ขีดเส้นต่างด้าวตรวจสัญชาติ 31 มีนาฯ ย้ำหลักการ ‘ประโยชน์ชาติ – คุ้มครองสิทธิแรงงาน’

ข่าวทั่วไป Tuesday February 24, 2015 16:45 —สำนักโฆษก

ก.แรงงาน หารือร่วมภาคส่วนเกี่ยวข้องกำหนดกรอบดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวก่อนเสนอ กนร. และ ครม.พิจารณาต้นเดือนมีนาคมนี้ เผยที่ประชุม อ.กนร. เห็นชอบแนวทางหลัง 31 มี.ค. 58 แบ่งต่างด้าวเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรกตรวจสัญชาติแล้วอนุญาตทำงานได้ถึง 31มี.ค.59 และขอทำงานต่อได้อีก 2 ปี กลุ่มที่สองยื่นรายชื่อแล้ว ต้องมาตรวจสัญชาติให้ทันจึงได้สิทธิตามกลุ่มแรก กลุ่มที่สามหากไม่มายื่นรายชื่อจะถูกจับกุม ผลักดันกลับตามคำสั่ง คสช. ส่วนผู้ติดตามให้ยื่นรายชื่อตามกำหนดจึงจะมีสิทธิตามกลุ่มที่สองหากไม่ยื่นรายชื่อจะถูกดำเนินการเช่นเดียวกัน

พลเอก กิตติ ปทุมมาศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือการกำหนดวิธีการ ขั้นตอนการดำเนินการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ณ ห้องประชุมเทียน อัชกุล ชั้น 10 กรมการจัดหางาน โดยกล่าวว่า ตามข้อดำริของ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ว่าเนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันแรงงานต่างด้าวมีความจำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจจึงได้ให้แนวนโยบายไว้ 4 ประการคือ 1)มีแรงงานจำนวนที่พอเพียงสำหรับสนับสนุนการดำเนินการภาคธุรกิจ 2)จำนวนแรงงานพอเหมาะอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายซึ่งฝ่ายความมั่นคงสามารถกำหนดมาตรการควบคุมกำกับดูแลได้ 3)จำนวนที่พอดีไม่สร้างปัญหา ไม่กระทบต่อสังคมวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและการดำเนินชีวิตของคนไทยมากจนเกินไป 4)แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรจะต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิตามมาตรฐานสากล และต้องไม่เอื้อประโยชน์ให้เกิดการใช้แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์โดยเด็ดขาด

สำหรับแนวทางการดำเนินการภายหลังวันที่ 31 มีนาคม 2558 นั้นแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1)กลุ่มที่ผ่านการตรวจสัญชาติแล้วภายใน 31 มีนาคม 2558 จะได้รับการตรวจลงตราและได้รับอนุญาตทำงานจนถึง 31 มีนาคม 2559 และให้สามารถขออนุญาตทำงานต่อไปได้อีก 2 ปี 2)กลุ่มที่ยื่นแบบบัญชีรายชื่อเพื่อขอรับการตรวจสัญชาติไว้ แต่ไม่สามารถเข้ารับการตรวจสัญชาติได้ จะผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรและอนุญาตให้ทำงานจนถึง 31 มีนาคม 2559 เมื่อผ่านการตรวจสัญชาติแล้วจะได้รับการอนุญาตทำงานต่อไปได้อีก 2 ปีเหมือนกลุ่มแรก 3)กลุ่มที่ยังไม่ยื่นแบบบัญชีรายชื่อภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558 จะดำเนินการตรวจสอบติดตาม จับกุม และผลักดันกลับตามคำสั่ง คสช.ที่ 100 และ 101 4)กลุ่มผู้ติดตามที่แรงงานต่างด้าวยื่นบัญชีรายชื่อภายใน 31 มีนาคม 2558 มีสิทธิอยู่ในราชอาณาจักรเช่นเดียวกับแรงงานต่างด้าวเหมือนกลุ่มที่สอง

ส่วนผู้ติดตามที่ไม่ยื่นบัญชีรายชื่อตามกำหนดจะถูกผลักดันกลับและดำเนินตามกฎหมายเหมือนกลุ่มที่สาม

อย่างไรก็ตามการประชุมหารือในครั้งนี้ที่ประชุมได้มีข้อสรุปถึงวิธีการขั้นตอนการดำเนินการจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา หลังวันที่ 31 มีนาคม 2558 นั้นโดยให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ดำเนินการตรวจสัญชาติไม่แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558 ให้มารายงานตัวเพื่อขอมีบัตรใหม่ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2558 ซึ่งแรงงานต่างด้าวจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2558 ทั้งนี้จะนำเสนอต่อที่ประชุม กนร.ในวันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนนำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาได้ภายในต้นเดือนมีนาคมต่อไป

ส่วนวิธีการ ขั้นตอนแนวทางการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงทะเล ที่ประชุมเห็นชอบในแนวทาง 7 ขั้นตอนตามที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คือ การลงทะเบียนนายจ้างประมงและการรวบรวมความต้องการแรงงานประมงของผู้ประกอบการ สมาคมประมงจะเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับศูนย์บริหารจัดการแรงงานประมงใน 22 จังหวัด รับสมัครแรงงานไทยเพื่อจูงใจให้แรงงานไทยทำประมง คัดเลือกบริษัทนายจ้างที่ถูกกฎหมายไทย ประสานกับประเทศต้นทางภายใต้กรอบ

เอ็มโอยูของภาครัฐทั้งสองประเทศ นำเข้าแรงงานต่างด้าวโดยสมาคมประมง ผู้ประกอบการประมงประสานงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน การดูแลแรงงานประมงก่อนลงเรือ โดยสมาคมประมงและสมาชิกจะจัดที่พักแรงงานประมงใน 22 จังหวัดติดทะเล การตรวจติดตามเรือประมงโดยกรมประมง และมีบทลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐ เอกชนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบประเด็นการปรับปรุงบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน (MOU) กับประเทศต้นทาง เรื่องการเว้นระยะเวลาการจ้างงานของแรงงานต่างด้าวที่ครบกำหนด 4 ปี จากเดิมซึ่งต้องเดินทางกลับประเทศและเว้นระยะเวลาการจ้าง 3 ปี โดยข้อเสนอใหม่ให้เว้นระยะเวลา 30 วันจึงจะกลับเข้ามาทำงานใหม่ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาการเตรียมการจัดทำเอกสารนำเข้าใหม่การกลับไปพักผ่อนอยู่กับครอบครัวหลังจากเข้ามาทำงานในประเทศและเพื่อความต่อเนื่องของการทำงาน

กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

'กระทรวงแรงงาน บริการด้วยใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ'

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


แท็ก ครม.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ