กระทรวงอุตสาหกรรมส่งมอบประทานบัตรเหมืองแร่โพแทชฉบับแรกของไทย หลังรอมานานกว่า 30 ปี

ข่าวทั่วไป Tuesday February 17, 2015 14:12 —สำนักโฆษก

กระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่โพแทชฉบับแรกของไทย ให้กับ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) สร้างมูลค่าการลงทุนกว่า 40,000 ล้านบาท พร้อมผลิต แม่ปุ๋ยโพแทช (K) กว่า 1.1 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังพิธีมอบประทานบัตรเหมืองแร่โพแทชฉบับแรกของไทยอย่างเป็นทางการ ว่า วันนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่โพแทชโครงการเหมืองแร่โพแทชของอาเซียน อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ให้กับบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ประทานบัตรเลขที่ 31708/16118 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 ครอบคลุมพื้นที่ 9,700 ไร่ มีอายุประทานบัตร 25 ปี โดยโครงการเหมืองแร่โพแทช ของอาเซียน เป็นโครงการอุตสาหกรรมของอาเซียนตามมติคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อปี 2532 เป็นการร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ประกอบด้วยมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และไทย ซึ่งรัฐบาลไทยโดยกระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 20

บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำขอประทานบัตรเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2547 ในพื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ดำเนินการเจาะสำรวจ จำนวน 100 หลุมเจาะ พบว่า มีปริมาณสำรองแร่โพแทชทางธรณีวิทยาประมาณ 430 ล้านตัน และได้ทดลองทำเหมืองแร่โพแทชใต้ดินในฐานะตัวแทนของทางราชการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2533 ลักษณะเป็นเหมืองปิดเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

“โครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้ประเทศไม่ต้องนำเข้าปุ๋ยโพแทช ประมาณ 700,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี ปุ๋ยโพแทชที่ได้จะต้องขายภายในประเทศก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยในราคาที่ถูกลง รวมทั้งจะช่วยสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้อีกมาก ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น นอกจากนี้ภาคเอกชนจะต้องมีการจัดตั้งกองทุนต่างๆ เพื่อพัฒนาชุมชนรอบพื้นที่เหมือง และเพื่อดูแลชาวบ้านในพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ ภาครัฐยังสามารถเก็บเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณร้อยละ 20-30 และจะได้ค่าภาคหลวงแร่ร้อยละ 7 ซึ่งค่าภาคหลวงแร่ที่จัดเก็บได้จะส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินส่งให้ส่วนกลางร้อยละ 40 และจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร้อยละ 60” นายจักรมณฑ์ กล่าว

บริษัทฯ จะผลิตโพแทชด้วยวิธีการทำเหมืองใต้ดินแบบห้องสลับเสาค้ำยัน (Rooms and Pillars) ซึ่งถือเป็นต้นแบบการออกแบบการทำเหมืองแร่โพแทชในอนาคต และแต่งแร่ด้วยวิธีการตกผลึกร้อน (Hot Crystallization) มูลค่าการลงทุนประมาณ 40,000 ล้านบาท โดยสามารถผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (KCl) ได้ประมาณ 1.1 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี ตลอดระยะเวลา 25 ปี จะสามารถผลิตปุ๋ยได้ประมาณ 17.33 ล้านตัน

สำหรับแผนการลงทุนตามที่บริษัทฯ นำเสนอจะเริ่มมีการลงทุนก่อสร้างโรงงานในปี 2559 – 2561 แบ่งเป็นกางลงทุนในปี 2559 ประมาณ 10,000 ล้านบาท ปี 2560 ประมาณ 20,000 ล้านบาท และปี 2561 ประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยโรงงานผลิตปุ๋ยโพแทชจะเกิดขึ้นในปี 2562

16 กุมภาพันธ์ 2558

สอบถามเพิ่มเติม

สำนักอุตสาหกรรมพื้นฐาน

โทร. 0 2202 3901-2

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ