กฎหมายการศึกษา

ข่าวทั่วไป Monday February 23, 2015 14:24 —สำนักโฆษก

สำนักงานเลขาธิการศึกษา จัดประชุมระดมความคิดเห็นเรื่อง การประเมินการบังคับใช้กฎหมายการศึกษาและส่งเสริมความรู้ด้านกฎหมายการศึกษา เพื่อเป็นการติดตามการบังคับใช้กฎหมายการศึกษาและกฎหมายลำดับรองที่มีผลใช้บังคับในปัจจุบัน และจัดทำข้อเสนอการจัดให้มีกฎหมาย หรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย หรือยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อการปฏิรูปการศึกษา โดยมีรองเลขาธิการสภาการศึกษา( ดร.พิษณุ ตุลสุข) เป็นประธาน

สำนักงานเลขาธิการศึกษา จัดประชุมระดมความคิดเห็นเรื่อง การประเมินการบังคับใช้กฎหมายการศึกษาและส่งเสริมความรู้ด้านกฎหมายการศึกษา เพื่อเป็นการติดตามการบังคับใช้กฎหมายการศึกษาและกฎหมายลำดับรองที่มีผลใช้บังคับในปัจจุบัน และจัดทำข้อเสนอการจัดให้มีกฎหมาย หรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย หรือยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อการปฏิรูปการศึกษา โดยมีรองเลขาธิการสภาการศึกษา( ดร.พิษณุ ตุลสุข) เป็นประธาน มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน ๒๕๐ คน ประกอบด้วยผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาภาครัฐและเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยภาคเหนือจัดในวันที่ ๑๘-๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ณ โรงแรมอมรินทร์ ลากูน จังหวัดพิษณุโลก

ดร.พิษณุ ตุลสุข รองเลขาธิการสภาการศึกษา ได้กล่าวเปิดประชุมและบรรยายพิเศษ ว่า “ สภาการศึกษามีบทบาทตามกฎหมายคือให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดให้มีกฎหมายหรือปรับปรุงแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา การร่วมคิดร่วมทำสภาการศึกษาได้ตระหนักอยู่เสมอว่าการศึกษาไม่ได้อยู่ในมือของรัฐเพียงฝ่ายเดียว ทุกหน่วยงานจะต้องร่วมสนับสนุนส่งเสริมในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งภาคประชาชนการมารับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายการศึกษาจึงมีความสำคัญ กฎหมายเป็นเครื่องมือเพี่อกำหนดตัวชี้ทิศทาง ชี้เป้าหมาย และวิธีการที่จะเดินทางไปสู่จุดมุ่งหมาย การจัดทำกฎหมายจะต้องวางกรอบแนวทางที่กว้างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายปฏิบัติได้ดำเนินการได้อย่างอิสระและคล่องตัว สอดคล้องกับบริบทของตนเองและสังคมอย่างแท้จริง”

ดร.พิษณุ ตุลสุข ได้กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาว่า “การกระจายอำนาจในด้านต่างๆตามกฎหมายการศึกษาจะต้องให้เท่ากันทุกสถานศึกษาหรือไม่ เช่น การกระจายอำนาจการบริหารงานบุคคลยังเป็นปัญหาอยู่มาก ได้กระจายอำนาจให้ไปแล้วทำอย่างไรจะกำกับผู้ใช้อำนาจให้มีความพอดี มีหลักธรรมาภิบาล การจัดสรรเงินงบประมาณรายหัวที่เท่าเทียมกันในเชิงปริมาณของเงินรายหัวเท่ากันเปลี่ยนใหม่เป็นเชิงคุณภาพได้หรือไม่ คือเด็กไทยทุกคนจะต้องมีสิทธิเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใดทำอย่างไรโรงเรียนที่ไม่มีคุณภาพจะมีคุณภาพ การปฏิรูปการศึกษาคือการกำหนดอนาคตการศึกษาร่วมกัน อนาคตการศึกษากำหนดอนาคตของเด็กไทย อนาคตของเด็กไทยคืออนาคตของประชากรที่มีคุณภาพ ประชากรที่มีคุณภาพจะกำหนดประเทศไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องและเจริญก้าวหน้าต่อไป”

นายพงษ์พัฒน์ วงศ์ตระกูล ปลัดจังหวัดพิษณุโลก ได้กล่าวถึงปัญหาการศึกษาในพื้นที่ว่า “มีเด็กจำนวนมากไม่ได้เรียนหนังสือในระดับที่สูงขึ้น เพราะผู้ปกครองบางคนไม่เห็นความสำคัญการศึกษา เรียนจบมาแล้วไม่มีงานทำ ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาที่ผู้ปกครองมุ่งหวังคือ ต้องการให้บุตรหลานเรียนจบมาแล้วมีงานทำ สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้ นอกจากนี้เสนอให้รัฐมีกองทุน กยศ. ให้ความช่วยเหลือเด็กที่อยู่ในภาวะลำบากเหล่านี้ เพื่อให้โอกาสได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น “

ดร.วิชัย ตันติกุลานันท์ ประธานอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านกฎหมายการศึกษา กล่าวว่า “การปฏิรูปการศึกษาต้องเป็นการพัฒนามนุษย์ให้มีคุณภาพดีขึ้น โดยแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือส่วนแรก การศึกษาเพื่อประกอบอาชีพ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสันติสุข ส่วนที่สอง การศึกษาเพื่อการรู้จักการดำรงชีวิตหรือการวางแผนชีวิตเพื่อให้อยู่ในสังคมได้ เช่น เมื่อแต่งงานแล้วจะต้องมีบุตรกี่คนและอยู่ในสถานะอย่างไร กฎหมายการศึกษาในปัจจุบันมีจำนวน มาก แต่อย่างไรก็ตามผู้อยู่ในวงการศึกษาควรต้องรู้กฎหมายการศึกษาอย่างแท้จริงเพื่อใช้ในงานของตนเอง และต้องปฏิบัติงานอย่างสุจริต รอบคอบ และต้องมีจิตใจเข้มแข็งไม่เชื่อคนง่าย นอกจากนี้การปฏิรูปการศึกษาควรมีระบบการตรวจสอบบัญชีการเงินจากภายนอก เหมือนกับผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอกของบริษัทมหาชนเพื่อช่วยในการปฏิบัติด้านการเงินของสถานศึกษา

ในการประชุมดังกล่าวผู้ทรงคุณวุฒิได้เสนอแนวทางการปฏิรูปกฎหมายเพื่อการปฏิรูปการศึกษาหลายท่าน อาทิ ดร.วีระ เมืองช้าง ผอ.ศึกษาธิการภาค ดร.สำราญ มีแจ้ง คณบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร และได้มีการระดมความคิดในการปรับแก้กฎหมายการศึกษาเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาเช่นประเด็น แนวทางการทำให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคลสมบูรณ์แบบ มีข้อเสนอให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลหลายรูปแบบเนื่องจากโรงเรียนมีความพร้อมไม่เหมือนกัน และขนาดโรงเรียนก็แตกต่างกัน การออกแบบกฎหมายจะต้องให้สอดคล้องกับสภาพโรงเรียนอย่างแท้จริง และเสนอให้หน่วยงานบังคับบัญชามีบทบาทกำกับ ดูแล ช่วยเหลือและสนับสนุนในเรื่องกรอบอัตรากำลังและงบประมาณให้เพียงพอเท่านั้น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอการปรับบทบาทของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาเพื่อรองรับการปฏิรูปการศึกษาโดยมีเป้าหมายผู้เรียนมีคุณภาพเป็นสำคัญ รวมทั้งข้อเสนอการแก้ไขกฎหมายการศึกษา และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เป็นต้น

สำหรับข้อเสนอจากการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะได้รวบรวมจัดทำเป็นข้อเสนอการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายการศึกษาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาในอนาคต ซึ่งการจัดประชุมดังกล่าวจะดำเนินการให้ครบทุกภูมิภาค โดยครั้งต่อไปจะจัดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดอุบลราชธานี) เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม และได้ข้อเสนอที่มีความสมบูรณ์ และจะได้นำเสนอผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป

ข่าวสำนักงานเลขาธิการศึกษา

ที่มา: http://www.thaigov.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ