้ สำหรับบริษัทที่เข้าเงื่อนไข ดังนี้ ๑) เป็นบริษัทที่ทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้วยตนเอง หรือดำเนินการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ ๒) เป็นบริษัทที่เคยผ่านการรับรองโครงการวิจัยฯ จาก สวทช. มาแล้ว เมื่อบริษัทที่มีคุณสมบัติดังกล่าวได้รับการตรวจรับรองระบบงานวิจัยโดย สวทช. แล้ว บริษัทสามารถรับรองโครงการวิจัยที่มีค่าใช้จ่ายไม่เกิน ๓ ล้านบาท ด้วยตนเอง และยื่นเอกสารประกอบการชำระภาษีประจำปีได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการ pre-approve

นอกจากนี้ ได้เห็นชอบการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับเงินบริจาคเข้ากองทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาให้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ ๒ เท่า โดยมอบหมายคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอการพัฒนาระบบนวัตกรรมไทย ที่มีรองนายกรัฐมนตรี (ยงยุทธฯ) เป็นประธานไปดำเนินการเสนอแนวทางการดำเนินการในรายละเอียดต่อไป

๒. การสนับสนุนเชิงนโยบายในการใช้นวัตกรรมไทยกับตลาดภาครัฐ เพื่อลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่มีราคาแพง และเป็นการสนับสนุนให้มีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยให้มีการปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการตามรายการบัญชีนวัตกรรมของไทยผ่านวิธีพิเศษได้ และกำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่ประสงค์จะจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการตามรายการที่ปรากฏในบัญชีนวัตกรรมไทย ให้จัดซื้อจัดจ้างโดยใช้งบประมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑๐ แต่ไม่เกินร้อยละ ๓๐ แต่ทั้งนี้ นวัตกรรมไทยที่ปรากฏในบัญชีฯ ดังกล่าว ต้องได้คุณภาพและผ่านการทดสอบว่ามีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์การใช้งาน ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาดำเนินการ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างตลาดให้กับสินค้านวัตกรรมไทยให้เติบโตและยั่งยืน ได้มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่ต้องการซื้อสินค้านวัตกรรม แบ่งงบประมาณส่วนหนึ่งมาซื้อของที่พัฒนาขึ้นโดยคนไทยซึ่งมีคุณภาพเทียบเคียงของนำเข้าได้ แต่อาจยังไม่สามารถผลิตได้จำนวนมาก

ทั้งนี้ คณะทำงานกำหนดความต้องการของภาครัฐที่สามารถใช้สินค้านวัตกรรมไทย จะทำการจับคู่นวัตกรรมไทยกับความต้องการใช้ในหน่วยงานของรัฐ พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ผลงานนวัตกรรมที่มีความพร้อม และประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตค่อนข้างมาก โดยจะทำการพิจารณานวัตกรรมไทยเป็นรายการ เพื่อจัดทำเป็นโครงการส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมโดยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำคำของบประมาณสำหรับปี ๒๕๕๙ เพื่อขอดำเนินโครงการเป็นเรื่องๆ ไป เพื่อให้ได้สินค้านวัตกรรมไทยที่ตรงตามความต้องการ

ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สวทช. pr@nstda.or.th

โทร. 02 564 7000 ต่อ 1162, 71725, 71727, 71728

โทรสาร 02-564-7060

http://www.nstda.or.th

https://www.facebook.com/NSTDATHAILAND

เผยแพร่ข่าว : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์

สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ