นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต้อนรับในงานสัมมนาระดับภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 2 เรื่อง “The 2 nd Regional Consultation on Prospects Challenges to Developing ASEAN Standard and Mechanism on the Right of Workers” ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ ถนนสีลม กรุงเทพ ว่า ไทยเป็นประเทศจุดหมายปลายทางของคนข้ามชาติจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศแถบเพื่อนบ้าน รัฐบาลไทยจึงเห็นความสำคัญของแรงงานข้ามชาติซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจของไทย สำหรับการประชุมครั้งที่ผ่านมามีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐได้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน และมีการให้ข้อคิดเห็นเรื่องการคุ้มครองแรงงานในอาเซียน สำหรับการปรึกษาหารือครั้งนี้ก็จะเป็นโอกาสให้ภาคประชาสังคม องค์กร NGOs และภาคแรงงานต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคได้ออกมาพูดถึงข้อกังวลและข้อเสนอแนะการปรับปรุงกฎหมายเพื่อคุ้มครองคนงานในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งกระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างกระบวนการในการพัฒนาเครื่องมือของสมาชิกในประเทศอาเซียนเพื่อให้การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้เป็นขั้นตอนสำคัญในการที่จะผลักดันให้มีความก้าวหน้าในเรื่องของการย้ายถิ่นของคนงานในอาเซียน เพื่อที่จะรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน
รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมมนาในวันนี้เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันในการที่จะเสริมสร้างประสิทธิภาพและมีส่วนสนับสนุนด้านแรงงานได้อย่างไร ซึ่งกระทรวงแรงงานจะมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน การนำเข้าหรือส่งออกแรงงาน การประกันสังคม การคุ้มครองแรงงานเพื่อก่อให้เกิดมาตรฐานอาเซียนให้ได้ ดังนั้นการประชุมคราวนี้จะรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคมที่มาจากหลายภาคส่วนในอาเซียน องค์กรเอ็นจีโอ ซึ่งจะนำความคิดเห็นเหล่านี้ไปจัดทำเป็นร่างโดยคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านประชาคมอาเซียน ขณะเดียวกันในส่วนของรัฐ โดยกระทรวงแรงงานก็จะมีการจัดสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในรูปแบบดังกล่าว ซึ่งจะจัดขึ้นภายในเดือนมีนาคมนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ดังนั้นคาดว่าภายในก่อนสิ้นปีนี้น่าจะเห็นร่างกฎหมายด้านแรงงานมีความชัดเจนมากขึ้น
“เราจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นให้ได้โดยเร็ว แต่จะเกิดขึ้นได้นั้นเราต้องคุยกันในเวทีอาเซียน โดยกระทรวงแรงงานต้องขับเคลื่อนเรื่องการคุ้มครอง การเคลื่อนย้ายแรงงาน สิทธิแรงงานต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอาเซียน”รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในการประชุมระดับภูมิภาคครั้งที่ผ่านมาหลายฝ่ายได้พยายามที่จะเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องประเทศที่รับแรงงานและประเทศที่ส่งแรงงานมีปัญหาอย่างไรเพื่อดำเนินการการแก้ไขปัญหาร่วมกันให้ดีกว่าเดิม ส่วนครั้งนี้จะเป็นการปรึกษาหารือกันในเรื่องทิศทางความก้าวหน้าในการคุ้มครองแรงงาน การจัดการกับแรงงานที่มีอยู่ ซึ่งคงต้องพิจารณาในเรื่องนโยบายเพื่อให้ทั้ง 10 ประเทศในสมาชิกอาเซียนได้รับประโยชน์ร่วมกัน มีสันติ ปราศจากความขัดแย้ง ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเปิดใจเพื่อหารือว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถรับประโยชน์ได้อย่างไร ขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐจำเป็นต้องเปิดใจกว้างเพื่อทำให้ข้อตกลงมาตรฐานแรงงานมีการพัฒนาได้และนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลในเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติต่อไป
กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
กระทรวงแรงงาน “บริการด้วยใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ”
ที่มา: http://www.thaigov.go.th